วาดภาพด้วยแสง ดอยผ้าห่มปก ดอยม่อนล้าน

จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดท่องเที่ยวยอดฮิตมีสถานที่ท่องเที่ยวและดอยสวยมากมาย ที่สำคัญมีดอยที่สูงติดอันดับ 1-3 ของประเทศไทย ตั้งอยู่ด้วย อันดับ  1 ดอยอินทนนท์ อันดับ  2 ดอยผ้าห่มปก และอันดับ 3 ดอยหลวงเชียงดาว  สำหรับฉันอันดับ 1 ไปมาหลายครั้งในรอบหลายปีที่ผ่านมา  อันดับ 3 เคยไปพิชิตความสูงมาแล้ว  อันดับ 2 ได้ยินชื่อมานานแต่ยังไม่เคยไปซักครั้ง  ประจวบเหมาะกับได้เห็นภาพดอยหนึ่งทางโลกออนไลน์และการบอกต่อจากคนรู้จักชื่อว่า ดอยม่อนล้าน  ซึ่งอาจเป็นชื่อที่ไม่ค่อยคุ้นเคยเท่าไหร่แต่เมื่อได้เห็นจากภาพทำให้ต้องรีบใส่ชื่อดอยนี้ในการเดินทางครั้งนี้ด้วย  ทริปที่ตั้งใจและรอคอยมานานจึงเกิดขึ้น ดอยผ้าห่มปก ดอยม่อนล้าน

DSC_0462

เดินทางมาถึงอำเภอฝางแต่เช้าตรู่  อากาศหนาวใช้ได้เลยทีเดียวแอบตกใจเล็กน้อยเพราะตลอดเวลาที่มาเที่ยวเหนือก่อนหน้านี้แทบไม่มีความหนาวแบบสุดขั้วเท่าไหร่  ฉันคิดในใจข้างล่างหนาวขนาดนี้บนยอดดอยจะหนาวขนาดไหน  หลังจากรับประทานข้าวเช้าในตัวอำเภอฝางเรียบร้อยแล้วก็มุ่งหน้าไปยังอุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก แวะไปเที่ยว บ่อน้ำพุร้อนฝาง ซึ่งตั้งอยู่ภายในตัวอุทยาน  หนาวๆแบบนี้ ได้ไออุ่นจากน้ำพุร้อนมากระทบร่างกายบ้างก็ช่วยให้อุ่นดีไม่น้อย

 

 

บ่อน้ำพุร้อนฝาง ค่อนข้างกว้างขวางมีจุดให้เดินเที่ยวหลายจุด  เป็นบ่อน้ำพุร้อนที่เกิดขึ้นมาจากหินร้อนเหลวที่อยู่ใต้เปลือกโลกโดยทางอุทยานได้มีการปรับแต่งพื้นที่ให้สวยงามและเข้ากับทัศนียภาพ

 

 

แต่ละบ่อมีไอร้อน เป็นควันลอยคุกรุ่นอยู่ตลอดเวลา

 

 

บ่อน้ำพุร้อนมีความร้อนสูงประมาณ 80-100 องศา อุณหภูมิสูงสุดสามารถต้มไข่จนสุกได้ภายในระยะเวลาแค่ 10-20 นาที ซึ่งทางอุทยานแห่งชาติฯ ก็ได้จัดเป็นกิจกรรมต้มไข่ ในบ่อน้ำพุร้อนไว้ให้บริการแก่นักท่องเที่ยวด้วย

 

 

มีบ่อใหญ่อยู่หนึ่งบ่อมีไอน้ำพุ่งขึ้นสูงกว่า 40-50 เมตร โดยจะเปิดให้ไอน้ำพุ่งออกมาทุกครึ่งชั่วโมง เปิดแต่ละครั้งเสียงดังฟู่ ฟู่ สร้างความตื่นตะลึงให้กับผู้ที่ได้มาชม

 

 

น้ำพุร้อนในแต่ละบ่อ มีคุณสมบัติของแร่ธาตุที่มีประโยชน์มากมาย เช่น แคลเซียม โซเดียม ซัลเฟอร์ ที่เชื่อว่ามีคุณสมบัติในการช่วยรักษาโรคผิวหนัง และโรคไขข้ออักเสบได้ ช่วยให้โลหิตไหลเวียนได้ดีเมื่อนำมาอาบ  บ่อน้ำพุร้อนฝางก็ได้ผ่านการวิเคราะห์แล้วว่ามีคุณสมบัติของแร่ธาตุดังกล่าว ที่สามารถนำมาอาบได้โดยปลอดภัย ทางอุทยานฯ ได้จัด ทำห้องอาบน้ำแร่ ห้องอบไอน้ำ และบ่อน้ำร้อนไว้ให้บริการแก่นักท่องเที่ยวที่ต้องการมาอาบน้ำพุร้อน  โดยมีให้เลือก 2 แบบ แบบแรก คือ บ่ออาบน้ำแร่กลางแจ้งไม่จำกัดเวลา ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท  โดยจะมีการปล่อยน้ำแร่ให้ไกลไปตามบ่อต่างๆ

 

 

อีกแบบก็จะเป็นแบบห้องแช่น้ำแร่ ซึ่งจะเป็นแบบห้องเล็กส่วนตัวเหมทือนบ้าน  ซึ่งบางครั้งต้องรอคิวนานหน่อย  ค่าบริการท่านละ 50 บาท ใช้บริการ 2 ท่านขึ้นไปต่อห้อง  ราคาเหมาห้อง ห้องละ 150 บาท ใช้บริการ 3-5 ท่าน ถ้าต้องการใช้บริการ 1 ห้อง ต่อ 1 คน คิดห้องละ 100 บาท ใช้บริการครั้งละ 30 นาที

 

 

เดินชมบ่อน้ำพุร้อน ได้ซักพักใหญ่สายแล้วเริ่มรู้สึกร้อน  ออกจากตัวอุทยาน ฯ เพื่อไปยัง สวนส้มธนาธร  สวนส้มชื่อดังของอำเภอฝาง ผ่านไปผ่านมาหลายครั้งแต่ไม่ได้มีโอกาสเข้าไปชมบรรยากาศข้างในซักที

 

 

ด้านหน้าสวนส้ม มีการตกแต่งสวน ประดับประดาด้วยดอกไม้และต้นไม้เมืองหนาวนา นา ชนิด

 

 

การชมสวนส้มธนาธร จะมีรถรางใช้บริการนำชมแต่ละจุด ค่าบริการคนละ 30 บาท  นั่งรถชมวิวมองเห็นที่พักริมน้ำบรรยากาศดีมาก

 

 

พื้นที่โดยรอบแวดล้อมไปด้วยธรรมชาติและวิวทิวทัศน์ของภูเขาและสวนส้มอันเขียวขจี

 

 

จุดแรกที่ให้เยี่ยมชม คือ เรือนรับรอง  ซึ่งใช้รับรองแขกของทางไร่  ตรงจุดนี้เป็นที่ถ่ายทำละครชื่อดังมาแล้วหลายเรื่อง

 

 

บริเวณรอบบ้าน จะประดับประดาด้วยต้นส้มพันธุ์ต่างๆ สมกับเป็นเรือนรับรองของไร่ส้มจริงๆ  และมีต้นไม้ประดับอีกชนิดที่มีปลูกเยอะก็คือ มะเขือพันธุ์การ์ตูน

 

 

เก้าอี้โยกเยกหน้าบ้านให้กลิ่นไอของความเป็นบ้านแนวคันทรี่ที่แฝงไปด้วยความเรียบเก๋

 

 

ระเบียงนั่งชมวิวหน้าบ้าน สามารถเห็นวิวของสวนส้มธนาธร ได้แบบไกลสุดตา

 

 

นั่งรถผ่านมายังจุดสุดท้าย  ซึ่งเป็นจุดถ่ายภาพกับสวนส้ม โดยปกติทางไร่จะมีกิจกรรมเก็บส้มสดๆจากสวน แต่เนื่องจากปีนี้อากาศไม่หนาวส้มให้ผลน้อยเลยต้องงดกิจกรรมนี้ไป

 

 

นั่งรถรางกลับในเวลาเที่ยวกว่าเห็น shot ที่สวยงาม สายรุ้งพาดผ่านเส้นถนน

 

 

แวะซื้อส้มเป็นของฝากซักหน่อย มีให้เลือกหลายพันธุ์ ต่างราคากันไป  ที่สำคัญมาถึงตรงนี้อย่าลืมแวะทานน้ำส้มคั้นสดๆ รสชาติเข้มข้นอร่อยถึงใจ ดื่มแล้วสดชื่นมาก

 

 

เวลาบ่าย 2 โมง  เดินทางกลับไปยังอุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก เพื่อเปลี่ยนรถเป็นรถกระบะเพื่อขึ้นไปยังดอยผาห่มปก การขึ้นไปยอดดอย รถเก๋งและรถตู้ไม่สามารถขึ้นไปได้ค่ะ เพราะเส้นทางเป็นดินลูกรังเป็นหลุมบ่อและขันในบางช่วง ส่วนใหญ่จะจอดไว้ที่ทำการอุทยาน ฯ แล้วใช้บริการรถกระบะนำเที่ยวขึ้นดอยผ้าห่มปก  ราคา 1800-2200 บาท สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดรถเช่าได้ที่ โทร 085 447 5810

สำหรับข้อมูลดอยผ้าห่มปกอย่างละเอียดคลิ๊ก  http://paiduaykan.com/province/north/chiangmai/doiphahompok.html

 

 

นั่งรถมาประมาณ 1 ชั่วโมงกว่า ก็มาถึงลานกางเต้นท์กิ่วลม ซึ่งเป็นลานกางเต้นท์ที่ที่สูงที่สุดในประเทศไทย และเป็นที่พักเพียงแห่งเดียวบน ดอยผ้าห่มปก ฉันจองเต้นท์ผ่านเว็บไซต์ของอุทยานไว้ล่วงหน้าเนื่องจากมาเที่ยวช่วงหน้าหนาวเกรงว่าเต้นท์จะเต็ม แต่ถ้ามีเต้นท์ของตัวเองก็ไม่ต้องห่วงเรื่องนี้  ที่นี่ไม่มีบ้านพัก และไม่มีอาหาร ต้องเตรียมมาเอง จะมีเพียงซุ้มเล็กขายมาม่า กาแฟโอวัลตินและน้ำร้อนของเจ้าหน้าที่เท่านั้น

 

 

เดินไปยังที่ทำการอุทยานฯ ติดต่อลงทะเบียนแสดงตัวรวมทั้งเช่า เครื่องนอน เช่น ถุงนอน หมอน แผ่นรองนอน และผ้าห่มเพิ่มเติมได้ที่นี่ค่ะ

 

 

นั่งปูเสื้อทานอาหารมื้อเย็นแบบง่ายๆ  พระอาทิตย์เริ่มคล้ายต่ำลง ฉันและเพื่อนๆ เดินไปชมจุดชมพระอาทิตย์ตก ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากลานกางเต้นท์

 

 

ในเวลานี้ไม่คงไม่มีอะไรที่จะพิเศษไปกว่าการได้นั่งรอเก็บภาพ มองพระอาทิตย์และท้องฟ้าที่ค่อยๆเปลี่ยนสี ท่ามกลางอุณหภูมิคหนาวเย็นที่กำลังลดต่ำลงเรื่อยๆ

 

 

สีของท้องฟ้าในยามพระอาทิตย์ตกช่างงดงาม  ถ้ามาเป็นคู่นั่งชมพระอาทิตย์ด้วยกันคงสุดแสนโรแมนติก  เห็นคู่นี้นั่งป้อนขนม ป้อนน้ำ แล้วยังแอบอมยิ้ม เป็นภาพที่น่ารักดีค่ะ

 

 

แต่มาเป็นหมู่คณะแบบพวกเราก็สนุกสนานกับการโพสต์ท่าถ่ายภาพ อบอุ่นได้เช่นกัน

 

 

อำลาแสงอาทิต์สุดท้ายณ จุดกางเต้นท์ ไปกับอุณหภูมิที่ 5 องศา  หลังจากที่บ่นกันหลายทริปว่าไปที่ไหนก็ไม่หนาว  ครั้งนี้ได้หนาวสมใจ กันเลยทีเดียว

 

 

ตื่นมาตั้งแต่ตีสามครึ่งล้างหน้าล้างตา เวลาที่เริ่มออกเดินทางประมาณตี 4 เพื่อให้ทันชมพระอาทิตย์ขึ้น การพิชิตยอดดอยผ้าห่มปกต้องเดินเท้าจากลานกางเต้นท์ไปอีก 3.5 ก.ม. รวมระยะทางไปกลับก็ประมาณ 7 กิโล ใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมง  การขึ้นไปยอดดอยจะต้องแจ้งทางอุทยานฯ  โดยจะจัดคนนำทางให้ 1 คน /กลุ่ม (กลุ่มหนึ่งไม่เกิน 10 คน)  นักท่องเที่ยวไม่ควรขึ้นไปเองค่อนข้างเสี่ยงต่อการหลงทาง เนื่องจากเส้นทางค่อนข้างมืดและชันควรพกไฟฉายไปด้วย ส่วนรองเท้าก็ให้พร้อมจะเป็นรองเท้าผ้าใบหรือรองเท้าแบบสายรัดเท้าก็ได้   เส้นทางในช่วงแรกถ่ายภาพมาให้ชมตอนขากลับซึ่งสว่างแล้ว  ม่อนวัดใจ จุดนี้พวกเราเรียกว่า จุดหักเหของชีวิตว่าจะไปต่อหรือเดินกลับ เพราะม่อนนี้สมชื่อม่อนวัดใจจ ด้วยเส้นทางชันและแคบมาก ยิ่งเดินในอากาศที่แสนจะหนาวเหน็บตอนตี 4 อาจทำให้ถอดใจกลับได้ง่ายๆ เพราะส่วนใหญ่จะนึกว่าถ้าเส้นทางเป็นแบบนี้จนถึงยอดคงไปต่อไม่ไหวแน่ๆ คณะของฉันขึ้นกันมา 7 คน ถอดใจกลับกลางทางตรงม่อนวัดใจ 2 คน  ตัวฉันเองก็เกือบจะกลับไปด้วยเพราะไม่ได้มีการเตรียมตัวและเตรียมใจมาก่อนว่าต้องมาเดินขนาดนี้ แต่เมื่อมาถึงแล้วด้วยหน้าที่เราต้องเดินต่อไปเพื่อให้ถึงจุดหมาย

 

 

หลังจากผ่านม่อนวัดใจซึ่งเป็นระยะทางที่ค่อนข้างยาว 1 กิโลกว่า เส้นทางก็จะเดินง่ายขึ้นมีทางราบและทางชันสลับกัน  เดินไปเรื่อยๆ  เหนื่อยก็นักพักและเดินต่อไป ที่สำคัญเราจะนั่งพักกันเป็นทีม มากี่กลุ่มก็จะนั่งพักพร้อมกัน เป็นมิตรภาพกลางอากาศที่แสนหนาวเหน็บและมืดมิดในเวลาตี 4 ที่หลายคนกำลังนอนหลับอยู่บนเตียงนุ่มๆ แสนสบาย แต่พวกเรามานั่งรวมกลุ่มกันที่นี่   เหนื่อยก็เหนื่อย หนาวก็หนาว การได้ภาพมาซักภาพมันช่างยากเย็นอะไรขนาดนี้

 

 

เดินมาถึงยอดดอยผ้าห่มปกในเวลาประมาณ เกือบ 6 โมง ลมค่อนข้างแรง  เห็นแม่คะนิ้งอยู่ตามยอดหญ้า เห็นสีขอบฟ้าเริ่มเปลี่ยนเป็นเหลืองทองเป็นสัญญาณว่าพระอาทิตย์คงขึ้นมาให้เราเห็นในไม่ช้านี้ หาที่หลบลมนั่งรออยู่ซักพักใหญ่  รอไปก็บ่นไป ณ จุดนี้ 2 องศา หนาวจนหน้า มือและเท้าชาเจ็บไปหมด คุยกับน้องที่นั่งอยู่ด้วยกันรู้เลยว่าคนที่เค้าหนาวตายอาการเริ่มแรกเป็นยังไง

 

 

พระอาทิตย์ท่ามกลางฟ้าสีฟ้าเข้มสวยงาม เสียงบ่น ความเหนื่อย และความหนาว เริ่มหายไป  การเดินทางของฉันถึงแม้จะได้เห็นภาพแบบนี้อยู่บ่อยครั้ง แต่ทุกครั้งที่ได้เห็นก็ยังคงตื่นเต้นและไม่รู้สึกเบีอที่จะมองและเก็บภาพความประทับใจในช่วงวินาทีนั้นกลับมา

 

 

ถ้าบังเอิญฉันถอดใจตั้งแต่ม่อนวัดใจไม่เดินไปต่อ คงไม่ได้มีโอกาสมาวาดภาพด้วยแสงอันแสนจะงดงามเช่นภาพนี้

 

ยอดดอยผ้าห่มปกก สูงเป็นอันดับ  2  ของประเทศไทย ในระดับความสูง 2285 เมตร

 

 

ณ จุดนี้เราสามารถมองเห็นวิวได้แบบ 360 องศา  หันมองกลับไปอีกฝั่ง  นี่เหรอวิวภูเขาของประเทศไทย  ภาพเหล่านี้จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมฉันจึงชอบเที่ยวในเมืองไทยมากกว่าต่างประเทศ วิวเมืองไทยก็สวยงามไม่แพ้ชาติใดในโลก เพียงแต่ว่าคุณจะเดินทางไปเสาะแสวงหามันหรือไม่

 

 

ทะเลหมอกคลอเคลียอยู่ตามไหล่เขาแต่งแต้มด้วยสีสันของแสงที่เปลี่ยนสีไปเรื่อยตามช่วงเวลาที่เปลี่ยน

 

 

เกือบ 8 โมงกว่าได้เวลาที่พวกเราต้องเดินทางกลับ  ทิ้งไว้เพียงรอยเท้า เก็บบันทึกไว้เป็นความทรงจำว่าครั้งหนึ่งพวกเราเคยตื่นตั้งแต่ตีสามครึ่ง ออกเดินทางฝ่าความเหน็บหนาวตอนตี 4 ด้วยกัน เพื่อพิชิตยอดดอยที่สูงอันดับ 2 ของ ประเทศไทย ดอยผ้าห่มปก

 

 

หลังจากเก็บสัมภาระเรียบร้อยแล้ว 9 .30 น. รถกระบะมารับและพาพวกเราไปส่งยังที่ทำการอุทยาน ฯ จากนั้นก็นั่งรถตู้ต่อไป ยังจุดหมายสุดท้าย ดอยม่อนล้าน ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอพร้าว จ. เชียงใหม่  นัดพบกับรถกระบะโฟร์วิวที่ปั้มป.ต.ท. พร้้าว เป็นรถที่ฉันเคยใช้บริการตอนขึ้นไปดอยแม่ตะมาน อ.เชียงดาว ต้องเรียกว่างานนี้ขอความช่วยเหลือให้พาขึ้นไปก็ได้ ไม่มีอะไรยากถ้าเราอยากจะไปคงต้องเสาะแสวงหาหนทางไปให้ถึงจนได้  ดอยม่อนล้านไม่มีรถให้บริการต้องใช้รถส่วนตัวเท่านั้นและรถที่ขึ้นไปได้ก็ต้องเป็นรถกระบะที่มีแรงขับเคลื่อน เพราะเส้นทางชันเป็นดินแดงและลูกรังโหดในระดับนึง รถเก๋ง รถตู้หมดสิทธิ์ขึ้นไปเช่นกัน

 

 

เกือบ 1 ชั่วโมงครึ่ง พวกเราก็มาถึง ดอยม่อนล้าน ซึ่งเป็นที่ตั้งของ โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ ในสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ สำหรับข้อมูลดอยม่อนล้าน คลิ๊ก http://paiduaykan.com/province/north/chiangmai/monlan.html

 

 

ติดต่อเรื่องที่พักกับสำนักงานอำนวยการ ซึ่งฉันได้จองล่วงหน้าไว้เีรียบร้อย

 

 

บ้านพักของ โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงม่อนล้าน มีทั้งหมด 6 หลัง หลังหนึ่งนอนได้ 4-5 คน มีแค่ที่นอนและเครื่องนอน ไม่มีเครื่องทำน้ำอุ่น มีไฟฟ้าใช้ตลอดคืนเพราะที่นี่ปั่นไฟฟ้าใช้เองด้วยกังหันลม  ส่วนค่าที่พักแล้วแต่ทางเราจะให้เพื่อเป็นการบำรุงที่พัก ฉันจองสองหลัง 10 คน  ให้ 2000 บาท  หรือหากอยากจะนำเต้นท์ส่วนตัวมาก้จะมีจุดกางเต้นท์ให้โดยเสียค่าบำรุงสถานที่เช่นกัน ไม่มีร้านอาหารต้องเตรียมมาเอง แต่บริเวณที่ทำการมีร้านสวัสดิการขายเครื่องดื่ม ขนม มีบริการกาแฟ โอวัลติน ติดต่อจองบ้านพักที่คุณอ้วน โทร 089 555 6816

 

 

หลังนี้คือบ้านพี่พวกเราพัก  หลังน้อยน่ารักอยู่ข้างบนสุด  สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ได้แบบเต็มตา

 

 

กังหันลมซึ่งเป็นแหล่งผลิตหลังงานไฟฟ้า ตามโครงการศึกษาศักยภาพการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม ม.แม่โจ้ จ.เชียงใหม่ ซึ่งถือเป็น 1 ใน 3 แหล่ง ที่มีความเหมาะสมในการติดตั้งกังหันลมซึ่งจะทำให ้ชาวบ้านมีไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดใช้ได้ตลอด จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมที่นี่จึงมีไฟฟ้าใช้ตลอดคืน ต่างจากโครงการเกษตรที่สูงบางแห่งหรืออุทยานบางที่ที่มีให้ใช้ตั้งแต่ 6 โมง เย็น – ห้าทุ่ม

 

 

ไฮไลต์ของการมาเที่ยวดอยม่อนล้าน คือ การมาชมพระอาทิตย์ตก ณ ลานชมวิว ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากสำนักงานอำนวยการ

 

 

ที่นี่ถือจุดชมทิวทัศน์ที่มีชื่อเสียงของ อำเภอพร้าว

 

 

มองเห็นหมู่บ้านชาวเชาซึ่งซ่อนตัวอยู่ริมไหล่เขาโดดเด่นมาแต่ไกล

 

 

บ้านเรือนของชาวบ้านในตัวอำเภอพร้าว สลับซับซ้อนด้วยภูเขาที่อยู่เบื้ิองหลัง แต่งแต้มด้วยแสงสีทองในเวลาเย็นของพระอาทิตย์  วิวที่อยู่เบื้องหน้าสำหรับฉันในเวลานี้ คือ วิวที่แตกต่างไปจากที่ฉันเคยเห็น

 

 

DSC_0718

 

จุดกางเต้นท์อีกจุด ซึ่งฉันมองว่าจริงแล้วทางโครงการไม่น่าให้มากางเต้นท์ตรงนี้ เพราะตรงจุดนี้ คือ จุดไฮไลต์ที่คนเดินผ่านไปมาเยอะ น่าจะปล่อยให้โล่งไว้จะดีที่สุดอีกอบย่างจะได้ไม่บดบังทัศนียภาพและกีดขวางทางเดินด้วย

 

 

ทิวเขาที่เห็นโดดเด่น สวยงาม  คือ ดอยหลวงเชียงดาว ซึ่งฉันเพิ่งขึ้นไปมาไม่นานก่อนหน้านี้ไม่กี่เดือน วันนี้ได้ยืนมองดอยนี้อีกแล้วจากดอยม่อนล้าน

 

 

แสงสุดท้ายชองวันกับภาพทิวเขาอันสลับซับซ้อนแลดูคล้ายภาพวาด

 

 

ตื่นมาแต่เช้าเพื่อขึ้ไปยังจุดชมวิวสูงสุดของดอยม่อนล้าน ซึ่งอยู่ห่างจากที่พักไปประมาณ  2 ก.ม.

 

 

อากาศในวันนี้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่ยังมีช่วงเวลาก่อนพระอาทิตย์ขึ้นให้เราได้เห็นขอบฟ้าสีทองอยู่บ้าง

 

 

หลังจากดูที่ท่าแล้วคงไม่ได้เห็นพระอาทิตย์ขึ้นแน่ก็ลงมายังลานที่ชมพระอาทิตย์ตก คาดหวังจะได้เห็นทะเลหมอกและแสงสีทองมากระทบบางๆ แต่โชคไม่เข้าข้างหมอกฟุ้ง อากาศขมุกขมัว

 

 

เดินเข้าไปภายในพระตำหนักที่ประทับซึ่งอนุญาติให้นักท่องเที่ยวเข้าชม

 

 

ภายในพระตำหนักร่มรื่นด้วยดอกไม้เมืองหนาว สีสันสวยงามนานาชนิด

 

 

เดินชมดอกไม้ไปรู้สึกเพลิดเพลินกับสีสัน

 

 

มองลงมาข้างล่างเห็นแปลงปลูกผัก โค้งวนสวยงามตามไหล่เขา

 

 

จบทริป 3 วัน 2 คืน ทริปนี้ถือได้ว่าเป็นทริปที่ได้สัมผัสอากาศหนาวแบบเต็มอิ่ม  ได้เจอกับแสงสวยไล่เฉดสี ตลอดทุกวันที่เดินทาง สมกับชื่อทริป วาดภาพด้วยแสง ณ ดอยผ้าห่มปก ดอยม่อนล้าน 

โปรแกรมท่องเที่ยวตามทริป 

วันเดินทาง
21.00 น.   เดินทางออกจากรุงเทพ

วันแรก

08.00 น.  ถึงอำเภอฝาง รับประทานอาหารเช้า
10.00 น.  แวะบ่อน้ำพุร้อนฝางและสวนส้มธนาธร
12.00 น.   รับประทานอาหารกลางวัน
14.00 น.   แวะซื้อเสบียงเปลี่ยนเป็นรถโฟรวิวขึ้นดอยผ้าห่มปก
15.00 น.   ถึงจุดกางเต้นท์  นอนเต้นท์ละ 2 คน มีแผ่นรองนอน ผ้าห่มให้
18.00 น. รับประทานอาหารเย็น พักผ่อนถ่ายภาพพระอาทิตย์ตกยามเย็นตามอัธยาศรัย

วันที่สอง
04.30 น.   ตื่นแต่เช้าเพื่อไปชมทะเลหมอกและพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้า ณ จุดวิวดอยผ้าห่มปก ใช้เวลาเดินไปกลับ3 ชั่วโมง หากใครไม่ประสงค์จะไปชมก็นอนรอที่เต้นท์ค่ะ
10.00 น.   รับประทานอาหารเช้าเตรียมลงจากดอยผ้าห่มปก
12.00 น.   รับประทานอาหารกลางวัน แวะซื้อเสบียง
14.00 น.  เปลี่ยนเป็นรถโฟร์วิว มุ่งหน้าสู่ดอยม่อนล้าน
16.00 น.  ถึงโครงการพัฒนาเกษตรที่สูงดอยม่อนล้าน นอนบ้านหลังละ 5 คน มีเครื่องนอนให้ พักผ่อนชมวิวตามอัธยาศรัย
18.00 น. รับประทานอาหารเย็น

วันที่สาม

05.00 น. ตื่นแต่เช้าชมทะเลหมอกและพระอาทิตย์ในยามเช้า ณ จุดชมวิวม่อนล้าน
09.00 น. ลงจากดอยม่อนล้านแวะเที่ยวโครงการหลวงแม่ปูนหลวง ชมแปลงปลูกผักและผลไม้เมืองหนาว
12.30 น. รับประทานอาหารกลางวัน
14.00 น. เดินทางเข้าสู่ตัวเมืองเชียงใหม่แวะเดินเล่นถนนคนเดินซื้อของฝาก
18.30 น.  รับประทานอาหารเย็น เดินทางกลับกรุงเทพ
02.00 น. ถึงกรุงเทพโดยสวัสดิภาพ

ผู้เขียน

นักเดินทางที่ชอบถ่ายภาพ อยากส่งต่อเรื่องราวของการท่องเที่ยว จากประสบการณ์ที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน

บทความที่เกี่ยวข้อง