พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน

พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ตำรวจตระเวนชายแดนค่ายพระรามหก ประกอบด้วยหมู่พระที่นั่งใหญ่ปลูกเรียงรายไปตามแนวชายหาด สร้างขึ้นด้วยไม้สักทองทั้งหลัง ตั้งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติของพรรณไม้ร่มรื่นและหาดทรายขาวสะอาด ผสานเสียงเกลียวคลื่นดังกระทบฝั่งอยู่เป็นระยะๆ นับเป็นบรรยากาศที่สงบและรื่นรมย์ดุจดังแต่กาลก่อน

 

 

 

 

รูปแบบสถาปัตยกรรมพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน มีใต้ถุนที่โปร่งโล่งเปิดรับลมทะเลที่พัดเข้าสู่หมู่พระที่นั่งให้ความเย็นสบายตลอดวัน หลังคาทรงปั้นหยาซึ่งกันแดดและฝนได้ดี กระเบื้องมุงหลังคาทำด้วยซีเมนต์เคลือบสีแดง แนวระเบียงเชื่อมองค์พระที่นั่งทั้งสามอย่างฝรั่ง ที่เรียกว่า คัฟเวอร์เวย์ ให้ความสะดวกสบายและปลอดภัยในการสัญจรไปมา ไม่ต้องเดินขึ้นลงบันไดบ่อยๆ พื้นระเบียง และพระที่นั่งทำด้วยไม้สักลงเงาดูโอ่อ่าสวยงามยิ่ง ส่วนเพดานใช้คานไม้ดัดโค้งบรรจุระหว่างช่วงเสาทุกช่วงตลอด แนวระเบียง เพิ่มความอ่อนช้อยให้กับพระราชนิเวศน์ เช่นเดียวกับสถาปัตยกรรม ยุโรปซึ่งจัดจังหวะโค้งของวงกบหน้าต่างตอนบนให้ ความอ่อนหวานและยังคงได้รับความนิยมสืบมาจนถึงปัจจุบัน

 

 

พระราชนิเวศน์แห่งนี้มีตำนานที่เล่าขาน สืบเนื่องมาจากเมื่อคราวที่พระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี ทรงพระครรภ์์นั้น องค์พระมหาธีรราช เจ้าทรงพระเกษมสำราญยิ่งด้วยทรงมุ่งหวังว่าจะทรงมีพระปิโยรส แต่ความหวังทั้งมวลก็สิ้นสลายเมื่อ สมเด็จพระนางเจ้าฯไม่สามารถ มีพระประสูติกาลได้ ยามนั้นพระองค์ท่านทรงอภิบาลพระมเหสีด้วยน้ำพระทัยเป็นห่วงและเศร้าสร้อย ณ พระที่นั่งสมุทรพิมานแห่งนี้ จึงเป็นที่มาของชื่อพระราชวังแห่งความรักและความหวัง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จ มาประทับ ณ พระราชนิเวศน์มฤคทายวันพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสุวัฒนาฯ อีกครั้งระหว่างวันที่ 12 เมษายน ถึงวันที่ 20 มิถุนายน 2468 การเสด็จครั้งนี้เสมือน หนึ่งการเสด็จมาเพื่ออำลาพระราชนิเวศน์ที่ทรงรักโดยแท้ เพราะเมื่อเสด็จกลับพระนครแล้วต่อมาไม่นานก็เสด็จสวรรคต

 

 

สิ่งที่น่าภายในพระราชนิเวศน์

พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ประกอบด้วย พระที่นั่งสามองค์ คือ พระที่นั่งสโมสรเสวกามาตย์ พระที่นั่งสมุทรพิมาน

 

พระที่นั่งสโมสรเสวกามาตย์
สร้างเพื่อเป็นที่ประชุมและจัดงานสโมสรต่างๆ รวมถึงการแสดงละคร ซึ่งพระองค์โปรดอย่างยิ่ง ลักษณะเป็นอาคารไม้สองชั้น รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ชั้นล่างเป็นโถงโล่ง ชั้นบนด้านทิศใต้มีระเบียงเป็นที่ี่ประทับ เวลาเสด็จออก และมีระเบียบรอบปล่อยส่วนกลางโล่ง หลังระเบียงที่ประทับ มีห้องซึ่งปัจจุบันจัดแสดงเรื่องราวและสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับความเป็นมาและการบูรณะพระราชนิเวศน์แห่งนี้ ไว้อย่างน่าชม

 

พระที่นั่งสมุทรพิมาน

มีทางเดินเชื่อมต่อจากพระที่นั่งสโมสรเสวกามาตย์ลงมาทางใต้ พระที่นังองค์นี้เคยเป็นที่ประทับในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ อาคารด้านหน้า ประกอบด้วย ห้องสรง ห้องพระบรรทม และห้องทรงพระอักษร ซึ่งมีการจัดวาง สิ่งของเครื่องใช้ และเครื่องเรือน ส่วนพระองค์ให้ชม อาคารส่วนกลางเป็นห้องโล่งกว้างมีเพียงลูกกรงกั้นโดยรอบ ลักษณะคล้ายศาลา เป็นที่ซึ่งพระองค์โปรดประทับ ในเวลากลางวัน ปัจจุบันจัดตั้งโต๊ะหมู่บูชาประดิษฐาน พระบรมรูปให้คนทั่วไปได้สักการะ อาคารด้านหลังปีกทางทิศใต้ เคยเป็นที่ ประทับของพระนางเจ้าสุวัทนาพระวรราชเทวี ในการเสด็จประทับครั้งที่ 2 จากด้านหน้าของพระที่นั่งองค์นี้ มีทางเดินทอดยาวไปจด ชายหาดพร้อม ทั้งมีพลับพลาสำหรับเปลี่ยนเครื่องทรงเมื่อเสด็จลงสรงน้ำทะเลด้วย

 

พระที่นั่งพิศาลสาคร
อยู่ถัดจากพระที่นั่งสมุทรพิมาน ไปทางทิศใต้ เคยเป็นที่ประทับของพระนางอินทรศักดิ์ศจี ในการเสด็จมาประทับครั้งแรกและเป็น กลุ่มอาคารสำหรับฝ่ายในมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน และเป็นเอกเทศจากส่วนที่ประทับ มีบันได ขึ้นลงชายหาดและพลับพลา ริมทะเลซึ่งทอดขนานไปกับพระที่นั่งสมุทรพิมาน ซึ่งเป็นส่วนของฝ่ายหน้า

 

สวนเวนิสวานิชสวนที่ได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างจากบทพระราชนิพนธ์เรื่องเวนิสวานิช ที่แปลมาจากเรื่องThe Merchant of Venice ของวิลเลี่ยม เช็กสเปียร์ นักประพันธ์ชื่อก้องโลกชาวอังกฤษ ที่พระองค์ท่านทรงคงลีลาและฉันทลักษณ์การแปลไว้คำต่อคำใกล้เคียงกับ ต้นฉบับจริง มากที่สุดสวนแห่งนี้ออกแบบในสไตล์เรอเนส ซองและที่กำหนด สร้างไว้ ณ จุดหน้าสุดของเขตพระราชฐานก็เพื่อเป็นจุดนัดพบ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เฉกเช่นเดียวกับเมืองเวนิส ที่เป็นสถานที่พบปะของผู้คน และเป็นแหล่งการค้า ในบทประพันธ์ของเช็กสเปียร์

 

สวนศกุนตลา
ลานกว้างที่ใช้ต้นเข็มนานาพันธุ์ทำเป็นกำแพงล้อมรอบสวน พื้นที่ภายในสวนแห่งนี้ใช้เป็นเหมือนเวทีจัดการแสดง อาทิ การแสดงโขน การแสดงละครในฤดูหนาว รวมถึงการจัดเลี้ยงรับรองต่างๆ จากสวนศกุนตลาพื้นอิฐหกเหลี่ยมสีแดงอ่อนตัดกับสนามหญ้าสีเขียว ทอดยาวพาเราไปด้านหน้าทางขึ้นพระราชวังที่รายล้อมด้วยความร่มรื่นของไม้ยืนต้นนานาพันธุ์ และพุ่มไม้ดอกที่แข่งกันชูช่อ ประชันสี ราวกับภาพเขียนสีน้ำมันที่จิตรกรเอกบรรจงวาดไว้อย่างสุดฝีมือ

 

สวนมัทนะพาธา
รอบด้วยระเบียงทั้งสามด้าน ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากพระราชนิพนธ์เรื่องมัทนะพาธา หรือตำนานดอกกุหลาบ อันเป็นบทละครพูด คำฉันท์ที่มีการใช้สัมผัสและฉันทลักษณ์ได้ถูกต้องและมีความไพเราะยิ่ง และได้รับการยกย่องว่าเป็นยอดบทละครพูดคำฉันท์ “สวนมัทนะพาธา ได้รับการตกแต่งอย่างสวยงามด้วยแนวไม้พุ่มลายอ่อนช้อย โดยเลือกใช้ต้นข่อย ซึ่งมีพุ่มหนาแน่น ทนต่อแดด และไอทะเลได้ดีนั่นเอง

พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน เปิดให้เข้าชมทุกวัน
– วันจันทร์-วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.00 – 16.00 น.
– วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดราชการ ตั้งแต่เวลา 08.30–16.00 น.
– ค่าเข้าชม ชาวไทยและชาวต่างประเทศ ผู้ใหญ่ 30 บาท เด็ก 15 บาท
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 3250 8039

ผู้เขียน

นักเดินทางที่ชอบถ่ายภาพ อยากส่งต่อเรื่องราวของการท่องเที่ยว จากประสบการณ์ที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน