• หน้าแรก
  • แหลมกระทิง จุดชมวิวพระอาทิตย์ตกสุดว้าว แห่งภูเก็ต

แหลมกระทิง จุดชมวิวพระอาทิตย์ตกสุดว้าว แห่งภูเก็ต

แหลมกระทิง อีกหนึ่งจุดชมวิวพระอาทิตย์ตกที่สวยงามแห่งหนึ่งของภูเก็ต มองเห็นท้องทะเลสีน้ำเงินเข้ม แหลมพรมหมเทพ  และเกาะน้อยใหญ่ อยู่ตรงหน้า ความพิเศษ คือ ความงดงามของทุ่งหญ้าสีทองพริ้วไหว และโขดหินน้อยใหญ่ระหว่างทางเดินให้ได้แทรกตัวในทุ่งหญ้าถ่ายรูปเคล้าแสงยามเย็นได้แบบคูลๆ  รวมทั้งก้อนหินไฮไลท์ยอดแหลมชี้ขึ้นฟ้า ที่ตั้งโดดเด่นยื่นไปทางทะเล ด้วยความสวยงามแปลกตา จุดชมวิวแห่งนี้จึงกลายเป็นจุดชมวิวยอดนิยมที่สุดของนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวภูเก็ต

 

 

สำหรับการเดินทางมา จุดชมวิวแหลมกระทิง สามารถเดินทางได้ 2 ทาง เส้นทางเดิม คือ จากบ้านกระทิง รีสอร์ท โดยจอดรถนอกโรงแรม หรือ จอดในบ้านกระทิงรีสอร์ท  คิดค่าผ่านทางคนละ 300 บาท สามารถนำคูปองไปทานอาหาร/เครื่องดื่มได้  หรือจอดรถอย่างเดียวไม่รับอาหารคนละ 200 บาท  โดยเดินเลียบกำแพงของรีสอร์ท ลัดเลาะชายหาดสลับโขดหิน ผ่านสันเขามาเรื่อยๆ ทางลาดชันเป็นบางช่วง ระยะทางประมาณ 800 เมตร  ใช้เวลาประมาณ 30 นาที -1 ชั่วโมง และเส้นทางใหม่ที่ยังไม่ค่อยมีใครทราบ คือ จากลานจอดรถผาหินดำ เส้นทางนี้นั่งรถโฟร์วิวไปยังจุดเดินเท้า จากนั้นเดินต่อจะเดินง่ายเร็วและสั้นกว่า ใช้เวลาประมาณ 20 นาที  โดยเดินผ่านป่าทางราบต่อด้วยลงภูเขาระยะทาง 300 เมตร แน่นอนเราเลือกเส้นทางที่สองเพราะเดินแป๊บเดียว ไปจอดรถไว้ที่ลานจอดรถผาหินดำ ปักหมุดใน google maps มาได้ค่ะ ทางเข้าจะอยู่ทางเดียวกับหาดนุ้ย จากตรงนี้เข้าไปยังลานจอดรถผาหินดำ  2 กม. เส้นทางเป็นดินแดง บางช่วงทางเป็นหลุมทางไม่ค่อยดีนัก แต่รถเก๋งไปได้ต้องไปแบบช้าๆหน่อย ทางจะดูเปลี่ยวนิดนึงแต่ปลอดภัย พอไปถึงลานจอดรถผาหินดำจะมีน้องคนขับโฟร์วิวยืนรออยู่เพื่อไปส่งยังจุดเดินเท้า  จากจุดเดินเท้าควรมีไกด์นำทางเพราะทางเข้าจะงงนิดนึง เราใช้บริการคุณลุงคนพื้นที่เป็นไกด์ ค่านำทางแล้วแต่สินน้ำใจ เราให้ค่านำทางคุณลุง 300 บาท  คุณลุงน่ารักมากดูแลอย่างดี  หลังจากเดินผ่านป่าร่มรื่นมานิดเดียว ก็มาถึงจุดลงเขาไปยังแหลมกระทิง คุณลุงกำลังพาเราเดินลงไป

***ติดต่อได้ที่ ลุงแลง โทร 063 771 4298  ค่าบริการคันละ  500 บาท (นั่งได้ไม่เกิน 6 คน มาคนเดียวคิดราคา 300 บาท )  รถจะไปส่งที่จุดเริ่มต้นเส้นทางเดินเท้า

 

 

สำหรับช่วงเวลาของการมาเที่ยวแหลมกระทิง แนะนำเริ่มเดินเวลา 16.30 น. ระหว่างทางเก็บวิวทุ่งหญ้าโขดหินสวยๆ ไปด้วย เพื่อรอพระอาทิตย์ตกประมาณหกโมงครึ่ง แสงยามบ่ายถึงเย็นสวยที่สุด ควรพกน้ำเปล่าติดตัวมาด้วย รองเท้าเพื่อความปลอดภัยของเท้า แนะนำผ้าใบและต้องเป็นผ้าใบที่เกาะพื้นไม่ใช่ผ้าใบแฟชั่น เพราะทางเดินมีหินเยอะและเป็นพื้นดิน บางช่วงทางชันต้องปีนเล็กน้อย จากจุดเริ่มเดินลงไปก็ว้าวกับวิวระหว่างทางที่เห็นตรงหน้า เดินลงจากทางนี้จะเห็นวิวมุมสูง เพราะเดินลงจากเขาลงไปยังแหลมกระทิงที่อยู่ข้างล่าง 

 

 

เดินไปหยุดถ่ายรูปตลอดทาง ตอนลงคือเดินไปเรื่อยๆไม่เหนื่อยมาก แค่ต้องออก step เบรคเท้าหน่อยเพื่อไม่ให้ไถลลงไป  วิวที่เห็นสุดปลายแหลม นั่นคือ แหลมกระทิง  ช่วงบ่ายแก่ๆ นักท่องเที่ยว เริ่มทยอยมาชมบรรยากาศของพระอาทิตย์กันพอสมควร เรามาวันธรรมดานักท่องเที่ยวไม่เยอะมากเท่ากับวันเสาร์ อาทิตย์ เดินลงมาไม่ถึง 20 นาที 

 

 

มาถึงแหลมกระทิง มองขึ้นไปตรงยอดเขา นั่นคือ ทางที่เราเดินลงมา ตอนขาลงมาเรื่อยๆ แต่ตอนเดินกลับต้องเดินขึ้นแอบเหนื่อยเบาๆ แต่ก็ไม่เท่าไหร่ค่ะ เดินไปพักไปก็ช่วยได้เยอะ

 

 

บรรยากาศตรงลานชมวิว มีทุ่งหญ้าและก้อนหินน้อยใหญ่ บางก้อนสามารถขึ้นไปนั่งถ่ายรูปเท่ๆได้ วิวข้างหน้า คือ ท้องทะเลสีคราม ที่มีเรือวิ่งผ่านไปมาตลอด  กลายเป็นอีกหนึ่งสีสันของจุดชมวิวแห่งนี้  ในช่วงฤดูหนาวถึงร้อนทุ่งหญ้าจะเป็นสีทอง แต่ถ้ามาในช่วงฤดูฝน ทุ่งหญ้าตรงนี้ก็จะเป็นสีเขียว ก็จะมีเสน่ห์ที่แตกต่างกันออกไป

 

 

ก้อนหินไฮไลท์ ที่ตั้งโดดเด่นมีลักษณะคล้ายเรือใบ ยอดแหลมชี้ขึ้นฟ้า ยื่นไปทางทะเล กลายเป็นสัญลักษณ์ของแหลมกระทิงที่ทุกคนต้องมาถ่ายภาพ

 

 

นั่งรอพระอาทิตย์ตก ชมวิวบนลานหิน พร้อมรับลมทะเลเย็นๆ ที่พัดผ่าน ได้ยินเสียงนักท่องเที่ยวถ่ายรูปหัวเราะ เป็นความรู้สึกที่มีความสุขมาก

 

 

ได้เวลาเดินกลับควรกลับก่อนไม่มีแสงนะคะ เพราะถ้ามืดจะมองไม่เห็นทาง  มองย้อนลงไปเห็นวิวของแหลมกระทิงและแสงสีทองของอาทิตย์ลับขอบฟ้า ท้องฟ้าเริ่มเปลี่ยนสีสวยงามมาก ขอให้คุณลุงมาเป็นแบบสักหน่อย คุณลุงยังแข็งแรงมาก พานักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย ต่างชาติ ขึ้นลงชมวิวที่แหลมกระทิงตลอด รวมทั้งจุดชมวิวผาหินดำ อีกหนึ่งจุดชมพระอาทิตย์ตกที่อยู่ไม่ไกลกัน ขากลับคุณลุงอาสาช่วยถือกระเป๋าและกล้องให้ด้วยเพราะเราเริ่มเหนื่อย จุดชมวิวแหลมกระทิง เป็นความสวยงามที่ต้องแลกกับความเหนื่อยในการเดินเพื่อไปให้ถึง แต่รับรองว่าคุ้มค่ากับวิวสวยอลังการที่เห็นตรงหน้าแน่นอนค่ะ

 

 

 



ผู้เขียน

นักเดินทางที่ชอบถ่ายภาพ อยากส่งต่อเรื่องราวของการท่องเที่ยว จากประสบการณ์ที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน