วัดบรมพุทธาราม อยุธยา

วัดบรมพุทธาราม วัดโบราณในเขตเกาะเมืองอยุธยา ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา เป็นวัดเก่าโบราณ บูรณะใหม่ สวยงาม และบรรยากาศสงบไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวมากนัก เป็นวัดที่มีพระอุโบสถของวัดตั้งอยู่บนฐานแอ่นโค้งเหมือนเรือสำเภาตามแบบศิลปะอยุธยาตอนปลายคล้ายวัดราชบูรณะ ภายในประดิษฐานพระประธาน มีหน้าต่างซุ้มประตูที่มีลายปูนปั้นที่งดงามมาก สำหรับใครที่ชื่นชอบวัดเก่าโบราณ มีพระพุทธรูปสมัยอยุธยา แวะมาเที่ยววัดนี้ไม่ผิดหวังแน่นอน 

 

 

สำหรับการมาเที่ยววัดบรมพุทธาราม สามารถขับรถเข้าไปจอดภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา จากนั้นเดินไปยังวัด จะผ่านกับต้นไทรยักษ์ใหญ่และสะพานข้ามลำคลอง บรรยากาศดูขลังมากได้ฟีลเดินข้ามเวลาไปในอดีต

 

 

ภายในวัดมีพระอุโบสถเก่าแก่เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ฐานแอ่นโค้งเป็นรูปเรือสำเภา ซุ้มประตูหน้าต่างตกตแงด้วยลวดลายปูนปั้นที่งดงาม ภายในประดิษฐานพระประธานเป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูนปางมารวิชัย

 

 

เป็นวัดที่มีความสวยงามของช่องหน้าต่างและประตูรอบพระอุโบสถมองออกมาตรงช่องจะตรงกับโบสถ์ที่อยู่ด้านนอกพอดี และหากมองมาจากข้างนอกก็จะเห็นพระประธานที่ประดิษฐานที่อูยู่ข้างใน

 

 

เจดีย์ทรงปรางที่อยู่ภายในวัด มีความเก่าแก่และงดงามไม่แพ้กัน

 

 

ประวัติของวัดบรมพุทธาราม

สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายเมื่อราว พ.ศ. 2232 สร้างขึ้นบริเวณนิวาสสถานเดิมของ สมเด็จพระเพทราชา ปฐมกษัตริย์ ราชวงศ์บ้านพลูหลวง เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งเป็นเจ้ากรมพระคชบาล (เจ้ากรมช้าง) โดยบริเวณหลังคาพระอุโบสถเป็นหลังคากระเบื้องเคลือบทำให้ผู้คนในสมัยนั้นเรียกวัดแห่งนี้ว่า วัดกระเบื้องเคลือบ ส่วนภายในพระอุโบสถเคยมีภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังที่วิจิตรงดงามแต่ได้เลือนหายไปตามกาลเวลาอีกทั้งถูกพม่าเผาในคราวเสียกรุง ในปัจจุบันได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ ต่อมาในรัชสมัย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้ทำการปฏิสังขรณ์พระอารามครั้งใหญ่โดยโปรดให้ทำบานประตูประดับมุขฝีมือวิจิตร 3 คู่ซึ่งปัจจุบันคู่หนึ่งอยู่ที่ หอพระมณเฑียธรรมในพระบรมมหาราชวัง อีกคู่หนึ่งอยู่ที่ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ และอีกคู่ได้ผู้มีนำไปทำตู้หนังสือปัจจุบันอยู่ใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร

 



ผู้เขียน

นักเดินทางที่ชอบถ่ายภาพ อยากส่งต่อเรื่องราวของการท่องเที่ยว จากประสบการณ์ที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน