เข้าช่วงเดือนมกราคมของทุกปีทริปท่องเที่ยวสีชมพูของดอกนางพญาเสือโคร่ง ก็เริ่มจะคึกคักถึงแม้ว่าในปีนี้ดูท่าว่าเจ้าดอกนางพญาเสือโคร่งจะขี้อายไม่ปรากฎโฉมโดยพร้อมเพรียงกันเหมือนทุกปีที่ผ่านมา พญาเสือโคร่ง ขุนแม่ยะ ขุนช่างเคียน ขุนวาง ยามนี้มีแต่กิ่ง แต่ถึงอย่างไรก็ไม่โชคร้ายซะทีเดียวยังมีอีกหนึ่งสถานที่ที่บานอยู่ที่เดียวและหาชมได้ในเวลานี้ คือ ศูนย์อนุรักษ์กล้วยไม้พันธุ์รองเท้านารี ดอยอินทนนท์ ฉันปรับแผนการเดินทางทันทีหลังจากทราบข่าวว่าขุนช่างเคี่ยนดอกนางพญาเสือโคร่งยังไม่บาน พร้อมแวะอีกหนึ่งสถานที่ในฝันที่อยากไปมานาน โครงการหลวงบ้านวัดจันทร์ เพื่อไปชมใบเมเบิ้ลเปลี่ยนสีและไอหมอกลอยเหนือทะเลสาป การเดินทางสัมผัสลมหนาวจึงเกิดขึ้น ตามมาชมความงามของธรรมชาติไปพร้อมกันค่ะ
ทริปนี้นำกล้องอีกตัวมาใช้งาน กล้องฟูลเฟรม ( FX ) Nikon D600 ในระดับโปรรุ่นล่าสุดของ Nikon ที่เรียกว่ากระแสค่อนข้างแรงในเวลานี้เนื่องจากเป็นกล้องฟูลเฟรมในระดับราคาที่หลายคนพอจะเอื้อมถึง ชุดเลน์คิตของกล้องตัวนี้คือ เลนส์ nik 24-85 f3-5-4.5 แต่ฉันอยากลองประสิทธิภาพของเลนส์ nano Nik 24-70 f2.8 ( ที่ราคาสูงเอาเรื่องเช่นกัน) อยากรู้ว่าเมื่อมาจับคู่กับ Nikon D600 จะเป็นอย่างไรถ่ายสนุกแค่ไหน ติด CPL เพิ่มเติมเพื่อตัดแสงสะท้อนและอยากได้ท้องฟ้าเข้มเวลาถ่ายดอกนางพญาเสือโคร่ง ได้ลองจับถือตัวกล้องถือว่าเป็นกล้อง FX ที่บอดี้ไม่ใหญ่และหนักมากสำหรับฉันพกพาไปเที่ยวได้แบบสบาย
นอกจากถ่ายภาพนิ่งได้แล้วแล้วยังสามารถถ่ายวีดีโอได้ในระดับ Full HD โดยปกติฉันใช้กล้องอีกตัวอยู่ประจำ คือ Nikon D7000 ซึ่งเป็นกล้องแบบ DX หรือกล้องตัวคูณ ความแตกต่างของกล้อง FX กับ DX เท่าที่ทราบอธิบายง่ายๆ คือ กล้อง FX มีขนาดตัวรับภาพเต็มเท่าขนาดกล้องฟิลม์ ส่วนกล้อง DX ขนาดตัวรับภาพเล็กกว่ากล้องฟิลม์ ทำให้กล้อง FX ได้ความคมชัดของภาพที่มากกว่า การควบคุมชัดตื้นดีกว่า และการให้ไฟล์ที่เนียนกว่าเมื่อใช้ค่า ISO สูง รวมถึงขนาดไฟล์ที่ใหญ่ง่ายต่อการครอปภาพโดยไม่สูญเสียรายละเอียดมาก โดยปกติฉันใช้กล้อง Nikon D7000 ก็ค่อนข้างพอใจในการใช้งานและคุณภาพของไฟล์อยู่แล้ว แต่มาดูซิว่าถ้าใช้กล้อง Nikon d600 จะทำให้ฉันพอใจได้มากขนาดไหน
ศูนย์อนุรักษ์กล้วยไม้พันธุ์รองเท้านารี ตั้งอยู่ที่ดอยอินทนนท์ จากถนนเส้นหลักขึ้นอินทนนท์ ประมาณก.ม. 31 ตรงทางเข้าเกษตรที่สูงอินทนนท์ให้เลี้ยวเข้าไปในซอยเส้นทางเดียวกับขุนวาง ตรงไปเรื่อยๆ จนถึง ก.ม. 8 จะสังเกตมีป้ายบอกชัดเจนด้านหน้า มาในช่วงเดือนมกราคมเราก็จะได้เห็นต้นพญาเสือโคร่งพร้อมใจกันแบ่งบานให้เห็น ทั้งอยู่ตามริมถนนทางเข้าด้านหน้าศูนย์ ฯ ถึงแม้จะเคยถ่ายภาพนางพญาเสือโคร่งมาแล้วหลายครั้ง แต่ทุกครั้งที่เห็นเจ้าดอกสีชมพูก็ยังทำให้ตื่นเต้นกับการเก็บภาพได้ตลอด ยิ่งในปีนี้ยิ่งตื่นเต้นเพิ่มขึ้นเพราะหาชมได้ยากมากจริงๆ รอแล้วรอเล่าก็ยังไม่บานซักทีนึกว่าจะไม่ได้มีโอกาสเจอซะแล้ว
หลังจากเห็นความงามสีชมพูที่อยู่ตรงหน้า กล้องคู่หูและเลนส์คู่ใจในทริปนี้ถูกหยิบขึ้นมาใช้งานแบบไม่รอช้า ทดสอบสีปรับตั้งค่าจนเป็นที่ถูกใจ Mode vivid และ WB แบบ Auto ไฟล์ JPG สีจี๊ดถูกใจที่สุด จริงแล้วกล้องมีประสิทธิภาพปรับแต่งอะไรได้มากมาย แต่ฉันก็ไม่ได้มีเวลาปรับอะไรมากส่วนใหญ่จะปรับค่าตามการใช้งานที่ใช้อยู่ประจำ สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้ตามคำร่ำลือหลังจากที่นำภาพลงคอมพิวเตอร์ คือ เนื้อไฟล์ภาพเนียนกริปชัดทุกภาพ ฉันค่อนข้างพอใจมากเพราะบ่อยครั้งมักประสบปัญหาถ่ายภาพมองจอ LCD ชัดแต่พอมาลงคอมพิวเตอร์บางภาพไม่ชัดทำให้ต้องเสียภาพนั้นโดยปริยายและถ้ากลับไปถ่ายใหม่คงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เมื่อใช้กล้อง Nikon D600 ภาพทุกภาพใช้งานได้เกือบทั้งหมด โอกาสได้ภาพที่ดีมีมาก หมดปัญหาเรื่องนี้ไปได้เยอะ
ต้นนางพญาเสือโคร่งที่ศูนย์อนุรักษ์ ฯ อาจไม่ได้เป็นดงใหญ่เรียงรายเยอะเหมือนขุนวาง ขุนช่างเคี่ยน หรือขุนแม่ยะ แต่เราจะได้เห็นต้นนางพญาเสือโคร่งที่ขึ้นรายล้อมรอบทะเลสาปเห็นเงาสะท้อนลงในพื้นน้ำที่นิ่งสงบ เป็นมุมมองของสีชมพูในอีกมุมหนึ่งที่สามารถเห็นได้จากที่นี่เพียงทีเดียว
ช่วงนี้ที่นี่ไม่เงียบเหงา คึกคักไปด้วยนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลมาชมดอกนางพญาเสือโคร่ง ตั้งแต่เช้าถึงบ่ายรถวิ่งเข้าออกตลอด หากใครต้องการมาเที่ยวต้องรีบมาค่ะจากวันที่ฉันเดินทาง คือ 12 มค. 56 นับจากนี้ไปอีก 2 อาทิตย์ ดอกไม้จะเริ่มโรยแล้ว
มุมเดิม ๆ ความสวยงามของสีชมพูซึ่งตัดกับสีท้องฟ้า
บางต้นเริ่มมีใบขึ้นมาแซมบ้างแต่มองอย่างไรก็ยังสวยอยู่ดี
ทดสอบการควบคุมชัดลึกชัดตื้นของกล้องหยิบเลนส์ซูมขึ้นมาใช้ ลองถ่ายภาพทั้งกล้อง Nikon D600 และกล้อง DX ที่ติดมาด้วย จากเลนส์ตัวเดียวกัน ความโดดเด่นของ subject การละลายของฉากหลัง กล้อง Nikon D600 ทำได้ดีกว่าอย่างเห็นได้ชัด
โดยปกติเวลาออกทริปฉันชอบถ่ายภาพวิวมากกว่าไม่ถนัดถ่ายคนเท่าไหร่เพราะรู้สึกว่าถ่ายมาทีไรไม่วิ้งทุกที แต่ด้วยความสามารถในการควบคุมชัดตื้นของกล้องบวกกับประสิทธิภาพของเลนส์ ทำให้รู้สึกสนุกสนานกับการถ่ายภาพคนกับวิวมากขึ้น ไม่ต้องใช้เลนส์ฟิกซ์ถ่ายก็ได้ตัวแบบชัดเด่นออกมาจากฉากหลังได้เช่นกัน
เดินไปรอบ ๆ เก็บภาพนางพญาเสือโคร่งในอีกมุมหนึ่งของอ่างเก็บน้ำ สีชมพูของนางพญาเสือโคร่งตัดกับสีเขียวของทิวสนบวกกับท้องฟ้าสีฟ้าเป็นคู่สีที่ตัดกันได้อย่างลงตัว
ทดสอบไฟล์ขนาดใหญ่กล้อง Nikon D600 ความละเอียดที่ 24.3 ล้านพิกเซล ไฟล์ต้นฉบับ JPG ที่ใหญ่สุด คือ ขนาด 6016*4016 pixels ภาพนี้ลอง crop เฉพาะดอกไม้ 3 ดอกที่เป็นจุดเด่น ได้ไฟล์ที่ 2202 *1524 pixels ยังถือว่าขนาดไฟล์ที่ใหญ่พอในระดับที่สามารถนำไปใช้งานได้ แถมได้ภาพในมุม close up แบบที่ไม่ต้องอาศัยเลนส์ซูม ที่สำคัญได้ไฟล์ภาพไม่แตกชัดเนียนมาก
อีกซักภาพ crop เหลือไฟล์ที่ 1816 * 1317 pixels จากไฟล์ต้นฉบับที่ใหญ่และคมชัดอยู่แล้วทำให้เลือกตัดเนื้อภาพบางส่วนมาใช้งานได้แบบสบาย
แสงแดดอ่อนยามสายส่องกระทบกับดอกนางพญาเสือโคร่ง
บางกิ่งไร้ดอกมีแต่ใบสีแดงขึ้นมาแทนก็ดูสวยดี
เดินออกมาข้างศูนย์วิจัย ฯ ตรงจุดนี้ก็มีดอกนางพญาเสือโคร่งขึ้นเยอะพอสมควร อย่างน้อยปีนี้ฉันได้มีโอกาสมาเก็บภาพดอกพญาเสือโคร่งเหมือนทุกปีแต่พิเศษกว่าที่ได้มาเก็บภาพมุมมองใหม่ที่นี่
หลังจากเก็บภาพสีชมพูเรียบร้อยก็แวะมาเที่ยว สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณปากทางเข้า ตั้งใจมาถ่ายภาพดอกไม้เพื่อทดสอบความชัดของกล้อง
ปีนี้ดอกไม้เมืองหนาวมีให้ชมน้อยชนิดน้อยกว่าปีที่แล้วมาก อาจเป็นเพราะว่าสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลง หน้าหนาวไม่ค่อยหนาวบางดอกก็แอบโรยราไป
ชัดเจนเปลี่ยน
เลนส์ช่วง Normal 24 -70 f2.8 nano เมื่อจับคู่กับกล้อง Nikon D600 ก็ถ่ายให้ได้ชัดลึกชัดตื้นในแบบที่ต้องการได้เหมือนกัน ถือว่าคุณภาพสมราคา โฟกัสไวแบบติดจรวด โอกาสในการได้ภาพง่ายขึ้น ติดอย่างเดียวที่ตัวใหญ่ หนักคล้ายเลนส์ซูมไปซักหน่อย ด้วยระยะช่วงเลนส์ที่ฉันขอเรียกว่าเลนส์อเนกประสงค์ จะถ่ายภาพวิว คน ดอกไม้ รีสอร์ท อาหาร ตัวเดียวเที่ยวทั่วไทยแบบไม่ต้องพกเลนส์เยอะ ทั้งทริปฉันใช้แต่เลนส์ตัวนี้ถ่ายภาพ เลนส์ตัวอื่นที่ตั้งใจนำมาใช้ถูกลืมไปเลย อยากได้มุม close up ก็แค่ถ่ายภาพต้นฉบับมาให้ชัดแล้วค่อยมา crop ในส่วนที่เราต้องการเน้นด้วยประสิทธิภาพของกล้องระดับ FX ทำได้ไม่ยาก ภาพที่ได้จากกล้อง FX กับเลนส์เกรดโปร มันก็คือภาพในฝันที่เป็นความจริง หากถ่ายรูปเป็นอาชีพหรือจะถ่ายรูปเป็นงานอดิเรกเพื่อผ่อนคลายแต่อยากมีภาพสวยคุณภาพดีๆ ไว้ในความทรงจำ หากมีกำลังทรัพย์ซื้อได้แบบไม่เดือดร้อนก็น่าซื้อหาไว้ สำหรับฉันเจ็บแต่จบค่ะ
จากดอยอินทนนท์มุ่งหน้าสู่จุดหมาย ที่ฉันตั้งใจเดินทางมานานมาก โครงการหลวงบ้านวัดจันทร์ อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ ทางเข้าจะตั้งอยู่ก่อนถึงปาย 14 ก.ม. จากปากทางเข้าเข้าไปอีกประมาณ 40 ก.ม. มีป้ายบอกชัดเจน เส้นทางผ่านภูเขาอันสลับซับซ้อนและคดเคี้ยว ฉันเคยนั่งรถผ่านถนนหนทางในภาคเหนือมาหลายแห่ง นอกจากถนนสายน่านแล้ว ถนนสายบ้านวัดจันทร์ คือ เส้นทางที่สวยและงดงามถนนอันคดเคี้ยวเห็นวิวภูเขาต้นไม้ใบหญ้าที่เริ่มเปลี่ยนสีสลับกัน แม้จะผ่านทางที่เป็นหลุมบ่อโยกไปโยกมาบ้าง แต่ 1 ชั่วโมงที่อยู่บนรถทั้งไปและกลับเพลินไปกับการมองวิวทิวทัศน์เป็นที่สุด
โครงการหลวงบ้านวัดจันทร์ หรือ ป่าสนวัดจันทร์ ก่อกำเนิดขึ้นหลังจากที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรชาวเขาในเขตหมู่บ้านวัดจันทร์ พระองค์ทรงทราบถึงความยากลำบากของชาวเขาในพื้นที่ จึงมีพระราชดำริให้มีการพัฒนาบ้านวัดจันทร์และหมู่บ้านใกล้เคียงเพื่อก่อตั้ง “ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์” ขึ้น เพื่อช่วยให้สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้ราษฎร เพื่อให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยโซนที่เรามาพัก คือ บ้านพักขององค์การอุตสากรรมป่าไม้ (อปป) ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของโครงการหลวงเช่นกัน
บ้านพัก อ ป ป มีบ้านพักให้บริการหลายหลัง บ้านพักสะดวกสบาย มีเครื่องทำน้ำอุ่นและเครื่องนอน ไม่มีแอร์ พัดลมเพราะอากาศเย็นสบายตลอดปี มีจุดกางเต้นท์สำหรับให้บริการนักท่องเที่ยวค่าธรรมเนียมกางเต็นท์คนละ 50บาท ต่อคืน โครงการไม่มีเต็นท์ให้บริการ มีอาหารให้บริการแต่ต้องแจ้งล่วงหน้า คิดค่าบริการอาหารเช้าท่านละ 100 บาท อาหารกลางวัน ท่านละ 150 บาท อาหารเย็นท่านละ 120 บาท รายละเอียดการจองบ้านพัก http://www.fio.co.th
บ้านหลังนี้ ชื่อว่า บ้านสนเขา ที่พักของฉันและคณะในคืนนี้ บรรยากาศดีมาก ยิ่งมืดอากาศก็เริ่มหนาวขึ้นเรื่อยๆ เจ้าหน้าที่บอกว่าเมื่อวานตอนเช้า 3 องศา หนาวสมใจเลยงานนี้
โครงการหลวงบ้านวัดจันทร์ เที่ยวได้ตลอดทั้งปี แต่ที่นิยมคงเป็นช่วงฤดูหนาว ไฮไลต์ คือ เสน่ห์ความงามของหมอกลอยพริ้วปกคลุมทิวสนและอ่างเก็บน้ำเคล้าแสงแดดอ่อนๆ ของพระอาทิตย์ในยามเช้า ซึ่งมีให้เราได้เลือกชมหลายจุด
บรรยากาศยามเช้าคล้ายกับปางอุ๋ง จ. แม่ฮ่องสอน แต่ฉันว่าที่ ป่าสนวัดจันทร์ หรือโครงการหลวงบ้านวัดจันทร์ บรรยากาศสวย สงบเป็นธรรมชาติมากกว่า และที่สำคัญนักท่องเที่ยวยังไม่เยอะ
อากาศช่างหนาวเย็นคิดว่าเช้านี้คงไม่เกิน 3 องศาอย่างที่เจ้าหน้าที่บอกไว้ เพราะเห็นมีแม่คะนิ้งด้วย พูดคุยกันก็มีไอออกจากลมหายใจและปากตลอด
ในช่วงเช้าที่บรรยากาศยังไม่สว่างเท่าไหร่นัก ทำให้เวลาถ่ายภาพความเร็วชัตเตอร์อาจช้าลงไปตามสภาพแสง บางครั้งส่งผลให้ภาพสั่นไหวไม่ชัดเท่าที่ควร กล้องเล็กถ้าไม่มีขาตั้งกล้องและเลือกใช้ค่า ISO สูงเพื่อให้ได้ชัตเตอร์ที่เร็วขึ้น บางครั้งคุณภาพของไฟล์อาจมีปัญหา ยิ่งสูงยิ่งเกิด Noise ได้ง่าย แต่แน่นอนปัญหานี้จากกล้อง FX เกิดขึ้นได้น้อยมากหรือแทบไม่มีเมื่อเราปรับค่า ISO สูง กล้องเล็กแค่ ISO 800 ไฟล์ก็เริ่มไม่เนียนแล้ว แต่กล้อง Nikon D600 ปรับไปถึง ISO 1600 ยังได้ไฟล์เนียนกริป โปรแกรมลด noise ที่เคยใช้บ่อยๆถูกลืมไปอีกแล้ว สองภาพนี้ที่ ISO 1600 ปรับ WB แบบ Direct sunlight หรือแสงอาทิตย์ ย่อและ unsharp mark แบบเบาๆ เพียงอย่างเดียว ไม่ได้ process อะไรเพิ่มเติมทั้งสิ้น ไฟล์ชัด วิ้งมาก
กิจกรรมอีกอย่างหนึ่ง คือ ปั่นจักรยานดื่มด่ำกับธรรมชาติอันบริสุทธิ์ ซึ่งทางโครงการมีให้เช่าคันละ 100 บาท ปั่นเที่ยวได้ตลอด ตื่นมาแต่เช้าปั่นจักรยานท้าลมหนาว ชมวิวผ่านเส้นทางของทิวสน รับอากาศบริสุทธิ์ มีอะไรจะฟินไปกว่านี้อีกมั้ย
ฉันเดินชมวิวตามเส้นทางไปเรื่อยๆ ตั้งใจไปยังอีกฝั่งของอ่างเก็บน้ำซึ่งมองเห็นอยู่ไม่ไกล
เดินไปก็จะเห็นต้นสนขึ้นหนาแน่นสมแล้วที่ได้รับสมญานามว่า เป็นป่าสนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
สายมากแล้วแต่ไอหมอกก็ยังคงลอยขึ้นมาเหนือน้ำให้ได้ชื่นชมและเพลิดเพลินกับการเก็บภาพความงามที่เห็นอยู่ตรงหน้า แบบไม่รู้สึกเบื่อ
ไฮไลต์อีกจุดหนึ่งของโครงการหลวงวัดจันทร์ คือ ชมดงเมเบิ้ลเปลี่ยนสี ที่พร้อมใจกันกันอวดความงามให้เราได้พบเห็นในช่วงเดือน ม.ค. – ต้น ก.พ. ของทุกปี
สีเขียว เหลือง แดง ส้ม ของใบเมเบิ้ล ไม่ต้องไปดูใบไม้เปลี่ยนสีไกลถึงเกาหลีหรือญี่ปุ่น เมืองไทยก็มีให้ชม
สนุกสนานกับการถ่ายภาพหามุมโปรดของตัวเอง
การเดินทางตามเส้นทางสีชมพู กับเส้นทางคดเคี้ยวของดินแดนในฝัน โครงการหลวงบ้านวัดจันทร์ ความเหนื่อยล้าจากการเดินทางไกลหายไปเมื่อได้เก็บภาพงดงามและความประทับใจผ่านกล้องตัวเก่ง ขอบคุณธรรมชาติอีกครั้งกับความสวยงามที่มอบให้
โปรแกรมท่องเที่ยวตามทริป 2 วัน 1 คืน
วันเดินทาง
21.00 น. ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ
วันที่สอง
06.00 น. ถึงอ.จอมทอง รับประทานอาหารเช้า
07.00 น. เดินทางไปชมพญาเสือโคร่งที่ศุนย์อนุรักษ์กล้วยไม้พันธุ์รองเท้านารี แวะเที่ยวสถานทีเกษตรหลวงอินทนนท์
12.30 น. รับประทานทานอาหากลางวัน
14.00 น. เดินทางต่อไปยังบ้านวัดจันทร์
19.00 น. ถึงโครงการหลวงวัดจันทร์ รับประทานทานอาหารเย็น
วันที่สาม
06.00 น. ตื่นแต่เช้าเก็บภาพบรรยากาศของแสงอ่อนๆ ยามเช้า และไอหมอกลอยเหนืออ่างเก็บน้ำ ชมใบเมเบิ้ล รับประทานอาหารเช้า
10.00 น. เดินทางเข้าเมืองปายรับประทานอาหารกลางวัน
14.00 น. เดินทางเข้ากลับกรุงเทพ
02.00 น. ถึงกรุงเทพโดยสวัสดิภาพ
Tags : การเดินทางไปป่าสนวัดจันทร์, ป่าสนวัดจันทร์, พญาเสือโคร่งบาน ศูนย์อนุรักษ์กล้วยไม้พันธุ์รองเท้านารี, ศูนย์อนุรักษ์กล้วยไม้พันธุ์รองเท้านารี, สถานที่ท่องเที่ยวเชียงใหม่, โครงการหลวงวัดจันทร์