บ้านท่าสว่าง จ.สุรินทร์

บ้านท่าสว่าง  ตั้งอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงหัตถกรรมผ้าไหมแห่งเดียวของประเทศ เป็นหมู่บ้านที่มีฝีมือในการทอผ้าไหมโบราณที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดสุรินทร์ ด้วยเทคนิคการทอผ้ายกทองแบบโบราณผสานกับลวดลายที่วิจิตรงดงาม โดยการทอผ้าแต่ละผืนต้องใช้คนทอเป็นจำนวนมากและใช้เวลาในการทอนานหลายเดือน มีลวดลายที่ละเอียดสวยงามเป็นเอกลักษณ์ เนื้อละเอียดนุ่มแน่นชนิดจับต้องได้  จนได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ทอผ้าไหมยกทองโบราณเพื่อมอบให้กับผู้นำเอเปค เมื่อปี พ.ศ.2546 จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้านหัตกรรมที่สำคัญของจังหวัดสุรินทร์

ผ้าไหมบ้านท่าสว่าง มีจุดเด่นพิเศษกว่าที่อื่น คือ “ไหมน้อย” ที่ละเอียดนุ่มนวล สาวและทอได้ยากยิ่ง จนเริ่มจะเลือนหายไป แทบไม่มีใครทราบว่าช่างที่นี่ทอไหมน้อยได้จนกระทั่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชปรารภว่า “สมัยก่อนผ้าไหมไทยมีความนุ่ม เนียน แน่น มาก ทำอย่างไรจึงจะได้ผ้าชนิดนั้นคืนกลับมา” เหล่าข้าราชบริพารก็ออกเสาะหา จนได้พบผ้าทอไหมน้อยที่ท่าสว่าง เมื่อทอขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเป็นที่พอพระทัย จึงพระราชทานเงินส่วนพระองค์ สร้างโรงทอผ้าตามรูปแบบราชสำนักโบราณขึ้นที่บ้านท่าสว่างแห่งนี้ เมื่อเข้ามาภายในหมู่บ้าน จะพบกับร้านขายผ้าไหม เรียงรายกันตามเส้นทางถนนหลายร้าน ทั้งในรูปแบบของผ้าถุง เสื้อ กระเป๋า กางเกง สนนราคาเริ่มที่หลักพันจนถึงหลักหมื่น

จากนั้นเข้าไปเยี่ยมชม  โรงทอผ้าไหมจันทร์โสมา โรงทอผ้าไหมตามรูปแบบราชสำนักโบราณในบรรยากาศร่มรื่นด้วยต้นไม้น้อยใหญ่  ชื่อ“จันทร์โสมา” คือชื่อของแบรนด์ที่ก่อตั้งโดยอาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย ผู้ซึ่งถือกำเนิดในตระกูลช่างทอผ้าที่สืบทอดวิชาการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม สาวไหม ย้อมสีธรรมชาติ และทอเป็นผืนผ้ามาหลายชั่วอายุคน

การทอไหมน้อยมีขั้นตอนที่ยากกว่าการทอผ้าไหมแบบอื่น เริ่มตั้งแต่สาวไหมเส้นละเอียดมาฟอก ต้มแล้วย้อมสีธรรมชาติด้วยแม่สีหลักสามสี คือ สีแดงจากครั่ง สีเหลืองจากแก่นแกแล และสีครามจากเมล็ดคราม ซึ่งสีครามนี้ย้อมได้ยาก สมัยก่อนต้องไปย้อมที่บ้านหมอคราม และวิชาก็สูญไปหมด ต้องทดลองฟื้นฟูกันขึ้นมาใหม่  เมื่อได้เส้นไหมย้อมสีแล้ว ยังต้องทำไหมทอง ปั่นเส้นด้ายควบกับเส้นเงินแท้เพื่อทอเป็นผ้ายกทอง

ด้วยลวดลายที่ซับซ้อน จึงต้องใช้ตะกอหรือเส้นไหมจำนวนมาก ตั้งแต่ร้อยถึงเป็นพัน ผ้าไหมน้อยยกทองผืนงามที่สุดใช้ถึง 1,416 ตะกอ แขวนลงมาบนกี่ทอหลังใหญ่ที่ออกแบบพิเศษ ต้องขุดหลุมบริเวณที่ตั้งกี่ลึกลงไป 2-3 เมตร เพื่อรองรับความยาวของตะกอ มีช่างทอคนหนึ่งอยู่ในหลุม คอยสอดตะกอ ใช้ช่างทอถึง 4 คนต่อหนึ่งผืน ทอได้วันละ 4-5 เซนติเมตร ใช้เวลานานกว่าจะออกมาเป็นลวดลายอย่างราชสำนักประยุกต์ มาเป็นลายเทพนม ลายหิ่งห้อยชมสวน ลายก้านขดเต้นรำ ลายครุฑยุดนาค ผสานกับลายผ้าพื้นเมืองสุรินทร์

4 คน ช่วยกันดึงเส้นไหม กันอย่างขยันขันแข็ง เป็นการทอผ้าที่มองเห็นได้ถึงความเป็นทีมเวิร์คมากๆ

เห็นการทอผ้าไหมมาเยอะ แต่ถ้าเป็นความอเมซิ่งที่สุดต้องยกให้บ้านท่าสว่าง สุรินทร์ นี่แหละ ที่ใช้ช่างทอหลายคนมาก สมแล้วกับผลงานในระดับชาติ ปกติเป็นคนไม่ชอบผ้าไหมเลย ไม่เคยมีความคิดจะซื้อด้วยราคาที่แสนแพง แต่ที่บ้านสว่างเป็นแห่งแรกที่ยอมเสียเงินซื้อกางเกงมาหนึ่งตัว เพราะเนื้อผ้านุ่มใส่สบายมาก แถมดีไซน์ร่วมสมัยใช้ในชีวิตประจำวันก็มีให้เลือกหลายแบบ ถึงจะเป็นแบรนด์เนมไฮเอนด์ ก็ไม่ต้องกลัวว่าราคาจะสูงเกินเอื้อมจนต้องกลับบ้านมือเปล่า กางเกงตัวนี้อยู่ในราคาหลักพันต้นๆเท่านั้น ด้วยชื่อเสียงและความมหัศจรรย์ของผ้ายกทองจันทร์โสมา บ้านท่าสว่าง จึงมีแขกมาเยือนมากมาย

รายละเอียดเพิ่มเติม

บ้านท่าสว่าง อยู่ห่างจากตัวเมืองสุรินทร์ไปทางทิศเหนือ 10 กิโลเมตร ใช้ถนนสายเกาะลอย-เมืองลิง (ทางหลวงชนบท สร.4026)

กลุ่มทอผ้ายกทอง จันทร์โสมา บ้านท่าสว่าง โทร. 089-202-7009, 04-455-8489-90

บริการที่พักแบบโฮมสเตย์ คุณสุทิตย์ ยิ้วว่อง โทร. 087-871-4449, คุณสุพจน์ โสฬส โทร. 087-379-6090 และคุณปราณี ติดใจดี โทร. 087-509-9507

ผู้เขียน

นักเดินทางที่ชอบถ่ายภาพ อยากส่งต่อเรื่องราวของการท่องเที่ยว จากประสบการณ์ที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน

บทความที่เกี่ยวข้อง