ทุ่งหญ้า 1500 ไร่ กุยบุรี ทุ่งหญ้า Unseen ฟีลสวิสเซอร์แลนด์

ทุ่งหญ้า 1500 ไร่  ทุ่งหญ้าสีเขียวสุดกว้างไกล ตั้งอยู่เขตพื้นที่อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ถ่ายรูปกับฝูงแพะและท่ามกลางทุ่งหญ้า มีฉากหลังสุดอลังการของเทือกเขาตะนาวศรีที่เรียงรายสวยงามสมสลับซับซ้อน บรรยากาศเหมือนสวิสเซอร์แลนด์ แถมยังมีอุโมงค์ต้นไม้ทอดยาวกลางทุ่งหญ้า ให้แชะภาพสุดปังอีกเป็นจุดแวะเที่ยวกุยบุรี ที่ต้องแวะมาสูดอากาศบริสุทธิ์ ชมบรรยากาศสีเขียวได้แบบสบายตา ยกให้เป็นทุ่งหญ้าแบบธรรมชาติที่สวยงามที่สุดในเมืองไทย

 

ทุ่งหญ้า 1500 ไร่  ตั้งอยู่ในบ้านหมู่บ้านรวมไทย โซนท่องเที่ยวเดียวกับอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์อีกแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ก่อนถึงอุทยานและไม่ไกลกันมากนัก  การเดินทางเข้ามาชมทุ่งหญ้า เข้ามาในบ้านรวมไทย มีซอยเล็กๆเป็นถนนดินแดงผสมกับหินผ่านอุโมงค์ต้นไม้ที่ทอดยาว ขับรถต้องค่อยๆและระวังหินนิดนึง ระหว่างทางจะมีช่องทางดินที่สามารถนำรถเข้าไปในทุ่งหญ้าได้แบบใกล้ชิด โดยทุ่งหญ้าแบ่งเป็นสองฝั่ง ฝั่งซ้ายหญ้าจะสั้นติดกับดิน เป็นหญ้าที่วัวชอบกิน ส่วนอีกฝั่งจะค่อนข้างเต็มแน่นและสูงกว่า

 

 

ทุ่งหญ้าแห่งนี้เป็นพื้นที่ในความดูแลของสถานีพัฒนาอาหารสัตว์กรมปศุสัตว์ ที่ปลูกหญ้าไว้นับพันไร่ ให้ชาวบ้านซึ่งเป็นเกษตรกร นำสัตว์ที่เลี้ยงไว้ ทั้ง วัว แพะ มากินหญ้าเป็นอาหาร โดยหญ้าที่ปลูกไว้ เป็นหญ้า 2 สายพันธุ์ คือ หญ้ารูซี่ และหญ้าแพงโกล่า ใช้สำหรับเลี้ยงโค กระบือ ด้วยความสวยงามของทุ่งหญ้าที่มีวิวเป็นมีภูเขาโอบล้อมสวยงาม รวมทั้งมีฝูงสัตว์น้อยใหญ่ที่ชาวบ้านจะต้อนเข้ามากิยหญ้าตามธรรมชาติ  จากทุ่งหญ้าที่ใช้เลี้ยงสัตว์ธรรมดา กลายเป็นทุ่งหญ้าสีเขียวสวยงาม จุดท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของเมืองประจวบที่ไม่ควรพลาด 

 

 

 ระหว่างทางจะเห็นฝูงวัวที่กำลังแทะเล็มหญ้ามองหน้า และมีการทำลวดเส้นเล็กๆกั้นไว้ไม่ให้วัวออกมา แต่จะมีช่องให้เราเดินเข้าไปได้ แค่เห็นภาพครั้งแรกก็ว้าวมาก ทุ่งหญ้า ภูเขา ทิวต้นไม้และต้นสน บรรยากาศเหมือนทุ่งหญ้าในต่างประเทศ น้องวัวสีผิวสวยละมุน ทั้ง สีขาวครีม บางตัวก็มีสีน้ำตาลอ่อนถึงเข้ม  วัวบางตัวจะมองเราแบบพร้อมบวกมาก  หน้าตาสงสัยว่าเธอเป็นใคร จะมาทำอะไรฉันหรือเปล่า ยืนมองน้องอยู่ห่างๆน่าจะดีกว่า ไม่ควรเข้าไปใกล้มาก

 

 

แพะตัวน้อย ที่มากินหญ้าอีกฝั่งหนึ่ง หญ้าฝั่งนี้จะสูงกว่าหญ้าทางฝั่งที่น้องวัวแทะ ลมพัดที่หนึ่งทุ่งหญ้าก็พริ้วไหวสวยงาม เราสามารถเดินเข้าไปถ่ายรูปในทุ่งหญ้าใกล้ชิดกับน้องแพะได้ แต่ต้องเดินด้วยความระมัดระวังเพราะบางจุดทุ่งหญ้าจะแน่นเต็มจนมองไม่เห็นพื้นดิน เราไม่รู้ว่าพื้นดินมีอะไรอยู่บ้าง ส่วนน้องแพะเมื่อเห็นคนเดินเข้าไปหา น้องจะเดินหนี เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะได้ถ่ายแบบใกล้ชิดอาจจะยากสักหน่อยค่ะ ยกเว้นเราจะถือหญ้าเดินเข้าไปหามัน แต่ตามที่บอกว่า สัตว์ที่นี่เลี้ยงให้กินหญ้าตามธรรมชาติ ไม่ได้มีหญ้าขายให้เราเดินไปเลี้ยงแพะเหมือนบางที่

 

 

ถนนในทุ่งหญ้า เราสามารถขับรถวนและจอดบนเส้นทางที่ได้จัดทำไว้ จากนั้นก็เดินเข้าไปในทุ่งหญ้า ถ่ายรูปน้องแพะน้องจะเดินทั่วทุ่งหญ้าค่ะ แทะหญ้าตรงจุดนี้แล้วจะมูฟไปยังจุดอืนต่อ เพราะฉะนั้นวิวที่เห็นในแต่ละมุมจะไม่เหมือนกัน

 

 

 

มองจากมุมนี้ จะมองเห็นฝูงวัวและแพะที่ ยืนกินหญ้าอยู่เยอะมาก ยืนเกาะกลุ่มเป็นฝูงตามเนินเล็กๆไล่ระดับกันไป ซึ่งสัตว์แต่ละกลุ่ม คือ ของชาวบ้านที่ต้อนมากินหญ้านั่นเอง บางจุดก็จะได้เห็นยืนใกล้กับอุโมงค์ต้นไม้ จะได้ภาพอีกมุมหนึ่งที่สวยเหมือนกัน ตั้งแต่เห็นทุ่งหญ้าในเมืองไทยที่สามารถเข้าไปถ่ายรูปได้มาหลายที่ ยกให้ทุ่งหญ้า 1500 ไร่ แห่งกุยบุรี สวยที่สุด มองไปทางไหน ถ่ายรูปมุมไหนคือ สวย และเป็นความสวยที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติแบบไม่ได้ปรุงแต่ง

 

 

มีมุมต้นไม้เดียวดายในทุ่งหญ้าด้วยค่ะ มองเห็นวัว แต่จะสีเข้มหน่อยยืนอยู่ไม่ไกล

 

 

ขับรถออกมาจากทุ่งหญ้าวนเข้ามาในอุโมงค์ต้นไม้ เป็นต้นจามจุรียักษ์ที่ปลูกเรียงรายตลอดสองฝั่งถนน จากภาพมุมสูงจะเห็นว่าปลูกคั่นกลางระหว่างทุ่งหญ้าอีกฝั่งหนึ่ง ระยะทางในอุโมงค์จากปากซอยทางเข้าไปจนสุดทาง น่าจะยาวประมาณ 2-3 ก.ม. มองแล้วเป็นภาพที่สวยแปลกตา แบบไม่มีที่ไหนเหมือนอีกแล้ว 

 

 

ระหว่างทางสามารถจอดรถและถ่ายรูปกับอุโมงค์ต้นไม้ได้ค่ะ มองเห็นจุดไหน โค้งไหนสวย ก็จอดรถลงไปถ่ายรูป หามุมที่ถูกใจกันได้เลย เป็นทุ่งหญ้าที่กว้างมาก และมุมถ่ายภาพเยอะมถ่ายรูปกันแบบเพลินมาก คนในพื้นที่บอกว่าในช่วงปลายฝนต้นหนาว ในวันที่สภาพอากาศปลอดโปร่ง ช่วงเช้ามาชมพระอาทิตย์ขึ้นบริเวณทุ่งหญ้า มีสายหมอกลอยมาบางน่าจะสวยมาก ได้ยินแบบนี้แล้ว ต้องกลับมาเก็บบรรยากาศสวยๆอีกครั้ง กุยบุรี ไม่ได้อยู่ไกล จากหัวหินและปราณบุรีมาก ขับรถมาประมาณชั่วโมงกว่าก็ถึงแล้ว ลองแวะมาเที่ยวเก็บความเป็นธรรมชาติในโซนนี้กันได้ค่ะ รับรอง Unseen แน่นอน

 

 

 

ผู้เขียน

นักเดินทางที่ชอบถ่ายภาพ อยากส่งต่อเรื่องราวของการท่องเที่ยว จากประสบการณ์ที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน