พระบรมธาตุแช่แห้ง น่าน

พระบรมธาตุแช่แห้ง ตั้งอยู่ที่บ้านหนองเต่า กิ่งอำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน  ห่างจากตัวเมืองราว 2กม. เป็นพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองและ ปูชนียสถานที่สำคัญของเมืองน่าน มีอายุกว่า 600 ปี แสดงให้เห็นถึงแบบอย่างสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมสกุลช่างน่านอันงดงาม ตามประวัติกล่าวว่า พญาการเมืองโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1891 เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่ได้มาจากกรุงสุโขทัย บุด้วยทองเหลืองทั้งองค์ เป็นโบราณสถานที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งของล้านนา พระบรมธาตุแช่แห้ง ทุกปีจะมีงานนมัสการ พระบรมธาตุแช่แห้ง ระหว่างวันขึ้น 11 ค่ำ ถึง 15 ค่ำเดือน 6 ทางเหนือ ซึ่งจะอยู่ราวปลายเดือนกุมภาพันธ์หรือต้นเดือนมีนาคมของทุกปี

 

 

พระบรมธาตุแช่แห้ง มีความสูง55.5 เมตร ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ 22.5 เมตร เป็นศิลปะการก่อสร้าง ที่มีความวิจิตรงดงามอีกแห่งหนึ่งของภาคเหนือ เป็นศิลปะการก่อสร้าง ที่ได้รับอิทธิพล การก่อสร้างมาจากเจดีย์พระธาตุหริภุณไชย โดยมีลักษณะโดยรอบขององค์พระธาตุ คือ จะมีการบุรอบองค์ด้วยทองจังโก ในส่วนของทางเดินขึ้นสู่งองค์พระธาตุเป็นตัวพญานาค หน้าบันเหนือประตูทางเข้าลักษณะของการปั้น จะเป็นลายนาคเกี้ยวที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของช่างฝีมือและของศิลปะของจังหวัดน่านโดยแท้จริง ชาวเมืองล้านนามีความเชื่อว่า การได้เดินทางไปสักการบูชากราบไหว้นมัสการองค์พระธาตุแซ่แห้ง หรือชาวล้านนาจะเรียกกันว่า การชูธาตุ แล้วนั้นจะทำได้รับอานิสงค์อย่างแรงกล้า ทำให้ชีวิตอยู่ดี มีสุข ปราศจากโรคภัยต่างๆ มาเบียดเบียน หน้าที่การงานเจริญก้าวหน้า เป็นต้น และหากใครที่จะเดินทางได้นมัสการองค์พระธาตุแซ่แห้ง นั้น สามารถเดินทางไปได้ทุกวัน ซึ่งจะเปิดให้เข้านมัสการตั้งแต่เวลา 06.00-18.00 น.

 

 

สิ่งที่น่าสนใจ

วิหารหลวง

อยู่ทางด้านทิศใต้ขององค์พระธาตุเป็นวิหารขนาดใหญ่ 6 ห้อง ห้องกลางมีขนาด 3 ห้อง และต่อชั้นลดออกไปทางด้านหน้า 2 ห้องและ ด้านหลัง 1 ห้อง ภายในวิหารหลวงมีพระเจ้าล้านทองเป็นพระประธาน พุทธลักษณะปาง มารศรีวิชัยศิลปะล้านนา ประทับนั่งบนฐาน เป็นพระพุทธรูปองค์ที่สวยงามในจังหวัดน่านองค์หนึ่งและเป็นพระพุทธรูป คู่บ้านคู่เมืองมาช้านาน พระพุทธรูปประทับยืนประดิษฐานในวิหารหลวงจำนวน 2 องค์ ปัจจุบันองค์จริงมอบให้พิพิธภัณฑ์ จ.น่าน อีกองค์ถูกโจรกรรมและยังไม่ได้กลับคืน องค์ที่เห็นจำลองจากองค์จริงทำพิธีหล่อเททองเมื่อ ปี 2550 หน้าบันประตูของวิหารหลวงเป็นปูนปั้นลายนาคเกี่ยวกระหวัดกัน 8 หัว เอกลักษณ์ของศิลปะเมืองน่าน

 

วิหารพระเจ้าทันใจ
สร้างด้วยคอนกรีตหลังคาไม้มุงด้วย กระเบื้องดิน รูปแบบวิหารโถง ทรงจัตุรมุข กว้าง 11 เมตร ยาว 11เมตร และรอยพระพุทธบาทจำลองที่มีการบูรณะใหม่และงดงามยิ่งขึ้น

 

เจดีย์วัดพระธาตุแช่แห้ง
องค์กระธาตุแช่แห้งเป็นพระธาตุที่มีขนาดสูง 55.5 เมตร ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ 22.5 เมตร มีสีเหลืองอร่าม เนื่องจากบุด้วยแผ่นทองเหลือง ลักษณะของเจดีย์ทรงระฆัง ส่วนฐานทำเป็นฐานหน้ากระดานสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ รองรับฐานบัวลูกแก้วย่อเก็จ ถัดขึ้นไปเป็นฐานหน้า กระดานสี่เหลี่ยมและแปดเหลี่ยมซ้อนลดหลั่นกัน 3 ชั้นองค์ระฆังมีขนาดเล็กบัลลังก์ ทำเป็นแท่นสี่เหลี่ยมย่อเก็จ ฐานหน้ากระดานกลมเป็นกระดานสี่เหลี่ยมและแปดเหลี่ยม และชั้นบัวคว่ำเหนือฐานแปดเหลี่ยม ตกแต่งคล้ายกลีบบัวหรือลายใบไม้แทนลายดังกล่าวนี้คงได้รับอิทธิพลจากศิลปะพม่า ซึ่งนำมาต่อเติมขึ้นภายหลัง เมื่อล่วงเข้า พุทธศตวรรษที่ 24 แล้ว

 

บันไดนาค
บันไดนาค 2 ตัว คู่กันซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าทางเข้าพระบรมธาตุซึ่งสามารถเห็นวิวทิวทัศน์ของเมืองน่านได้ในบริเวณกว้าง

 

 

ผู้เขียน

นักเดินทางที่ชอบถ่ายภาพ อยากส่งต่อเรื่องราวของการท่องเที่ยว จากประสบการณ์ที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน