วัดนางสาว สมุทรสาคร

วัดนางสาว วัดเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งของสมุทรสาคร ตั้งอยู่ไม่ไกลจากัดท่าไม้ ภายในวัดมีโบราณสถานที่สำคัญ คือ พระอุโบสถที่มีลักษณะพิเศษเป็นโบสถ์ที่มีฐานโค้งเป็นรูปเรือสำเภาก่ออิฐ  มีประตูเข้าออกเพียงประตูเดียวไม่มีหน้าต่าง ชาวบ้านเรียกว่า “โบสถ์มหาอุต” ภายในโบสถ์มีภาพจิตรกรรมฝาผนังลงรักปิดทองที่มีความอ่อนช้อยและงดงามมาก นอกจากนี้ภายในวัดยังมีสิ่งก่อสร้างที่งดงาม ทั้งพระวิหารที่ที่ด้านหน้ามีบันไดพญานาคที่งดงาม วิหารประดิษฐานองค์หลวงพ่อดำ หลวงพ่อวัดป่าเลย์ไลย์จำลอง

 

 

โบสถ์มหาอุตหลังคามุงกระเบื้องดินเผาแบบเก่า ขื่อข้างบนใช้ไม้ซุงทั้งต้น มีเสมาคู่เป็นหินทรายขนาดเล็กอยู่รอบๆโบสถ์ ปัจจุบันพระอุโบสถมหาอุตตม์นี้ คงเหลืออยู่น้อยมากภายในประเทศไทย อาจเหลืออยู่เพียง 3-4 แห่งเท่านั้น ถือได้ว่าเป็นศาสนโบราณสถานอันศักดิ์สิทธิ์ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ บริเวณผนังโดยรอบงดงามด้วยลวดลายปูนปั้นที่มีสีสันงดงาม

 

 

ภายในโบสถ์มหาอุตประดิษฐานองค์พระประธาน บริเวณผนังงดงามด้วยเรื่องราวของภาพจิตกรรมแบบลงรักปิดทอง ให้ความรู้สึกเหมือนได้ย้อนกลับไปในกรุงศรีอยุธยาโบราณ มีมนต์ขลังมากๆ

 

 

วิหารที่ประดิษฐานหลวงพ่อดำ และหลวงพ่อวัดป่าเลย์ไลย์จำลอง มีความงดงามอลังการ โดดเด่นด้วยบันไดพญานาค และรูปปั้นยักษ์ทวารบาล

 

 

 

ประวัติของวัดนางสาว

ความเป็นมาของวัดมีเรื่องเล่ากันว่า เมืองสาครบุรี คือ เมืองชายทะเลตอนใต้ของกรุงศรีอยุธยา เมื่อเกิดสงครามในพม่าชาวไทยกลุ่มหนึ่งได้อพยพหนีมาตามริมแม่น้ำท่าจีน คนชราและผู้หญิงได้พากันไปหลบซ่อนในโบสถ์เก่า ต่อมาคนไทยได้ช่วยกันต่อสู้กับทหารพม่าจนได้รับชัยชนะ และผู้ที่อพยพมาได้ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณนั้น ในกลุ่มนี้มีสองพี่น้องที่เคยอาศัยโบสถ์หลบหนีภัย ทั้งสองมีความคิดที่จะบูรณะโบสถ์ใหม่ แต่พี่สาวเห็นว่าโบสถ์ทรุดโทรมมากจึงไปสร้างวัดใหม่แทน น้องสาวต้องการทำตามสัจจาธิษฐานของตนว่าถ้ารอดตายจะบูรณะซ่อมแซมโบสถ์ จึงดำเนินการบูรณะจนเสร็จและตั้งชื่อว่า วัดพรหมจารีย์ ต่อมาชาวบ้านเรียกว่า วัดน้องสาว จนปัจจุบันเพี้ยนมาเป็น วัดนางสาว

ผู้เขียน

นักเดินทางที่ชอบถ่ายภาพ อยากส่งต่อเรื่องราวของการท่องเที่ยว จากประสบการณ์ที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน