ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองตราด 

ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองตราด ตั้งอยู่บนถนนหลักเมือง ใกล้วัดโยธานิมิตร ศาลนี้มีลักษณะแปลกจากศาลหลักเมืองอื่น ๆ คือ ตัวอาคารก่อสร้างในลักษณะเป็นเก๋งจีน ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองตราดเป็นสิ่งสำคัญคู่บ้านเมืองของชาวตราด เป็นศูนย์รวมจิตใจของทั้งคนไทยและคนจีน ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดมาแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า การตั้งเสาหลักเมือง อยู่ในรุ่นราวคราวเดียวกับการสร้าง วัดโยธานิมิต เมื่อครั้งมารวบรวมรี้พลกอบกู้เอกราชที่ตราด สมเด็จพระเจ้าตากสินโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นตามความเชื่อแบบจีนเพื่อ ให้ปกป้องคุ้มครองเมืองตราดให้รอดพ้นจากอันตราย ชาวเมืองอยู่เย็นเป็นสุข ศาลหลักเมืองเป็นดั่งศูนย์กลางเชื่อมความสัมพันธ์ไทย-จีน ภายในศาลหลักเมือง เสาต้นสูงคือเสาหลักเมือง เสาต้นต่ำคือเสาศิวลึงค์ มีเรื่องเล่าว่าศิวลึงค์เดิมอยู่ที่ ต.ห้วยแร้ง เจ้าเมืองสมัยนั้นเดินทาง ไปพบมีผู้คนศรัทธากราบไหว้ เชื่อว่าสามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้จึงอัญเชิญมาไว้คู่กันเป็นของสำคัญคู่บ้านคู่เมืองมาจนทุกวันนี้  ส่วนศาลเจ้าพ่อนั้น เดิมเป็นอาคารไม้มุงสังกะสีอยู่ด้านหลังศาลหลักเมือง ภายในมีภาพจำลองเจ้าพ่อหลักเมืองเขียนด้วยภาษาจีนกำกับ สร้างโดยชาวจีนใน จ.ตราด ต่อมาได้มีการสร้างอาคารหลังใหม่ขึ้นแทนอาคารไม้ที่ชำรุดทรุดโทรมและได้อัญเชิญรูปหล่อเจ้าพ่อเข้าประทับ

 

 

ความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าพ่อหลักเมืองตราด มีตำนานเล่าขานว่า เมื่อครั้งฝรั่งเศสเข้ายึดเมืองตราดนั้น ทหารฝรั่งเศสสังเกตเห็นว่าประชาชนชาวเมืองตราดต่างพากันเคารพกราบไหว้สักการะศาลเจ้าพ่อหลักเมืองแห่งนี้กันมาก จึงต้องการทำลายขวัญและกำลังใจของประชาชน โดยสั่งให้ถอนเสาหลักเมืองนี้ไปทิ้งโดยให้คนไปขุด แต่ถอนเสาหลักเมืองไม่ขึ้น ครั้นนำช้างมาดึงเสาออก ปรากฏว่าช้างเหล่ากลับตกหล่มตายกันหมด ส่วนคนควบคุมการดึงเสาหลักเมืองคอหักตาย ด้วยปาฏิหาริย์ของเจ้าพ่อหลักเมืองทำให้ไม่สามารถถอนเสาหลักเมืองขึ้นมาได้ จึงมีการสั่งให้เผาศาลทิ้ง ปรากฏมีฟ้าผ่าและฝนตกลงมาอย่างหนัก จะด้วยความเกรงกลัวหรือเหตุใดไม่ทราบ นายทหารฝรั่งเศสที่ควบคุมกำลังมาจึงได้สร้างเสาหลักเมืองเพิ่มขึ้นอีก 1 ต้น จึงเป็นที่มาที่ศาล แห่งนี้มีเสาหลักเมือง 2 ต้น ตั้งแต่นั้นต่อมาพวกฝรั่งเศสก็ไม่กล้ายุ่งกับศาลเจ้าแห่งนี้อีก นอกจากนี้หากผู้ใดลบหลู่ก็มีอันเป็นไปทุกราย  ศาลหลักเมืองเป็นดั่งศูนย์กลางเชื่อมความสัมพันธ์ไทย-จีน ในวันขึ้น 6 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี มีงานฉลองที่เรียกว่า “วันงานพลีเมือง” หรือที่ชาวจีนเรียกว่า “วันเซี่ยกงแซยิด” หมายถึง วันเกิดเจ้าพ่อหลักเมืองมีพิธีทำบุญตักบาตรแบบไทย และมีงานประจำปีศาล ปุงเถ้าม้าแบบจีน ช่วงก่อน และหลังตรุษจีน1 เดือน

 

ผู้เขียน

นักเดินทางที่ชอบถ่ายภาพ อยากส่งต่อเรื่องราวของการท่องเที่ยว จากประสบการณ์ที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน