2 วัน 1 คืน เที่ยวแหลมงอบ แวะรายทางในเมืองตราด

แหลมงอบ อำเภอเลียบชายหาดขึ้นชื่อของจังหวัดตราด เมื่อเรานึกถึงแหลมงอบภาพที่รู้จักคือ  จุดขึ้นเรือเฟอรี่ข้ามไปยังเกาะช้าง หรือจุดเช่าเรือไปยังเกาะอื่นอย่างเช่น เกาะกูด  เกาะหมาก เกาะกระดาด เราอาจไม่ได้มีความตั้งใจแวะมาอำเภอนี้แบบจริงจังเท่าใดนัก คือลงเรือหรือขึ้นเรือเสร็จก็จากไป  แต่เมื่อเราลองมาเริ่มละเมียดกับเส้นทางนี้มากขึ้นเราจะรู้ว่ามีอะไรที่เชื่อมโยงถึงอัตลักษณ์ของความเป็นจังหวัดตราดหลายเรื่อง เช่น เป็นอำเภอสุดแผ่นดินชายฝั่งไทยทางภาคตะวันออกของประเทศไทย ทำให้ตราดกลายเป็นที่เรียกขานว่า จังหวัดสุดแผ่นดินตะวันออก เป็นที่ตั้งของอนุสรณ์สถานยุทธนาวีเกาะช้าง เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของประเทศไทย ยังไม่รวมสถานที่ทางวัฒนธรรมแห่งอื่นและสถานที่เชื่อมโยงในเส้นทางเดียวกัน มาถึงอำเภอแหลมงอบก็ต้องลองแวะมาเที่ยวในย่านนี้ซักหน่อย

 

cover

 

ออกเดินทางมาเช็คอินยังที่พักในตัวเมืองตราดประมาณเที่ยงกว่า ที่  Hii  hotel  (ฮิ โฮเทล)  ที่พักน่ารัก ราคาน่าคบ ในตัวเมืองตราด  ด้วยทำเลที่ตั้งที่แสนจะสะดวกสะดวกสบายอยู่ติดถนนสายหลัก ใจกลางเมืองตราด ที่ทำให้คุณสามารถเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวในตัวเมืองและพื้นที่ใกล้เคียงอย่างแหลมงอบได้อย่างง่ายได้ สำหรับการเดินทางมาที่โรงแรม อยู่ริมถนนสุขุมวิทขาเข้าจังหวัดตราด ตรงข้ามอีซูซุ  สามารถตั้งการเดินทางใน google map ได้เลยค่ะ จะสะดวกกว่ามากค่ะ  ด้านหน้าเป็นที่ตั้งของร้านกาแฟและร้านอาหาร แว่วมาจากคนในพื้นที่ว่า ที่นี่เค้าขึ้นชื่อในเรื่องของรสชาติความอร่อยของเครื่องดื่มและเบอเกอรี่ มาถึงต้องแวะทานไม่ควรพลาด ถึงแม้ไมได้พักก็ตามก็แวะมาทานได้ บรรยากาศภายในร้านกาแฟ ตกแต่งได้น่ารักมาก ออกแนวเก๋  ชิค

 

 

ภายในร้านมีที่นั่งหลายโต๊ะ ข้างในติดแอร์ แต่ถ้าใครอยากนั่งแบบโอเพ่นแอร์ ข้างนอกก็มีที่นั่งเช่นกัน นอกจากเครื่องดื่ม เบอเกอรี่ที่รสชาติอร่อยแล้ว ที่นี่ยังเป็นร้านอาหารขนาดย่อมด้วยค่ะ อาหารส่วนใหญ่ก็เป็นแบบอาหารจานเดียวง่ายๆ ส่วนใหญ่เน้นไปทางเมนูทะเล วัตถุดิบที่ใช้และรสชาติ คือ ดีมาก

 

 

ห้องพักของ ฮิโฮเทล มีประมาณ 13 ห้อง เป็นห้องพักแบบห้องติดกัน แต่ละห้องก็มีพื้นที่ด้านหน้าสำหรับนั่งพักผ่อน มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบ ทั้งแอร์ ทีวี ตู้เย็น เครื่องทำน้ำอุ่น  ในราคาห้องละ 800 บาท รวมอาหารเช้า

ชมรีวิวโรงแรมเพิ่มเติม คลิ๊ก ฮิโฮเทล

 

 

เริ่มต้นการเดินทางไปประมาณบ่ายโมง มุ่งหน้าตรงไปยังอำเภอแหลมงอบสุดแผ่นดินตะวันออกของอำเภอซึ่งเป็นที่ตั้งของประภาคารสีแดงตัดขาวโดดเด่นบริเวณปลายแหลม ซึ่งบ่งบอกว่าเรามาถึงสุดเขตแดนแล้ว มีป้ายเก๋ไก๋ของจังหวัดตราดตั้งอยู่ เป็นแหล่งชุมชนของชาวบ้านซึ่งตั้งอยู่ติดทะเล มีทัศนียภาพที่มองแล้วสบายตาสวยงาม

 

DSC_0908

2

DSC_0911

 

แหลมงอบมีตำนานเล่ามาสืบต่อกันมาว่ามีหญิงชราคนหนึ่ง ชื่อ ยายม่อม มีคอกควายอยู่ที่สลักคอก วันหนึ่งควายของยายม่อมได้หายไป ยายม่อมจึงออกตามหาควาย และได้จมน้ำทะเลตายกลายเป็นโขดหินชื่อ ยายม่อม  ส่วนงอบของยายม่อมกลายเป็นแหลมงอบ ควายของยายม่อมกลายเป็นโขดหินเล็ก

 

DSC_0910

DSC_0907

 

มาถึงแหลมงอบไม่ควรพลาดแวะ อนุสรณ์สถานยุทธนาวีเกาะช้าง เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ของไทย  ยุทธนาวีเกาะช้าง บริเวณอนุสาวรีย์เป็นที่ตั้งของพระบรมรูปกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์หันพระพักตร์ไปยังบริเวณยุทธนาวีเกาะช้าง

 

DSC_0917

DSC_0914

 

ด้านล่างอนุสาวรีย์เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์คล้ายเรือรบ ด้านในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงข้อมูลประวัติศาสตร์ของกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ประวัติการสู้รบของกองทัพเรือไทยกับกองกำลังเรือรบของฝรั่งเศส รวมถึงข้าวของเครื่องใช้ต่างๆในสมัยนั้น รอบ บริเวณอนุสรณ์สถานได้จัดเป็นสวนสำหรับพักผ่อน และจะมีงานฉลองเพื่อระลึกถึงการทำยุทธนาวีของกองทัพเรือไทย ระหว่างวันที่ 17-21 มกราคม ของทุกปี

 

DSC_0921

DSC_0919 DSC_0923

 

จากนั้นเราไปยังหาดทรายดำ การเดินทางไปหาดทรายดำ จากตัวเมือง ใช้เส้นทางสาย 3156 มุ่งหน้าอำเภอแหลมงอบ ระยะทางประมาณ 15 กม. ทางเข้าจะอยู่ก่อนโรงพยาบาลแหลมงอบเลี้ยวซ้ายเข้าไป 300 เมตร พบทางแยก ให้เลี้ยวซ้ายไปจอดรถบริเวณหน้าศูนย์ เปิดให้ชมเวลา 8.30-16.30 น. ศูนย์การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติหาดทรายดำและป่าชายเลน โทร. 039-510-841, 039-510-962, 080-574-5544  หรือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานตราด โทร. 0-3959-7259 – 60  ทั้งนี้ก่อนเดินทางมาควรสอบถามการขึ้นลงของน้ำทะเล หาดทรายดำอยู่รวมกับต้นไม้ของป่าชายเลนและเหล่าสัตว์น้อยใหญ่มากมายไม่ว่าจะเป็น นก ปูแสม หอยต่าง ๆ เป็นต้น ทำให้พื้นที่เหล่านี้มีความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพสูง

 

 

ป่าชายเลนที่หาดทรายดำถือว่าเป็นป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งในภาคตะวันออก ซึ่งปัจจุบันทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งกระทรวงทรัพยาการธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดทำเส้นทางท่องเที่ยวศึกษาธรรมชาติระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร ไปจนถึงยังพื้นที่หาดทรายดำ มี จุดชมหอยขี้ค้อน รูปทรงแหลมเป็นกรวยคล้ายเจดีย์ จุดชมปลาตีนตัวใหญ่, จุดชมปูแสมที่มีทั้งพันธุ์สีดำกับพันธุ์สีสวยที่มีก้ามแดง จุดชมหิ่งห้อยในยามค่ำคืน จุดดูนกป่าชายเลนและนกประจำถิ่น เช่น  เหยี่ยว นกพญาปากกว้าง ท้องแบน นกยางกรอก นอกจากจุดหลักๆที่กล่าวมาแล้วป่าชายเลนที่นี่ยังมีสิ่งชีวิตอีกมากมาย โดยชีวิตเหล่านี้อยู่อาศัยร่วมกันในต้นไม้ป่าชายเลนใหญ่น้อย อาทิ โกงกาง ตะบูนดำ ลำพูทะเล ตาตุ่มทะเล แสมทะเล ฝาด โปรงแดง

 

 

เดินมาจนสุดทางของเส้นทางศึกษาธรรมชาติ เราก็จะได้พบกับพื้นที่ทรายซึ่งมีสีดำ เป็นพื้นที่หาดเล็กๆไม่ได้กว้างมาก ซึ่งการมาตรงจุดนี้ต้องเลือกจังหวะและช่วงเวลาที่น้ำลงด้วยค่ะ จะได้เห็นสันทรายได้ชัดขึ้น

 

 

หาดทรายดำ แต่เดิมเรียกกันว่า หัวสวน  ซึ่งเป็นพื้นที่ของชาวมุสลิมเมื่อเกิดการโยกย้ายของชาวมุสลิม สถานที่แห่งนี้ก็ถูกปล่อย ให้รกร้าง หลังจากนั้นมีเรื่องเล่าว่าชาวบ้านยายม่อมเห็นหาดทรายที่มีสีแปลกประหลาดอยู่ที่นี่ จึงมาดูและได้ลองทำการหมกตัวในทราย เมื่อคนป่วยจากอัมพาตลองมาหมกตัวอาการดังกล่าวกลับดีขึ้นและหายเป็นปลิดทิ้ง ทำให้เกิดความเชื่อว่าทรายที่นี่สามารถรักษาโรค ได้ต่างๆมากมาย  สรรพคุณในการรักษาโรคของหาดทรายดำได้รับการตรวจสอบจากผู้ที่เกี่ยวข้องซึ่งให้ข้อมูล ว่าทรายดำที่หาดแห่ง นี้มีชื่อทางการว่า “ไลโมไนต์” (Limonite) เป็นแร่ที่เกิดจากการยุบตัวของเศษเหมืองและเปลือกหอยผสมด้วยควอตซ์ หรือเป็นแร่ที่เกิดจากการผุกร่อนของเหล็ก ในทางการแพทย์ไลโมไนต์ไม่มีผลทางการรักษาโรค แต่กระนั้นยังมีคนเชื่อกันว่าทรายที่นี่มีแร่ธาตุอื่นอยู่อีกและสามารถทำให้ระบบการไหลเวียนโลหิตดีขึ้น ถ้าได้นำเท้าไปหมกทรายสักประมาณ 10-20 นาที หรือถ้าได้ไปเดินบน ชายหาดสีดำก็จะเป็นผลดีต่อสุขภาพเท้า

 

 

จึงทำให้บริเวณนี้จัดเป็นที่นั่งพักผ่อนสำหรับเอาเท้าหมกทรายหลายจุดเพื่อคลายความเมื่อยล้า ความรู้สึกเมื่อเอาเท้าหมกลงไปก็จะอุ่นๆหน่อย คล้ายกับเอาเท้าแช่น้ำแร่

 

 

ด้านหน้าศูนย์บริการนักท่องเที่ยวมีตัวอย่างทรายสีดำที่นำมาโชว์ไว้ภายในศูนย์ฯ รวมถึงผลิตภัณฑ์ชุมชนจัดจำหน่าย เช่น สบู่สมุนไพรเหงือกปลาหมอ  สบู่ถ่านกะลาจากชุมชนบ้านยายม่อม

 

 

ระหว่างทางผ่านแวะเข้าไปในตัวเมืองไปวัดที่สำคัญของจังหวัดตราด วัดบุปผาราม วัดที่เก่าแก่ที่สุดในจังหวัดตราด

 

 

สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด  พระอุโบสถ ด้านในมีจิตรกรรมฝาผนังศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ลายพระพุทธเจ้า ปางแสดงธรรม ลายดอกพุดตาล เพดานเป็นรูปดาว มีลายกลีบบัวซ้อยอยู่ภายใน

 

 

มีพระประธานคือ  หลวงพ่อโต  เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาเป็นพระพุทธรูปที่พุทธลักษณะพิเศษ คือที่คือ เล็บมือของท่านมีลักษณะสีขาวขุ่น เหมือนมนุษย์ ซึ่งทำจากเปลือกหอยมุก ซึ่งช่างได้สร้างให้มีลักษณะต่างจากพระพุทธรูปทั่วไป นับเป็นความแปลกที่น่าสนใจยิ่ง

 

 

วิหารพระพุทธไสยาสน์  ภายในประดิษฐานพระปางไสยาสน์ ผนังมีจิตรกรรมฝาผนังเน้นลายดอกไม้ และสัตว์ต่าง ๆ เขียนขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์เป็นฝีมือช่างท้องถิ่นแต่ล้วนแล้วผสมกลมกลืนด้วยศิลปจีน และวรรณคดีจีน แสดงให้เห็นว่า วัดแห่งนี้อาจได้รับการอุปถัมภ์จากชาวจีนที่มาค้าขายแถบชายฝั่งทะเลตะวันออกพ่อค้าชาวจีนอพยพทางเรือมาที่เมืองตราด ตั้งแต่สมัยอยุธยา บ้างอพยพจากอยุธยา กรุงเทพฯ เวียดนาม บ้างก็มาจากมาเลเซีย สิงคโปร์  ซึ่งปัจจุบันภาพเลือกลางและหลุดลอกไปมากแล้ว

 

 

นอกจากนั้นยังมีสิ่งที่น่าชมภายในวัด คือ หมู่กุฏิเล็กทรงไทย เป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ก่อด้วยศิลาแลงฉาบปูน รูปสี่เหลี่ยมจตุรัส  ที่สร้างได้ถูกต้องตามพระวินัยบัญญัติมีขนาดพอแค่ภิกษุอยู่ได้รูปเดียวเท่านั้น

 

 

มาถึงตราดเมืองติดทะเลต้องเน้นทานอาหารทะเล  ฝากท้องมื้อค่ำไว้ที่ร้านทิวธารา อีกหนึ่งร้านชื่อดัง ที่ขึ้นชื่อว่าปูทะเลสด อร่อยมาก

 

DSC_1049

Untitled-1

 

พักผ่อน 1 คืน ประมาณ 9 โมงเช้า เราไปที่ชุมชนบ้านท่าระแนะ ตั้งอยู่ในอำเภอเมืองตราด บ้านท่าระแนะได้ชื่อว่าเป็นมหัศจรรย์ป่าชายเลน เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่มีผืนป่าชายเลนอันอุดมสมบูรณ์ เป็นป่าชายเลนผืนใหญ่ ขนาด 2,000 ไร่ อายุกว่า 100 ปี สังเกตได้จากต้นโกงกางที่มีขนาดใหญ่มาก เป็นแหล่งอาหารอุดมสมบูรณ์ชาวบ้านได้อาศัยผืนป่าแห่งนี้ทำมาหากิน จับปู ปลา กุ้ง หอย  จนกลายอัศจรรย์ป่าชายเลน 1 ใน สถานที่ท่องเที่ยว Unseen แห่งจังหวัดตราด ความมหัศจรรย์อยู่ที่การนั่งเรือไปที่ลานตะบูน 10 นาที   โดยในช่วงเวลานั้นเราจะผ่านป่าในคลองถึง 3 ป่า คือ ป่าโกงกาง ป่าจากและป่าตะบูน การนั่งเรือไปชมมหัศจรรย์ป่าชายเลนลานตะบูน ควรไปในช่วงน้ำลงทำให้ได้เห็นรากไม้ที่โผล่ขึ้นมาเหนือน้ำ ช่วงเวลาที่เหมาะสมคือ ช่วงเวลาเช้าก่อน 10 โมง ค่าล่องเรือ 600 บาท นั่งได้ประมาณ 4-5 คน  แต่อย่างไรก่อนเดินทางโทรสอบถามเรื่องน้ำขึ้นน้ำลงอีกครั้ง สอบถามเพิ่มเติม นายสายชล  สุเนตร โทร 081 161 6694

 

 

มาถึงป่าสุดท้าย คือ ลานตะบูน  ซึ่งเป็นลานที่เต็มไปด้วยรากไม้ขนาดใหญ่ ยามน้ำลดเราจะได้เห็นความงดงามและศิลปะของรากต้นตระบูนที่แผ่กระจายในบริเวณกว้างให้ความรู้สึกเหมือนเราได้เข้าไปในป่าดึกดำบรรพ์

 

 

รากตะบูนจำนวนมาก กินพื้นที่กว้างหลายไร่ มีรากตะบูนโยงใยกันเหนียวแน่นแผ่ขยายตัว คล้ายพรมธรรมชาติที่สามารถเดินเล่นบนรากไม้จำนวนมหาศาลนี้ได้

 

 

เที่ยวตราดฮาเฮ ไม่ต้องลงทะเล แวะไปแหลมงอบ เที่ยวยังสถานที่ใกล้เคียง ลองมาสัมผัสตราดในมุมแบบนี้บ้างก็เข้าทีเช่นกันน่ะค่ะ 2 วัน 1 คืน รับรองว่าเที่ยวได้ครบบนฝั่ง

 

 

ผู้เขียน

นักเดินทางที่ชอบถ่ายภาพ อยากส่งต่อเรื่องราวของการท่องเที่ยว จากประสบการณ์ที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน

บทความที่เกี่ยวข้อง