ประวัติความเป็นมาของชามตราไก่
ชามตราไก่ ถือเป็นต้นตำรับของถ้วยชามสมัยนี้ก็ว่าได้ แหล่งผลิตสำคัญอยู่ที่ จ.ลำปาง เนื่องจากมี "ดินขาว" หรือ "เกาลิน" คือดินที่มี สีขาวหรือสีซีจาง ทั้งในสภาพที่ยังไม่ได้เผาและเผาแล้ว คำว่า เกาลิน มาจากภาษาจีนหมายถึงภูเขาสูงที่เป็นแหล่งเกิดดินขาวใน ประเทศจีน ดินขาวลำปางมีแหล่งสำคัญอยู่ที่ อ.แจ้ห่ม เป็นดินที่เกิดจากการสลายตัวของหินฟันม้า ซึ่งสามารถนำมาทำเนื้อเซรามิค ได้ทันทีโดยไม่ต้องเติมวัตถุดิบอื่นลงไปอีก ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ออก มาว่าดินขาวลำปางอยู่ในตระกูลเดียวกับหินโทเซกิ ของญี่ปุ่น ในกลุ่มอุตสาหกรรมเซารามิคเรียกกันว่า ไชน่าสโตน เมื่อเผาที่อุณหภูมิสูงภถึง 1,300 องศาเซลเซียส จะได้เนื้อผลิตภัณฑ์พอร์ซเลน สีขาว แกร่ง ทนไฟสูง เหมาะแก่การทำถ้วยชามต่างๆ คนค้นพบดินขาว ที่นำมาทำถ้วยชาม ก็คือ อาปาอี้ (ซิมหยู) แซ่ฉิน ซึ่งอพยพหนี ความยากจนจากจีนมา ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยไปอยู่กับพี่ชายที่เวียดนาม ก่อนจะอพยพมาอยู่ที่ธนบุรี ในปี 2490 อยู่ได้ 3 ปี ก็ย้ายตามเพื่อนขึ้นมาทำสวนผักอยู่เชียงใหม่ ด้วยความที่ที่บ้านเกิดในมณฑลกวางตุ้งก็ทำเซรามิค และทำไร่อยู่แล้ว พอไปเห็นหินลับ มีดที่ ชาวบ้าน นำมาขายก็ดูออกว่าเป็นแร่ดินขาว สอบถามคนที่นำมาขายถึงได้รู้ว่ามาจาก อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง อาปาอี้ จึงปั่นจักรยานไป ตามหาแหล่งแร่ ดินขาว พบที่บ้านปางค่า อ.แจ้ห่ม จากนั้นได้จ้างเกวียนบรรทุกแร่ดินขาวออกมา แล้วนำขึ้นรถไฟกลับมาบ้านทดลองปั้นถ้วยชาม ปรากฏว่าดินที่ได้มาเป็นเนื้อดินขาว คุณภาพดี เผาที่อุณหภูมิสูงไม่มากเหมาะสำหรับการปั้นถ้วยชาม ต่อมาก็ได้ชักชวน เพื่อนชาวจีนก่อตั้งโรงงานเครื่องปั้นดินเผาแห่งแรกขึ้นที่จังหวัดลำปาง คือ โรงงานร่วมสามัคคี เมื่อปี 2500
ช่วงที่ผลิตชามไก่ช่วงแรกๆ ซึ่งไม่ได้มีเครื่องจักรอะไร ทุกอย่างต้องใช้แรงคนหมด รวมถึงใช้เตาเผามังกร เป็นเตาเผาแบบยาว ซึ่งเผาชามไก่ได้ถึง 5,000-8,000 ใบต่อเตา และเผาถ้วยขนมและถ้วยตะไลได้ถึง 2 หมื่นใบต่อเตา แม้โรงงานร่วมสามัคคีจะเลิก กิจการไปแต่งานเครื่องปั้นดินเผาของอาปาอี้ สืบทอด สู่ทายาทรุ่นที่ 2 ภายใต้ชื่อโรงงานธนบดีสกุล ยุคนั้นชามไก่ขายดี มากๆ ส่วนใหญ่ ขนาด 5-6 นิ้ว จะใช้กันตามบ้านหรือขึ้นโต๊ะข้าวต้มผู้ดี ส่วนชาม ขนาดใหญ่ขึ้น คือ 7-8 นิ้ว มักจะเป็นชามที่พวกใช้แรงงานนิยมใช้ เพราะกินจุ แต่มาถึงสมัยนี้ รูปแบบของถ้วยชาม ตลอดจนลวดลายมีการ พัฒนา ไปมาก มีมากมายหลายขนาด รวมถึงการใช้ เครื่องจักรเข้ามาช่วยผลิตถ้วยชาม นอกจากผลิตเพื่อเป็นภาชนะในครัวเรือนแล้ว ยังใช้เป็นเครื่องประดับ ตกแต่ง ไปจนถึงของสะสม ได้อีกด้วย