เที่ยววิถีไทย อินสุด สุด ที่สุโขทัย

ช่วงนี้กระแสท่องเที่ยววิถีไทยกระแสแรงขึ้น บางครั้งเรายังมองข้ามและอาจรู้สึกชินกับความเป็นไทยเพราะเป็นสิ่งที่สัมผัสกันมาตั้งแต่เกิด ทำไมฝรั่งทำคลิปท่องเที่ยวไทยเราชอบ เราชื่นชม เราเข้าถึง แต่ถามว่าจะเกิดเเอคชั่นเที่ยวไทยแบบนั้นตามฝรั่งมั้ย ตอบแทนเลยว่า “อาจจะไม่” คนต่างชาติล้วนชื่นชมกับอะไรที่เป็นไทยมากเพราะฉะนั้นเราในฐานะคนไทย ตอนนี้ก็พำนักอยู่เมืองไทย ลองถามตัวเองว่าที่ชินนี่เคยได้ไปเห็นมาด้วยตัวเองมาบ้างหรือยัง ถ้าไม่เคยต้องลอง ไปด้วยกันจะพาเที่ยววิถีไทยแบบอิน อิน ที่ เมืองสุโขทัย ราชธานีเก่าแก่ที่ครั้งหนึ่งในชีวิตเราต้องหาโอกาสไปสัมผัสช่วงเวลาแห่งอดีตและร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่ควรค่าแก่การเรียนรู้

 

cover

 

ปุจฉา “ หากเรานึกถึงสุโขทัย เราจะนึกถึงอะไรที่เป็นเอกลักษณ์” วิสัชนา “อันดับแรกอุทยานประวัติศาสตร์ มาแน่แล้วละ สอง ก๋วยเตี๋ยวสุโขทัย ต้องมาชิม สามเครื่องปั้นดินเผา ถ้วยชามสังคโลก นี่ก็ใช่เลยนะ” สองอันดับแรกเราพอจะรู้บ้างว่าไปตรงไหน ยังไง แต่เครื่องปั้นดินเผามีที่ไหนได้ชมบ้างแบบที่ไม่ใช่แค่ร้านขายของฝากทั่วไป แนะนำต้องมาที่ กลุ่มเครื่องปั้นดินบ้านทุ่งหลวง หมู่บ้านหนึ่งในอำเภอคีรีมาศ  เป็นหมู่บ้านเครื่องปั้นดินเผาที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสุโขทัย เพราะที่นี่มีครบ เริ่มจากศูนย์การเรียนรู้เครื่องปั้นดินเผาจะตั้งอยู่กลางหมู่บ้าน เป็นสถานที่แสดงให้ความรู้เกี่ยวกับเครื่องปั้นดินเผาของชุมชม แสดงเครื่องปั้นดินเผาที่สวยงามในแบบต่างๆ รวมถึงอุปกรณ์เครื่องมือการทำเครื่องปั้นดินเผา เป็นเอกลักษณ์ที่สะท้อนความเป็นชุมชน

สำหรับข้อมูลแบบละเอียด คลิ๊ก กลุ่มเครื่องปั้นดินบ้านทุ่งหลวง

 

 

เครื่องปั้นดินเผา ที่บ้านทุ่งหลวงเป็นดินเผาแบบไม่เคลือบ เมื่อเผาแล้วจะมีสีแดง ต่อมามีการพัฒนารูปแบบขึ้น เช่น โคมไฟฉลุ หม้อฉลุ หม้อลายพญานาค รูปปั้นพระอภัยมณี ซึ่งเป็นที่รู้จักและนิยมกันอย่างแพร่หลาย กลายเป็นกลุ่มเครื่องปั้นดินเผาบ้านทุ่งหลวง แรกเริ่มเป็นการ คิดทำของใช้ในชีวิตประจำวันไว้ในครัวเรือน เช่น  หม้อ เตา กระทะ โอ่งน้ำ  ในช่วงว่างจากการทำนา  ใช้วัสดุดินเหนียว ทราย  ในท้องถิ่นนำมาตีปั้น เป็นรูปทรงต่างๆ ตามวัตถุประสงค์การใช้งาน

 

 

บางแบบมีลวดลายที่แตกต่างจากเครื่องปั้นดินเผาที่อื่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของบ้านทุ่งหลวงเท่านั้นค่ะ

 

 

หลังจากเดินชมศูนย์การเรียนรู้แล้ว ก็เข้าไปยังตัวหมู่บ้าน สิ่งที่สังเกตได้ง่ายเมื่อเดินทางมาถึงที่หมู่บ้านทุ่งหลวงคือ จะเห็นเครื่องปั้นดินเผา แบบต่าง ๆ ทั้งที่เป็นข้าวของเครื่องใช้ เช่นโอ่งน้ำ หม้อดินเผา กระถางต้นไม้  หรือจะเป็นของประดับจำพวก ตุ๊กตาดินเผาประดับสวน ฐานจุดเทียนหอม โคมไฟดินเผาและเมื่อเข้าสู่ตัวหมู่บ้านจะเห็นได้ว่าเกือบทุกหลังคาเรือนจะมีสินค้า เครื่องปั้นดินเผาวางจำหน่ายอยู่หน้าบ้าน

 

 

ปัจจุบันชาวทุ่งหลวงกว่า 200 ครัวเรือนยังคงผลิต เครื่องปั้นดินเผาเพื่อเป็นอาชีพ โดยจะนำดินเหนียวที่ขุดจากที่นารอบหมู่บ้านมาแช่น้ำไว้ 1 วันกับ 1 คืน จากนั้นจึงนำดินมานวด โดยในอดีตจะใช้วิธีย่ำด้วยเท้า แต่ปัจจุบันนี้มีเครื่องนวดดินมาช่วยทุ่นแรง เสร็จแล้วจึงนำดินที่นวดเรียบร้อยแล้วมาปั้น โดยวิธีปั้นจะมี 4 วิธีด้วยกัน คือการตี การขึ้นรูปด้วยแป้นหมุน การหล่อน้ำดิน และการปั้นด้วยมือ และสุดท้ายแล้วก็นำมาเผาด้วยวิธีการเผาแบบโบราณ

 

 

คุณป้ากำลังโชว์วิธีการทำหม้อกรันขนาดเล็ก  หม้อกรันที่กล่าวถึงก็คือเป็นหม้อน้ำสมัยโบราณที่เป็นแบบเฉพาะของบ้านทุ่งหลวงผลิตด้วยวิธรการผสมดินกับทราย ในอัตราส่วนค่อนข้างสูง เพื่อช่วยคายน้ำดังนั้นทำให้น้ำในหม้อกรันบ้านทุ่งหลวงมีความเย็นกว่าหม้อดินทั่วไป  แบบนี่จะย่อส่วนลงมาหน่อยคุณป้าเล่าว่า หม้อแบบนี้จะนิยมนำมาใช้ในพิธีต่างๆ เช่นใส่ข้าวใส่ น้ำ  บูชาพระแม่ธรณี แล้วก็เล่าถึงความเชื่อโบราณว่า  ถ้านำหมอกรันมาใส่ข้าวสาร 9 หยิบมือ และจุดธูป 9 ดอก บูชาในวันพระ ขอให้มีกินมีใช้ก็จะมี “ป้าเคยขอประจำลูก เวลาไม่มีค่าเทอมให้ลูก ป้าก็ขอแล้วก็ได้ตลอด”  คุณป้าท่านว่าอย่างนั้นคะ หลังจากนั้นหม้อกรันที่วางอยู่ตรงหน้าก็ได้รับการออเดอร์จากพวกเราไปหลายใบเลยทีเดียว  จริงหรือเปล่าไม่รู้ แต่รูปแบบหม้อกรันแห่งบ้านทุ่งหลวง ก็ดูสวยงามและน่าจะมีไว้ในครอบครองซักใบหนึ่ง  ราคาก็ไม่ได้แพงอะไร

 

 

เดินชมในแต่ละบ้านไปเรื่อยก็มาสะดุดตากับหม้อที่ตากเรียงรายอยู่ใต้ถุนบ้านหลังนี้ แอบเข้าไปดูซักหน่อย เจอคุณพี่ท่านนี้กำลังผลิตหม้ออย่างผู้ชำนาญ  หยิบดิน ชุบน้ำ เอามาคลึงเป็นรูป แล้วเอามาติดเป็นหูของหม้อ

 

 

บ้านหลังนี้ชื่อว่า บ้านปลาบู่ทอง จะเรียกได้ว่าเป็นแหล่งผลิตรายใหญ่ของหมู่บ้านเลยก็ได้ เพราะมีเครื่องปั้นดินเผาหลากหลายแบบ และมีทีมงานหลายคนเลยทีเดียว แต่ละแบบที่เห็นนั่งบรรจงปั้นกันแลดูยากและต้องอาศัยความใจเย็นและอดทนพอสมควร

 

 

คุณป้ากำลังนั่งปั้นรูปเหมือนขององค์รัชกาลที่ 5 ซึ่งมีคนนำแบบองค์เล็กมาจ้างให้ปั้น ให้องค์ชึ้น คุณป้ารับปั้นรูปเหมือนทุกชนิดค่ะเพียงแค่เอาแบบมาให้  ถามราคาองค์นี้ว่าเท่าไหร่ คุณป้าตอบว่าประมาณ 5 พัน กว่าบาท ใช้เวลาน่าจะประมาณอาทิตย์กว่าๆ น่าจะเสร็จ  เรามองว่าไม่แพงเลย สำหรับงานฝีมือที่ต้องบรรจงสร้างและใช้เวลาแบบนี้

 

 

เครื่องปั้นดินเผาที่เรามองแล้วต้องทึ่งในฝีมือจริงๆค่ะ สมแล้วที่เป็นต้นตำรับแห่งเครื่องปั้นดินเผาที่ขึ้นชื่อเครื่องปั้นดินเผาของที่นี่ส่งขายยังแหล่งขายเครื่องปั้นดินเผาฮิต ฮิต ที่เรารู้จักหลายที่

 

 

เมื่อถึงเวลาบ่ายแก่ก็ถึงเวลาพัก ที่พักของเรา ณ เมืองสุโขทัย คือ เอนกาย บูทีค โฮเทล  ที่พักน่ารักสไตล์บูติดโฮเทล น่าจะถูกใจคนที่ชอบพักในโรงแรมสไตล์นี้ได้ไม่น้อยเลยทีเดียว เอนกาย บูทีค โฮเตล ตั้งอยู่ในอำเภอเมือง ตรงข้ามกับวัดไทยชุมพล ตั้งอยู่ห่งจากอุทยานประวัติศสาตร์สุโขทัยประมาณ 7 กิโลเมตร เป็นที่พักเปิดใหม่ไม้ที่เปี่ยมไปด้วยเรื่องราวและความทรงจำวัยเยาว์ของเจ้าของพร้อมความตั้งใจในการทำให้เรือนไม้ดังกล่าวเป็นที่พักอันอบอุ่นเสมือนบ้านหลังที่2ของแขกทุกๆคน พร้อมกลิ่นอายของสวนสวยและร้านกาแฟสไตล์อังกฤษ

 

 

ห้องพักมีประมาณ 9 ห้อง แบ่งเป็น ชั้นล่าง 5 ห้อง และชั้นบน 2 ฝั่ง อีก 2 ห้อง ซึ่งแต่ละห้องพักได้  2 ท่าน และเสริมได้ห้องค่อนข้างกว้าง ส่วนเฟอร์นิเจอร์ที่เลือกใช้และของตกแต่ง ก็ดูเก๋ไม่เบา ราคาจะอยู่ที่  1200-1500 บาท ค่ะ ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่อยู่ในระดับกลางและค่อนข้างคุ้มค่ากับสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆที่มีให้  ห้องพักที่ตั้งอยู่ในชั้นล่าง ตกแต่งแนวEnglish country มีที่รับประทานอาหารภายในห้อง

 

 

นอกจากมีบริการห้องพักสุดฮิปแลัว หน้าที่พักยังมีกาแฟสดและเครื่องดื่มรสอร่อยบริการด้วยค่ะ รสชาติใช้ได้เลยทีเดียว แถมร้านกาแฟก็ต้องแต่ได้น่ารักมาก ก็ถือว่าเป็นที่พัก ดีไซน์น่ารัก ราคาน่าคบ อีกแห่งหนึ่งของสุโขทัย สำหรับใครที่สนใจลองเข้าไปดูรีวิวและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เอนกาย บูทีค โฮเทล 

 

 

เย็นวันนี้เรามีนัดกับพระอาทิตย์ที่ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย  หากอยากมาชมบรรยากาศของแสงสีในยามเย็นและค่ำคืน แนะนำให้มาที่วัดมหาธาตุ ซึ่งตั้งอยู่ภายในอุทยาน ฯ

 

DEW_4472

DEW_4495

 

หลังจากมาครั้งแรกแล้วอากาศครึ้มไม่เอื้ออำนวยกับการได้เห็นพระอาทิตย์ตกดวงโตเท่าไหร่ มาครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จมาก ได้เห็นพระอาทิตย์ดวงกลมโตทำมุมอยู่ด้านหลังพระพุทธรูปเก่าแก่ เป็นภาพที่เหมือนมีมนต์สะกดมาก ดูขลัง สงบ

 

DEW_4586

 

เมื่อถึงเวลาแสงหมดทางอุทยานก็เริ่มเปิดไฟ ซึ่งในเวลานี้ก็อีกหนึ่งช่วงเวลาที่นักท่องเที่ยวนิยมมาชมบรรยากาศและถ่ายภาพ

 

DEW_4516

DEW_4531

 

ค่ำนี้เรามีนัดกันต่อ ที่ ตลาดริมยม อำเภอกงไกรลาศ   เปิดให้บริการทุกวันเสาร์แรกของเดือน ตั้งแต่ 16.00-21.00 น. โดยมีรถรับ-ส่งฟรี จากบริเวณหน้าสำนักงานการท่องเที่ยว จังหวัดสุโขทัย เวลา 17.00 น.และออกจาก กงไกรลาศ เวลา 19.30 น.  ตลาดริมยมเป็นตลาดที่สามารถมาสัมผัสวิถีย่านการค้าเก่าของชาวบ้านแบบโบราณในสมัยพ.ศ 2437 ซึ่งสะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ของการค้าขายริมน้ำ ตั้งแต่การแต่งกายของพ่อค้า แม่ขาย ไปจนถึงภาชนะ อุปกรณ์ต่างๆ และการละเล่นพื้นบ้าน

 

DEW_4551

DEW_4554

 

รถสองแถวไม้โบราณสุดคลาสิค จอดรอผู้โดยสารอยู่ด้านหน้าตลาด อยู่คู่กับเมืองสุโขทัยมากว่า 40 ปี ก่อนที่สุโขทัยจะได้รับการประกาศเป็นมรดกโลก  รถสองแถวแบบนี้บางที่ก็เรียกว่า คอกหมู บางที่เรียก เรือบก ซึ่งในสุโขทัยยังมีรถแบบนี้ให้บริการอยู่จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดซึ่งชาวบ้านช่วยกันอนุรักษ์ไว้  เส้นทางที่เราจะสามารถพบเห็นรถสองแถวแบบนี้วิ่งอยู่อย่างเช่น สายสุโขทัย กงไกรลาศ  สายสุโขทัยเมืองเก่า

 

DEW_4578

 

หิวกันแล้วย้อนกลับเข้าเมือง เพื่อมาลิ้มรสผัดไทโบราณขึ้นชื่อ ร้านป้าแอ๋ว ร้านผัดไทยชื่อดังแห่งสุดโขทัย  มองภายนอกเป็นร้านริมฟุตบาตที่แสนจะธรรมดา แต่ต้องรอคิวค่อนข้างนานพอสมควรเพราะลูกค้าเยอะมาก แต่ถ้าได้รับประทานแล้วบอกเลยว่าอร่อยสมกับการรอคอย จนต้องเบิ้ลสองจานกันแน่ กับเส้นผัดไทยที่นุ่ม รสชาติกล่มกล่อม กุ้งสดตัวโต พร้อมจัดเต็มผักเครื่องเคียงแบบไม่อั้นหยิบได้ตามใจ  ร้านคุณป้าไม่ได้ขายแต่ผัดไทยค่ะ แต่มีก๋วยเตี๋ยวสุโขทัยด้วย รสชาติแจ่มไม่แพ้กัน  อยากมาทานพิกัดร้านตั้งอยู่ตรง ถนนจรดวิถีถ่อง ในตัวเมือง ใกล้ศูนย์อีซูซุ เปิดขายทุกวันยกเว้นวันอังคาร ตั้งแต่ 18.00 – 22.30 น.

 

Untitled-1

 

เช้าวันใหม่กับอาหารมือเช้า มาลองชิมร้านที่เค้าว่าขึ้นชื่อของสุโขทัย นั่นก็คือ  กนกภัณฑ์ ร้านนี้ขายทั้งก๋วยเตี๋ยวต้มยำสุโขทัย  ขนมจีบหมูกุ้ง  เราตั้งใจมาทานซาลาเปากับขนมขนมจีบซาลาเปา เห็นว่าที่ร้านสาขาที่พิษณุโลกด้วยค่ะ ความรู้สึกส่วนตัวสำหรับรสชาติที่ได้ลองทาน ยังจัดว่าธรรมดาไม่ถึงขนาดว่าอร่อยมากต้องมาทานประมาณนั้น

 

Untitled-2

 

อิ่มท้องแล้วเราก็เดินทางไปที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย สำหรับการท่องเที่ยวภายในอุทยานฯ สามารถนำรถส่วนตัวเข้ามาได้เพราะแต่ละจุดจะตั้งอยู่ค่อนข้างห่างกัน บางแห่งก็อยู่กันคนละฟากถนนกันเลยทีเดียว  หรือสำหรับใครที่ชอบปั่นจักรยานออกกำลังกายบริเวณหน้าอุทยานก็มีจุดให้เช่าจักรยานบริการ  จุดหมายแรกที่เราแวะ คือ หอพระพุทธสิริมารวิชัย  ซึ่งจะตั้งอยู่ก่อนถึงวัดศรีชุม นั่นเอง โดยปกติแล้วนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะมองข้ามที่จะแวะที่นี่กันจะมุ่งหน้าไปยังวัดศรีชุมกันมากกว่า เรามาทำความรู้จักกับที่นี่กันค่ะ ว่ามีความสำคัญและน่าสนใจอย่างไร

 

DEW_4592

DEW_4594

 

ความสำคัญของ หอพระพุทธสิริมารวิชัย  คือ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิริมารวิชัย พระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัยสมัยสุโขทัยที่เก่าแก่ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของสุโขทัย เดิมชาวสุโขทัยเรียกท่านว่า “หลวงพ่องาม” หรือ “หลวงพ่อสุโขทัย” เคยประดิษฐานอยู่ที่วัดใหม่ ในเมืองเก่าสุโขทัย ก่อนจะถูกอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดราชธานี แต่ต่อมาในปี 2511 ได้เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ขึ้นในเมืองสุโขทัย ทำให้พระพุทธรูปองค์นี้หักพังเสียหายเป็นชิ้นๆ จึงได้นำมาเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง ในเมืองเก่าสุโขทัย ต่อมาทางกรมศิลปากร ธนาคารไทยพาณิชย์ และจังหวัดสุโขทัยจึงได้ร่วมกันบูรณะซ่อมแซมหลวงพ่องามขึ้นใหม่ รวมทั้งสร้างหอพระที่ประดิษฐานให้แก่พระพุทธรูป เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 ชันษา ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเบิกพระเนตรพระพุทธสิริมารวิชัย เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2535 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามของพระพุทธรูป ว่า “พระพุทธสิริมารวิชัย” ซึ่งมีความหมายว่า พระพุทธเจ้าผู้ชนะมารด้วยสิริ

 

DEW_4597

 

ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนลงบนผืนผ้าใบแล้วนำไปติดบนผนังซึ่งเป็นเทคนิคสมัยใหม่ที่ทำให้รูปเขียนคงทน ซึ่งภาพจิตรกรรมเหล่านั้นมีทั้งเรื่องราวพุทธประวัติตอนมารวิชัย มีภาพเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ในสมัยสุโขทัย ทั้งด้านศาสนา การเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม นอกจากนั้นยังมีภาพพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการอนุรักษ์พระพุทธสิริมารวิชัยอีกด้วย

 

DEW_4599

DEW_4601

DEW_4605

 

จากหอพระพุทธสิริมารวิชัย  มาต่อกันที่อีกหนึ่งวัดไฮไลต์ของอุทยาน นั่นก็คือ วัดศรีชุม ซึ่งเป็นที่ประดิษฐาน พระอจนะพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยขนาดใหญ่สูงถึง 15 เมตร วัดนี้จะค่อนข้างคึกคักไปด้วยนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มาชมความงดงามขององค์พระรวมถึงมากราบไหว้ขอพรกันด้วย

 

DEW_4656

DEW_4645

DEW_4647

 

มาต่อกันที่ วัดสะพานหิน  วัดนี้อาจมีคนรู้จักน้อยและไม่ค่อยเป็นที่นิยมมากเท่าไหร่ แต่เป็นอีกหนึ่งโบรานสถานที่งดงามมากค่ะ วัดนี้ตั้งอยู่บนเนินลูกเตี้ยสูงประมาณ 200 เมตร มีทางเดินปูด้วยหินชนวนแผ่นบางๆ จนถึงบริเวณลานวัด  ตอนเดินขึ้นไปก็ต้องใช้พลังงานกันเล็กน้อย

 

DEW_4712

 

ข้างบนมีวิหารก่อด้วยอิฐ มีเสาก่อด้วยศิลาแลง 4 แถว 5 ห้อง ภายในเป็น ที่ประดิษฐาน พระปางประทานอภัยสูง 12.50 เมตร เรียกว่า  พระอัฏฐารศ

 

DEW_4698

DEW_4703

DEW_4706

 

วิวเมื่อมองจากข้างบน ยังแอบคิดว่าถ้ามาตอนเช้าในวันที่มีสายหมอกบางคงงดงามน่าดู

 

DEW_4683

DEW_4685

 

รถจักรยานของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจอดอยู่ตรงบริเวณทางขึ้น ช่างขยันปั่นและแข็งแรงกันจริงๆ

 

DEW_4721

 

ที่สุดท้ายของสถานที่ในวันที่สอง ศาลพระแม่ย่า หากใครมาสุโขทัยต้องหาโอกาสมากราบไหว้ขอพรค่ะ ศาลพระแม่ย่าเป็นปูชนียสถานที่สำคัญของสุโขทัย  พระแม่ย่า เป็นเทวรูปหิน สลักด้วยหินชนวน เป็นรูปสตรีวัยสาว มีเครื่องประดับอย่างสตรีโบราณผู้สูงศักดิ์ เป็นที่เคารพสักการะของประชาชน ทั้งในจังหวัดสุโขทัยประประชาชนโดยทั่วไป ใครมีเรื่องทุกข์ร้อนก็จะไปกราบไหว้ตั้งจิตอธิษฐานขอความช่วยเหลือจากพระแม่ย่า เล่ากันว่ามักจะได้ดังที่ขอ

 

DEW_4723

DEW_4727

 

ปิดท้ายการท่องเที่ยว มื้อกลางวันมาอิ่มท้องด้วยของดีเมืองสุโขทัยอีกหนึ่งอย่าง นั่นก็คือ  ก๋วยเตี๋ยวสุโขทัย “ร้านไม้กลางกรุง” ร้านอาหารบรรยากาศดีตกแต่งแบบไทยโบราณ รสชาติอร่อยแบบต้นตำหรับ บรรยากาศด้านหน้าร้านร่มรื่นด้วยต้นไม้นานาชนิด

 

 

ภายในร้านตกแต่งด้วยข้าวของเครื่องใช้โบราณอย่าง ตะเกียงเก่า ชามสังคโลก หรือเครื่องปั้นดินเผา แม้แต่พนักงานในร้านรวมถึงเจ้าของร้านจะแต่งตัวแบบไทยให้เข้ากับบรรยากาศของร้าน

 

 

เนนูแนะนำมีให้เลือกทานหลายอย่าง เริ่มจากออเดิฟเป็นอาหารทานเล่น  ข้าวเกรียบปากหม้อ เสิร์ฟแบบโบราณโดยราดหน้าด้วยน้ำกะทิสดและโรยงาตาม รสชาติกลมกล่อม โดยเฉพาะแป้งมีความอ่อนนุ่ม  เมนูเด็ดแน่นอนต้องไม่พลาด ก๋วยเตี๋ยวสุโขทัย สูตรต้นตำรับ มีทั้งแบบน้ำและแบบแห้ง รสชาติของก๋วยเตี๋ยวจะออกไปทางหวานนิดหน่อย โดยจะไม่ใช่ถั่วงอก แต่จะเป็นถั่วฝักยาวแทน ในส่วนเครื่องปรุงต่างๆ จะเน้นในเรื่องของความสด สะอาด โดยเฉพาะถั่วบด ทางร้านจะคั่วและบดเอง สดใหม่ทุกวัน  นอกจากนี้ยังมีอาหารจานเดียวซึ่งเป็นเมนูขึ้นชื่อหลายอย่างเช่น ข้าวคลุกกะปิ ข้าวผัดปลาทู ข้าวคลุกกะปิ ข้าวคั่วไก่ ผัดไทกรอบ  อาหารทุกเมนูใช้ใบตองเป็นภาชนะรองใส่อาหารมาเสิร์ฟ ดูน่ารัก น่าทาน แบบไทย  มาเที่ยวจังหวัดสุโขทัยกันแล้วก็อย่าลืมแวะมารับประทานก๋วยเตี๋ยวสุโขทัยสูตรต้นตำรับที่ร้านไม้กลางกรุง  รับรองว่าคุณจะต้องประทับในบรรยากาศแบบไทยแท้ รวมถึงรสชาติอาหารและการบริการที่ประทับใจของเจ้าของร้านและพนักงานแน่นอน  ร้านตั้งอยู่ที่ถนนจรดวิถีถ่อง ตรงกันข้ามกับบริษัทอาคเนย์ประกันภัย เปิดตั้งแต่  09:00 – 16:00 เบอร์ติดต่อ 055-621-882

 

 

2 วัน 1 คืน กับการเที่ยวสุโขทัยแบบอิน อิน ทำให้รู้สึกว่าการท่องเที่ยววิถีไทยแบบนี้ก็เป็นอะไรที่สนุกและน่าสนใจได้เช่นกัน สำหรับการเดินทางครั้งนี้ต้องขอบคุณการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กองภาคเหนือที่ให้โอกาสไปด้วยกันได้ไปสัมผัสและเจาะลึกกับจังหวัดนี้ได้รู้จักและหลงรักสุโขทัยเพิ่มมากขึ้นค่ะ

ผู้เขียน

นักเดินทางที่ชอบถ่ายภาพ อยากส่งต่อเรื่องราวของการท่องเที่ยว จากประสบการณ์ที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน

บทความที่เกี่ยวข้อง