เดินเที่ยวด้วยสองขา ที่บ้านสามขา

เดินเที่ยวด้วยสองขา ที่บ้านสามขา

1

 

“งานแกะสลักไม้ ผ้าฝ้ายสีธรรมชาติ ปศุสัตว์ไร่นา ข้าวปลากาแฟ ล้วนแต่เกษตรอินทรีย์ ” บ้านสามขา ต.หัวเสือ อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ชื่อที่อาจฟังดูแปลกนี้ มีที่มาจากตำนานของหมู่บ้านที่เล่าสืบต่อกันมาเป็นนิทานในท้องถิ่น เกี่ยวกับการย้ายถิ่นฐานของบรรพบุรุษจากบ้านเหล่าหนองปล้อง งูใหญ่ และเก้งสามขา สะท้อนความเชื่อดั้งเดิมของคนในพื้นที่ หากใครสนใจตำนานดังกล่าวลองค้นหาดูจากอินเทอร์เน็ตได้ไม่ยาก แต่หากใครที่ชื่นชอบบรรยากาศลมโชย มองไปเห็นท้องนาสุดลูกหูลูกตา ทอดสายตาไปก่อนจะพบภูเขาลูกโตมีหมอกปกคลุมอยู่เบื้องบนแล้วละก็ ไปเยือนบ้านสามขากันเถอะ

 

2

 

ชุมชนเข้มแข็ง เกษตรอินทรีย์

ปัจจุบันบ้านสามขา มีจำนวนประชากรประมาณ 170 ครัวเรือน ชาวบ้านนิยมใช้น้ำจากยอดดอยในชีวิตประจำวันโดยไม่ต้องเป็นกังวลเรื่องสารเคมีตกค้างในแหล่งน้ำ เนื่องจากทุกคนสืบทอดวิถีชีวิตเกษตรกรอย่างพึ่งพาอาศัยธรรมชาติ ใช้ภูมิปัญญาตั้งแต่บรรพบุรุษผสมผสานกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่มาปรับใช้ ทำให้การทำไร่นาปลูกข้าว ปลูกกาแฟ เลี้ยงวัว เลี้ยงควาย ฯลฯ ดำเนินไปบนพื้นฐานของการเกษตรอินทรีย์ทุกครัวเรือน นอกจากส่งผลดีกับสุขภาพของชาวบ้านแล้ว ยังเป็นมิตรกับเราซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวที่เข้าไปเยือนบ้านสามขาอีกด้วย

3

 

 เที่ยวได้ทั้งสายลุย และสายศิลป์

                ไม่เพียงแต่มีจุดเด่นในการเป็นหมู่บ้านเกษตรอินทรีย์ แต่หากใครได้มาเยือนที่นี่ ยังมีกิจกรรมให้คุณได้สัมผัสแบบครบทุกรสชาติเลยทีเดียว ใครที่เป็นสายลุย ชอบการเรียนรู้วิถีชีวิตการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับป่า ก็มีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้เดินทางสำรวจป่าและชมพันธุ์ไม้พื้นถิ่น ลองหุงข้าวประกอบอาหารแบบดั้งเดิมด้วยมือคุณเองโดยมีชาวบ้านสามขาคอยแนะนำอยู่ข้าง ๆ นอกจากจะย้อนอดีตของชาวบ้านแล้ว ยังคล้ายว่า เราย้อนกลับไปเป็นลูกเสือเนตรนารีกันอีกครั้ง

ส่วนใครที่เป็นสายศิลป์ ที่นี่ก็มีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้ลองทำงานศิลปะหัตถกรรมอย่างง่าย ๆ เช่น ทำตุง ทำโคม ตัดพวงมโหตร นำกลับไปเป็นของที่ระลึกอวดเพื่อน ๆ ได้ด้วย

4

 

แต่ถ้าอยากเห็นงานศิลปะของจริงที่บ้านสามขาแล้วละก็ เชิญที่ “ป๋างไม้” ที่จัดแสดงศิลปะการแกะสลักไม้โดยช่างท้องถิ่นบ้านสามขา แต่ฝีมือนี่ขอบอกเลยว่า “ไม่ธรรมดา อื้อหือ ไม่ธรรมดา…”

เมื่อผู้ชายในหมู่บ้านแกะสลักไม้กัน ฝ่ายหญิงก็ไม่ยอมน้อยหน้า มีการรวมกลุ่มกันทอผ้าฝ้าย และแน่นอนว่าสีที่ใช้ย้อมผ้าของบ้านสามขานี้ก็เป็นสีที่ได้จากธรรมชาติ ตามวิถีเกษตรอินทรีย์ สีอาจจะไม่ฉูดฉาดสดใสแต่รับรองได้ว่าไม่มีสารเคมีที่เป็นพิษต่อผิวหนัง ไม่ทำลายสุขภาพแน่นอน ชาวบ้านทอผ้าจากกี่ด้วยวิธีการดั้งเดิม ผ้าที่ได้ดูมีความสุขุม เรียบง่าย เหมือนวิถีชีวิตของชาวบ้านสามขาแห่งนี้

 

5

 

แอ่งเล็กเช็คอิน ที่บ้านสามขา

เที่ยวจนเหนื่อยอ่อน ถึงคราวต้องหาที่พักผ่อนหย่อนใจสักหน่อย บรรยากาศยามเย็นลมโชยมา พร้อมกับแสงสีส้มของดวงอาทิตย์ที่กำลังจะลับขอบฟ้า ฉาบทาทุกสิ่งภายใต้รัศมีให้เป็นสีเหลืองทอง เงาของทิวเขาทอดยาวบนทุ่งนา รวงข้าวในนาโบกสะบัดไปตามแรงลม กลิ่นหอมกาแฟคั่วมือจาก “บ้านเฉลิมสุข” หอมกรุ่นมาแต่ไกล เจ้าของร้านบรรจงยกมาเสิร์ฟให้ที่โต๊ะ

รวดเร็วราวเร่งเวลา แสงสุดท้ายของวันถูกแทนที่ด้วยแสงจากหลอดไฟของบ้านสามขาโฮมสเตย์ มื้อค่ำของวันถูกจัดใส่ขันโตก วางอยู่ข้างหน้า อาหารน่ากินทั้งหลายนี้ ปรุงจากวัตถุดิบปลอดสารในหมู่บ้าน วางเรียงในภาชนะทำจากกระบอกไม้ไผ่ ดื่มด่ำบรรยากาศชนบทแสนสุขได้อย่างจุใจ อิ่มแล้วก็ได้เวลาอาบน้ำก่อนจะเข้านอน เมื่อจะอาบน้ำสระผม ลองพลิกฉลากขวดแชมพูดูสักหน่อย นั่นก็ฝีมือชาวบ้านสามขาเป็นผู้ผลิตเช่นกัน

 

 รายละเอียดการเดินทาง 

จากตัวเมืองลำปาง สามารถใช้เส้นทางสายลำปาง-เด่นชัย มุ่งตรงไปทางจังหวัดแพร่ ตรงมาเรื่อย ๆ สังเกตป้อมตำรวจนาดู อยู่ทางซ้ายมือ เลี้ยวซ้ายเข้ามาตามทาง จะพบป้ายบอกทางมาที่บ้านสามขาตลอดทาง จากจุดนี้ตรงเข้าไปอีกประมาณ 11 ก.ม. บ้านสามขาก็คอยต้อนรับเราอย่างอบอุ่นอยู่เบื้องหน้าแล้ว
แล้วพบกันที่บ้านสามขา

“บ้านสามขา” จ.ลำปาง เป็นส่วนหนึ่งของโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ถูกขับเคลื่อนพัฒนาประเทศตามโครงการ “ไทยนิยม ยั่งยืน” จากการที่รัฐบาลปัจจุบัน มีนโยบายลดความเหลื่อมล้ำของสังคมที่มุ่งสร้างรายได้และความเจริญ ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ โดยให้ภาคเอกชนและภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการร่วมกันภาครัฐ เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินงานโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) และการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งอย่างแท้จริง เพื่อสร้างรอยยิ้ม คืนความสุข เพื่อคนไทยทุกคน และหากใครที่ชื่นชอบการท่องเที่ยว วิถีชีวิต ภูมิปัญญา และวัฒนธรรมแบบไทย ๆ สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.nawatwithi.com หรือ www.facebook.com/nawatwithi

ผู้เขียน

นักเดินทางที่ชอบถ่ายภาพ อยากส่งต่อเรื่องราวของการท่องเที่ยว จากประสบการณ์ที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน