ศาลเจ้าแม่โต๊ะโม๊ะ สุไหงโกลก

ศาลเจ้าแม่โต๊ะโม๊ะ สถานที่สำคัญอันเป็นที่นับถือของชาวสุไหงโกลกและชาวจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงชาวจีนในมาเลเซีย ที่พากันเดินทางมาสักการะเป็นประจำ ตั้งอยู่ที่ซอยภูธร ถนนเจริญเขต ในเขตเทศบาลตำบลสุไหงโกลก เดิมทีเจ้าแม่โต๊ะโมะนี้ประดิษฐานอยู่ที่บ้านโต๊ะโมะ อำเภอสุคิริน ต่อมาชาวบ้านได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่อำเภอสุไหงโกลก เป็นที่นับถือของชาวสุไหงโกลก และชาวจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งชาวจีนในประเทศมาเลเซีย ทุกๆ ปี จะมีการจัดงานประเพณีประจำปีที่บริเวณศาลเจ้า ตรงกับวันที่ 23 เดือนสามของจีน (ประมาณเดือนเมษายน) ในงานจะมีกิจกรรมมากมาย เช่น มีการจัดขบวนแห่เจ้าแม่ ขบวนสิงโต ขบวนเองกอ ขบวนกลองยาว และยังมีการลุยไฟด้วย

 

ศาลเจ้าแม่โต๊ะโม๊ะ

ศาลเจ้าแม่โต๊ะโม๊ะ

ศาลเจ้าแม่โต๊ะโม๊ะ

ศาลเจ้าแม่โต๊ะโม๊ะ

 

ตำนานศาลเจ้าแม่โต๊ะโม๊ะ

ตำนานกล่าวว่า แต่เดิมนั้น เจ้าแม่เป็นชาวจีน บิดาเป็นผู้ตรวจราชการมณฑลฮกเกี้ยน เจ้าแม่มีพี่น้องทั้งหมด 6 คน เจ้าแม่คือผู้ที่ทางครอบครัวได้บนบานเพื่อขอจากเจ้าแม่กวนอิม โดยถือกำเนิดเมื่อปี พ.ศ.1503 และเชื่อว่าเจ้าแม่เกิดในวันที่ 23 เดือน 3 ในวัยเด็กเจ้าแม่เป็นผู้มีความเฉลียวฉลาดมาก อ่านท่องตำราเล่มโตๆ เพียงครั้งเดียวก็จดจำได้หมด เมื่อเจ้าแม่อายุ 16 ปี ได้เกิดเหตุอัศจรรย์ เมื่อได้พบกับเซียนตนหนึ่งซึ่งปรากฏตัวจากบ่อน้ำแล้วลอยขึ้นสู่ท้องฟ้า สาวใช้ที่อยู่กับเจ้าแม่ตกใจ วิ่งหนีไปจนหมด เหลือแต่เจ้าแม่เท่านั้นที่เมื่อเห็นเซียนแล้ว ก็จึงคุกเข่าแสดงความเคารพ เซียนจึงมอบคัมภีร์ให้เจ้าแม่หนึ่งเล่ม เจ้าแม่ศึกษาคัมภีร์อย่างแตกฉาน จนชีวิตเปลี่ยนแปลงไปอย่างพิสดาร เพราะสามารถช่วยปกป้องผองภัยให้ชาวเมืองได้ และยังมีฤทธิ์เหาะเหินไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในท้องทะเล จึงทำให้ชาวเมืองผู้อาศัยอยู่ริมทะเลพากันเลื่อมใสศรัทธาในคุณความดีของเจ้าแม่ และชาวเมืองได้ร่วมกันสร้างศาลเพื่อสักการบูชาเจ้าแม่

ตำนานระบุว่า ในปี พ.ศ.1523 วันที่ 8 เดือน 9 เจ้าแม่เบื่อความวุ่นวายทางโลก จึงออกแสวงหาความสงบ โดยได้เดินทางไปยังเหมยซาน หรือภูเขาเหมย บรรดาญาติพี่น้องและผู้คนเห็นเจ้าแม่เดินบนอากาศ โดยมีก้อนเมฆอยู่ใต้เท้า จากนั้นก็มีลมพัดพาร่างเจ้าแม่หายลับไปในกลีบเมฆ แล้วก็ไม่มีใครเห็นเจ้าแม่อีกเลย

หากอ้างตามตำนาน ก็จะเห็นได้ว่าเจ้าแม่มาจู หรือเจ้าแม่โต๊ะโมะไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับจังหวัดนราธิวาสเลย แล้วเหตุใด ผู้คนจึงสร้างศาลเจ้าแม่ขึ้นที่จังหวัดนราธิวาสคำตอบคือ ในยุคที่มีการหาทองคำในเขตภูเขาโต๊ะโมะ (ปัจจุบันคือตำบลภูเขาทอง) อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาสช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 หัวหน้าขุดหาทองคำ ชื่อกัปตันคิว และคนงานล้วนนับถือเจ้าแม่มาจู จึงอัญเชิญท่านไปในการขุดหาแหล่งทองคำ และก่อนจะสำรวจก็จะต้องอัญเชิญเจ้าแม่ให้ประทับร่างทรง มีอยู่ครั้งหนึ่งร่างทรงของเจ้าแม่บอกว่าบริเวณที่จะสำรวจนั้นอันตราย และห้ามสำรวจต่อไป แต่ชาวฝรั่งเศสผู้ได้รับสัมปทานหาแร่ทองคำไม่เชื่อ แล้วสั่งให้สำรวจต่อไป จนในที่สุดได้เกิดดินถล่มทับคนงานกว่าร้อยชีวิต เมื่อเจ้าของสัมปทานเห็นเหตุการณ์เลวร้ายเกิดขึ้น จึงเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าแม่ แล้วสั่งให้กัปตันคิวเดินทางไปประเทศจีนเพื่ออัญเชิญองค์จำลองของเจ้าแม่มาประดิษฐาน ณ ศาลเจ้าที่แหล่งสำรวจในอำเภอสุคิริน จากนั้นทุกครั้งก่อนจะสำรวจหาทองคำ เจ้าแม่ในร่างประทับทรงก็จะชี้แนะให้ขุดหาพบแร่ทองคำทุกครั้ง จนทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าแม่แพร่กระจายไปทั่วจังหวัด และเมืองใกล้เคียง แล้วจากนั้นก็มีการถวายนามว่า เจ้าแม่โต๊ะโมะ ต่อมาเมื่อเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา ก็จำต้องยุติการทำเหมืองทองคำ ผู้คนก็หนีกระจัดกระจายไป แล้วทิ้งศาลเจ้าแม่ให้ร้าง จนกระทั่งสงครามยุติลง ลูกชายของกัปตันคิวได้กลับขึ้นไปยังเขาโต๊ะโมะแต่ไม่พบรูปปั้นเจ้าแม่ จึงนำกระถางธูปจากศาลไปไว้ในศาลที่หมู่บ้านเจ๊ะเห อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส แล้วต่อมาได้นำกระถางธูปนี้ไปไว้ที่บ้านสามแยก อำเภอแว้ง แล้วสร้างองค์จำลองของเจ้าแม่ขึ้นมา จากนั้นต่อมาก็ได้มีการสร้างศาลถวายเจ้าแม่ที่อำเภอสุไหงโก-ลก เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2495 โดยในวันที่ 23 เดือน 3 ตามปฏิทินจีน ซึ่งจะอยู่ในช่วงเดือนเมษายน จะถือว่าเป็นวันเกิดของเจ้าแม่มาจู ซึ่งจะมีการจัดงานเทศกาลเฉลิมฉลองประจำปีให้กับเจ้าแม่ ซึ่งงานเฉลิมฉลองนี้ยังจัดต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน

 

ผู้เขียน

นักเดินทางที่ชอบถ่ายภาพ อยากส่งต่อเรื่องราวของการท่องเที่ยว จากประสบการณ์ที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน

บทความที่เกี่ยวข้อง