หากคิดจะเที่ยวจังหวัดใดสักจังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน หลายคนอาจจะคิดถึงแต่เมืองท่องเที่ยวยอดฮิต อย่างเช่น เลย อุบล อุดร หนองคาย ชื่อของ ยโสธร อาจห่างไกลจากสารระบบท่องเที่ยวยิ่งนัก ทั้งที่จริงแล้วเมืองเล็กแสนสงบ ที่ยังคงมีวัฒนธรรมการใช้ชีวิตแบบดั้งเดิมแห่งอีสานใต้จังหวัดนี้ มีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจเป็นอย่างมาก อยากเที่ยววัดวาอารามที่สวยงามก็มีให้ชม อยากไปถ่ายภาพแบบชิคก็มีให้ถ่าย อยากไปชมอะไรที่เป็นที่สุดแบบมหัศจรรย์ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็นที่สุดในประเทศไทยมีให้ชมถึง 7 สิ่ง มากมายขนาดนี้แล้วจะไม่ให้ไปเยือนเมืองบั้งไฟได้อย่างไรกัน
7 สิ่งมหัศจรรย์จังหวัดยโสธร ที่สุดในประเทศไทย
1 ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง เสาหลักเมือง 3 หลัก ที่เดียวในประเทศไทย
ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองยโสธร ตั้งอยู่ย่านเมืองเก่าบ้านสิงห์ท่า ซึ่งเป็นย่านการค้าที่สำคัญในอดีตของเมืองยโสธร มีความโดดเด่นในเรื่องของสถาปัตยกรรม โดยผสมผสานศิลปะของ 3 วัฒนธรรม คือ จีน ไทย ลาว นอกจาก ความพิเศษของสถาปัตยกรรมแล้ว สิ่งที่พิเศษอีกอย่างหนึ่งคือ ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ยโสธร มีเสาหลักเมืองถึง 3 เสา ที่เดียวในประเทศไทย เสาต้นใหญ่ตรงกลางคือเสาหลักเมือง ส่วนเสาที่อยู่ซ้ายขวา คือ ที่สิงสถิตย์ของผี พระละงุมและผีพระละงำ ผู้ปกปักษ์รักษาหลักเมืองแห่งนี้ ด้านหน้าของศาลหลักเมือง มีปืนนางป้อง ซึ่งเป็นปืนที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 4 สำหรับไว้รักษาเมืองตั้งอยู่
ข้อมูลเพิ่มเติม คลิ๊ก ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง
ฃ
2 พิพิธภัณฑ์พญาคันคาก อาคารรูปทรงคางคกที่ใหญที่สุดในประเทศไทย
พิพิธภัณฑ์พญาคันคาก หรือ พิพิธภัณฑ์คางคก แลนด์มาร์คที่โดดเด่นแปลกตาของจังหวัดยโสธร ตั้งอยู่ริมอ่างเก็บน้ำลำทวน อำเภอเมือง บริเวณสวนสาธารณะพญาแถน เป็นพิพิธภัณฑ์ที่สอดแทรกตำนานเรื่องเล่าพื้นเมืองของชาวอีสาน เกี่ยวกับตำนาน พญาคางคกและประเพณีบุญบั้งไฟอันโด่งดัง ตัวอาคารถูกออกแบบให้เป็นรูปคางคกขนาดยักษ์โดยมีนิทรรศการภายในบอกเรื่องเกี่ยวกับที่มาของบั้งไฟ โดยจัดฉายเป็นภาพยนตร์ 4 มิติ และนิทรรศการเกี่ยวกับคางคกชนิดต่าง ๆ ที่พบได้ในเมืองไทยที่มีอยู่กว่า 20 ชนิด และมีการรวบรวมของดีทางด้านเกษตรกรรม ของเมืองยโสธรไว้ภายในพิพิธภัณฑ์ รวมถึงเกล็ดเล็กเกล็ดน้อยของจังหวัดยโสธร
ข้อมูลเพิ่มเติม คลิ๊ก พิพิธภัณฑ์พญาคันคาก
วัดมหาธาตุ
วัดมหาธาตุ เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองยโสธรมาตั้งแต่แรกสร้างเมือง ตั้งอยู่ภายในเขตเทศบาลเมือง มี โบราณสถานและโบราณวัตถุที่สำคัญในวัด คือ พระพุทธบุษยรัตน์ หรือพระแก้วหยดน้ำค้าง พระธาตุอานนท์ และหอไตรโบราณกลางน้ำ วัดมหาธาตุมี 2 สิ่งหนึ่งเดียวในประเทศไทยดังนี้
3 พระพุทธรูปประจำเมืองที่มีขนาดเล็กที่สุด
พระพุทธบุษยรัตน์ หรือพระแก้วหยดน้ำค้าง เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ศิลปะสมัยเชียงแสน เป็นพระบูชาคู่บ้านคู่เมืองของยโสธร ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้า ฯ พระราชทานให้พระสุนทรราชวงศาเจ้าเมืองยโสธรคนแรก
4 พระอัฐธาตุพระอานนท์ หนึ่งเดียวในประเทศไทย วัดมหาธาตุ
พระธาตุอานนท์ ตั้งอยู่ใน วัดมหาธาตุ พระธาตุเก่าแก่ที่สำคัญองค์หนึ่งในภาคอีสาน การก่อสร้างได้รับอิทธิพลศิลปะลาวที่นิยมสร้างขึ้นเมื่อปลายสมัยกรุง ศรีอยุธยาถึง ต้นรัตนโกสินทร์ เจดีย์มีลักษณะเป็นทรงสี่เหลี่ยม ส่วนยอดคล้ายพระธาตุพนม ภายในบรรจุอัฐิของพระอานนท์ ซึ่งมีที่เดียวในประเทศไทย และเป็น 1 ใน 2 ที่ในโลก คือ อินเดีย กับประเทศไทย พระอานนท์ คือ พระอนุชาของพระพุทธเจ้า ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้มีสติปัญญาความจำเป็นเลิศ คนส่วนใหญ่จึงนิยมมากราบไหว้พระธาตุอานนท์เพื่อขอพรในด้านความมีสติปัญญาและหายจากอาการเจ็บป่วยต่างๆ
ข้อมูลเพิ่มเติม คลิ๊ก วัดมหาธาตุ
5 พระพุทธรูปหยกขาว ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย วัดพระพุทธบาท
วัดพระพุทธบาท ยโสธร ตั้งอยู่ที่ บ้านหนอกยาง ต.หัวเมือง อ.มหาชัย จ.ยโสธร โบราณสถานสำคัญที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน ตั้งอยู่บนเนินทรายริมฝั่งแม่น้ำชีทัศนียภาพสวยงามสงบร่มเย็น วัดพระพุทธบาทยโสธรแห่งนี้ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท นับเป็น โบราณสถานอันล้ำค่าของจังหวัด ภายในวัด โดดเด่นด้วยพระอุโบสถสีขาวหลังคาสีน้ำเงิน มีความงดงามตามแบบศิลปะประยุกต์ ทั้งการออกแบบรั้วและระเบียงที่มีลวดลายปูนปั้นที่ดูแปลกตา ภายในประดิษฐานพระประธานที่เจียระไน จากหยกขาวขนาดหน้าตัก กว้าง 2.31เมตร สูง 3.7 เมตร ซึ่งถือเป็นพระพุทธรูปหยกขาวใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
ข้อมูลเพิ่มเติม คลิ๊ก วัดพระพุทธบาท
6 โบสถ์คริสบ้านซ่งแย้ โบสถ์ไม้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
โบสถ์คริสต์บ้านซ่งแย้ ตั้งอยู่ที่ อำเภอไทยเจริญ จังหวัดยโสธร เป็นโบสถ์ไม้ ของคริสต์ศาสนาที่มี ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและมีอายุถึง 100 ปี โบสถ์คริสต์บ้านซ่งแย้ มีชื่อเต็มๆ ว่า “วัดอัครเทวดามีคาแอล” ที่มีโบสถ์ไม้หลัง ใหญ่ตั้งอยู่อย่างโดดเด่นเป็นสง่า ซึ่งทั้งหมจากพลังแห่งศรัทธาอันแรงกล้าของคริสต์ชน ที่ได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างโบสถ์ไม้ขนาดใหญ่ที่สุดนั้น ในปัจจุบันโบสถ์แห่งนี้สามารถบรรจุคนได้มากกว่า 500 คน โบสถ์แห่งนี้เป็นโบสถ์คริสต์นิกายโรมันคาทอลิคที่สงบ และงดงาม
ข้อมูลเพิ่มเติม คลิ๊ก โบสถ์คริสบ้านซ่งแย้
7 ประเพณีแห่มาลัยข้าวตอก หนึ่งเดียวในโลก
ประเพณีแห่มาลัยข้าวตอก ของชาวอำเภอมหาชนะชัย เป็นประเพณีที่สืบสานกันมาอย่างยาวนาน เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาในวันมาฆะบุชาทุกปี โดยพวงมาลัยที่สวยงามทำมาจากข้าวเปลือกที่นำมามาคั่วไฟอ่อนๆจนเนื้อด้านในแตกและบานออกกลายเป็นตอกข้าวเม็ดเล็กๆ จากนั้นจึงนำมาร้อยเป็นมาลัยขนาดใหญ่ ซึ่งชาวบ้านแต่ละชุมชนจะนำมาร้อยเป็นมาลัยข้าวตอกให้สวยงาม หากใครพลาดการชมความงามของมาลัยข้าวตอกในวันมาฆบูชา สามารถมาชมทั้งปีได้ที่ พิพิธภัณฑ์มาลัยข้าวตอก วัดหอกอง ส่วนมาลัยข้าวตอกที่ชนะเลิศในแต่ละปี จะถูกนำไปจัดแสดงไว้ที่ วัดพระพุทธบาท
สถานที่ท่องเที่ยวอื่นในยโสธรที่ต้องไม่พลาด
ย่านเก่าบ้านสิงห์ท่า
บ้านสิงห์ท่า ตั้งอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดยโสธร เป็นย่านการค้าตั้งแต่สมัยโบราณและได้เจริญขึ้นเมื่อสมัยฝรั่งเศสเข้ามามี อิทธิพลมาก ในภูมิภาคนี้ในช่วงนั้นเองผู้ที่มีฐานะดี มีการนำเข้าช่างฝีมือจากเวียดนามจำนวนมากเข้ามาสร้างบ้านเรือน ทำให้บ้านเรือนมีรูปแบบ ศิลปกรรมแบบจีนผสมยุโรปที่งดงาม ปัจจุบันยังคงเหลือให้เห็นบนสองข้างทาง ถนนศรีสุนทร นครทุม อุทัยรามฤทธิ์ และวิทยะธำรง บางแห่งยังคงความสมบูรณ์อยู่มาก บอกถึงบรรยากาศของความเป็นอดีต ขณะที่อีกหลายแห่งถูกปล่อยให้รกร้าง ขาดคนอาศัย สร้างเสน่ห์ให้บ้านสิงห์ท่าสวยงามมาจนทุกวันนี้
ข้อมูลเพิ่มเติม คลิ๊ก ย่านเก่าบ้านสิงห์ท่า
พระธาตุก่องข้าวน้อย
ธาตุก่องข้าวน้อย หรือที่นิยมเรียกกันว่าพระธาตุก่องข้าวน้อย เป็นเจดีย์เก่าแก่ศิลปะแบบขอมตั้งอยู่วัดทุ่งสะเดาบ้านสะเดา ตำบลตาดทองอำเภอเมืองจังหวัดยโสธร ธาตุก่องข้าวน้อยเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน รูปทรงแปลกไปจากเจดีย์โดยทั่วไป ประวัติของการสร้างธาตุแห่งนี้แตกต่างไปจากธาตุอื่น ๆ ที่มักเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา โดยเป็นนิทานพื้นบ้านโบราณที่เกี่ยวข้องกับชายคนหนึ่งที่หิวอาหารจนหน้ามืดทำร้ายมารดาเสียชีวิต จนสุดท้ายขอชวชและสร้างองค์ธาตุแห่งนี้เพื่อไถ่บาป จนเป็นที่มาของ คำว่า กล่องข้าวน้อยฆ่าแม่
ข้อมูลเพิ่มเติม คลิ๊ก พระธาตุก่องข้าวน้อย
ตัวอย่างโปรแกรมท่องเที่ยวยโสธร 2 วัน 1 คืน
Day 1
14.00 น. แวะพระธาตุก่องข้าวน้อย
15.00 น. ถึงตัวเมืองยโสธรเช็คอินเข้าที่พัก
16.00 น. แวะเที่ยวพิพิธภัณฑ์พญาคันคาก
Day 2
07.00 น. ตื่นแต่เช้าไปทานอาหารเช้าที่บ้านสิงห์ท่า ไหว้ศาลหลักเมืองแนะนำร้านอาหารเช้า ตรงข้ามศาลหลักเมือง
จากนั้นทานข้าวแล้ว เดินเล่นที่ย่านเก่าบ้านสิงห์ท่า
09.00 น. แวะวัดมหาธาตุ ชม 2 สิ่งมหัศจรรย์แห่งยโสธร
11.00 น. ชมโบสถ์คริสบ้านซงแย้
14.00 น. เที่ยววัดพระพุทธบาทชมสิ่งมหัศจรรย์ พระพุทธรูปหยกขาว เดินทางกลับ
การเดินทางไปยโสธร
ยโสธรอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 552 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางสู่จังหวัดยโสธรได้ทั้งทาง รถยนต์ส่วนตัวและรถประจำทาง
1.โดยรถยนต์
จากกรุงเทพฯ สามารถไปได้ 2 เส้นทางด้วยกัน คือ
– จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) จนถึงจังหวัดสระบุรี แยกขวาเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) ผ่านจังหวัดนครราชสีมา อำเภอพิมาย จนถึงอำเภอบ้านไผ่ แล้วแยกขวาเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 23 ผ่านอำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดร้อยเอ็ด อำเภอเสลภูมิ จนถึงจังหวัดยโสธร
– จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) จนถึงจังหวัดสระบุรี แยกขวาเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) จนถึงจังหวัดนครราชสีมา เลี้ยวขวาเข้าเส้นทางหลวงหมายเลข 207 ที่บ้านวัด ไปจนถึงอำเภอประทาย ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 202 ผ่านอำเภอพุทไธสง อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย อำเภอเกษตรวิสัย อำเภอสุวรรณภูมิ ไปจนถึงจังหวัดยโสธร
2. โดยรถประจำทาง
มีรถโดยสารธรรมดาและรถโดยสารปรับอากาศของบริษัท ขนส่ง จำกัด และของเอกชน สายกรุงเทพฯ-ยโสธร ออกจากสถานีขนส่งสายเหนือ (หมอชิต 2) ถนนกำแพงเพชร 2 ทุกวัน วันละหลายเที่ยว ใช้เวลาเดินทางประมาณ 8 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดได้ที่บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร.1490 www.transport.co.th
ปัจจุบันบริษัท ขนส่ง จำกัด ได้เปิดให้บริการจองตั๋วรถโดยสารออนไลน์แล้ว ติดต่อได้ที่ www.thaiticketmajor.com นอกจากนี้ยังสามารถซื้อตั๋วออนไลน์ได้ที่ไทยรูท ดอทคอม www.thairoute.com
การเดินทางภายใน ยโสธร
ในตัวจังหวัดยโสธรมีรถชนิดต่างๆ ให้บริการ นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการยานพาหนะต่างๆ ได้หลาย รูปแบบตามความเหมาะสม รถสองแถว มีวิ่งบริการจากสถานีขนส่งไปยังที่ต่างๆ ในตัวเมือง นักท่องเที่ยวอาจ เหมารถสองแถวไปเที่ยวได้ทั้งในเมืองและต่างอำเภอ คิดราคาวันละ 1,000-2,000 บาท ขึ้นอยู่กับระยะทาง และการต่อรองรถสามล้อเครื่องหรือสกายแล็ป และมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จอดอยู่ตามจุดต่างๆ ในจังหวัด เช่น หน้าตลาดเทศบาล หน้าสถานีขนส่ง ค่าบริการมีทั้งแบบตกลงกันตามแต่ระยะทางและแบบเหมาจ่าย
ระยะทางจากอำเภอเมืองยโสธรไปยังอำเภอต่างๆ คือ
อำเภอทรายมูล 18 กิโลเมตร
อำเภอคำเขื่อนแก้ว 23 กิโลเมตร
อำเภอป่าติ้ว 28 กิโลเมตร
อำเภอกุดชุม 37 กิโลเมตร
อำเภอมหาชนะชัย 41 กิโลเมตร
อำเภอไทยเจริญ 50 กิโลเมตร
อำเภอเลิงนกทา 69 กิโลเมตร
อำเภอค้อวัง 70 กิโลเมตร
Tags : ที่เที่ยวยโสธร, สถานที่ท่องเที่ยวยโสธร