ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์ ฉันเชื่อว่ายังไม่ค่อยมีใครได้เห็นภาพโครงการหลวงแห่งนี้บ่อยนัก หรืออาจเรียกว่าอาจไม่เคยเห็นเลยก็ได้ เพราะหากพูดถึงที่พักบ้านวัดจันทร์ อาจมีแต่ภาพบ้านพักขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้(อปป) ลอยเข้ามาในความคิด ที่นี่ถือว่าเป็นพื้นที่ในความดูแลของโครงการหลวงเช่นกัน หลายคนจึงมักเรียกติดปากว่า โครงการหลวงวัดจันทร์ แต่ที่ตั้งหลักของ โครงการหลวงวัดจันทร์ ที่แท้จริงอยู่ห่างจากบ้านพักของอ ป ป ไปพอสมควร ตั้งอยู่เลยวัดจันทร์ หรือโบสถ์เรย์แบรนด์ไปยังบ้านเด่น ที่นี่มีทั้งที่พัก พื้นที่กางเต็นท์ รวมถึงกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้เราได้รื่นรมย์ไปกับบรรยากาศ
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์ ตั้งอยู่ที่บ้านเด่น อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอีกหนึ่งโครงการหลวงที่จัดตั้งขึ้นตามแนวพระราชดำริเพื่อส่งเสริมด้านอาชีพ พืชพันธุ์ ผัก และผลไม้เมืองหนาวให้แก่ราษฎร ประชากรส่วนใหญ่ทีอาศัยอยู่รอบศูนย์ คือ ชาวไทยภูเขา เผากะเหรี่ยง ที่ยังคงรักษาไว้ถึงประเพณีและวัฒนธรรมของท้องถิ่นไว้อย่างเหนียวแน่น เพราะฉะนั้นเมื่อเราย่างกรายเข้ามาในดินแดนแห่งนี้ นอกจากได้สัมผัสความบริสุทธิ์ของธรรมชาติของป่าสนนับพันไร่แล้ว ความสงบเรียบง่ายของวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้าน คือ อีกสิ่งหนึ่งที่น่าหลงใหล
บรรยากาศอันร่มรื่นภายในศูนย์ ซึ่งในช่วงฤดูฝนเขียวขจี ป่าสนกลายเป็นสีเขียว หากมาเที่ยวในฤดูหนาวจะกลายเป็นอีกบรรยากาศนั้นคือ ป่าสนจะเริ่มเปลี่ยนสี แต่ไม่ว่าจะเป็นช่วงฤดูใด สิ่งหนึ่งที่ฉันคิดว่าน่าจะเหมือนกัน คือ ความเงียบสงบ และความบริสุทธิ์ของธรรมชาติ
บ้านพักของศูนย์มีทั้งหมด 4 หลัง 1 หลัง มี 2 ห้อง พักได้ห้องละ 2-6 คน ที่นี่อากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี โดยเฉพาะฤดูหนาวอากาศหนาวมาก บางวันตอนกลางคืนเลขตัวเดียว ภายในห้องพักมี เครื่องนอน ทีวี พัดลม ห้องน้ำในตัวและเครื่องทำน้ำอุ่น ส่วนราคาที่พักแค่หลักร้อยเท่านั้น
ส่วนใครที่ชื่นชอบบรรยากาศแนวแคมปิ้ง มีลานกว้างสำหรับกางเต็นท์ท่ามกลางป่าสน ไม่มีเต็นท์ส่วนตัวมีบริการให้เช่า นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้คงจะชื่นชอบการพักแนวนี้จริงๆ มาเพื่อสิ่งนี้โดยเฉพาะ สังเกตได้จากอุปกรณ์ที่เตรียมมาพร้อมมาก ฉันเดินไปรอบศูนย์ ออกไปเที่ยวยังสถานที่ข้างนอกกลับมายังบ้านพัก พี่ๆยังนั่งอยู่ตรงเต็นท์เหมือนเดิม ดูเพลิดเพลินไปกับกิจกรรมที่เตรียมมา เช่น ทำการข้าวทาน อ่านหนังสือ นั่งคุยกัน เรียกว่า มาเพื่อพักผ่อนอยู่นิ่ง ฟังเสียงนกเสียงไม้ กิจกรรมอื่นไม่ต้อง
เดินเล่นรอบศูนย์มาที่อาคารผลผลิต เป็นที่รับและคัดผลผลิตของชาวบ้านที่นำมาส่งยังโครงการหลวงเพื่อนำไปจำหน่ายยังที่ต่างๆ โครงการหลวงวัดจันทร์ ถือว่าได้เป็นแหล่งทดลองปลูกพืชผักเมืองหนาวชั้นดี เพราะอากาศที่ดีและเย็นสบาย เจ้าหน้าที่ใจดีเห็นเรากำลังถ่ายภาพก็ยิ้มหวานต้อนรับ
ตรงข้ามกับอาคารผลผลิต คือ แปลงทดลองปลูกอโวคาโด ซึ่งในเวลานี้ เริ่มให้ผลผลิตเต็มต้น
น้องนกเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์เดินมาถามว่า จะไปให้อาหารปลาที่อ่างเก็บน้ำด้วยกันมั้ยค่ะ เป็นที่เที่ยวอีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจอยู่ไม่ไกลจากศูนย์ น้องมาพร้อมกับผักที่คัดทิ้งจากโรงรับผลผลิตเมื่อซักครู่ บอกว่าจะเอาผักนี้ไปให้ปลากิน มีหรือจะพลาดตอบตกลงไปด้วยในทันที เส้นทางไปยังอ่างเก็บน้ำเป็นดินแดง ทางลูกรัง สมบุกสมบันพอสมควร รถที่เข้ามาได้ ควรเป็นรถโฟรวิล อ้อ รถมอเตอร์ไซต์ก็เข้ามาได้ ระหว่างทางนั่งรถส่วนกับน้องขาวเขาเป็นระยะ มาให้อาหารปลาที่อ่างเก็บน้ำเช่นกัน
นั่งรถโยกไปมาประมาณครึ่งชั่วโมง ก็มาถึงอ่างเก็บน้ำ ชื่อ เต็มว่า อ่างอนุรักษ์พันธุ์ปลาห้วยฮ่าง ติดกับอ่างเก็บน้ำเป็นสำนักสงฆ์สำหรับปฎิบัติธรรม มีพระอาจารย์จำพรรษาอยู่ 1 รูป ซึ่งพระอาจารย์เป็นผู้ดูแลคอยปลูกดอกไม้ต่างๆ รอบอ่างเก็บน้ำให้บรรยากาศสวยงามและร่มรื่น คนที่มาเที่ยวก็จะได้ทำบุญให้อาหารปลาอย่างรื่นรมย์ บรรยากาศโดยรอบอ่างเก็บน้ำรายล้อมไปด้วยป่าสนซึ่งในเวลานี้ กลายเป็นสีเขียวขจี
ฉันมาถึงช่วงบ่ายแดดส่องเปรี้ยง ช่วงเวลาที่เหมาะจะมาเที่ยวอ่างเก็บน้ำน่าจะเป็นในช่วงเช้าหรือไม่ก็ช่วงเย็นในยามที่มีแสงอ่อนของพะอาทิตย์ หากมาเที่ยวในฤดูหนาวช่วงเช้าน้องบอกว่าจะได้พบกับบรรยากาศของไอหมอกลอยเหนือน้ำเช่นเดียวกับที่อ่างเก็บน้ำขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้
น้อง 2 คนนี้ คือ เจ้าหน้าที่จากศูนย์ที่มาด้วยกัน ระหว่างนั่งรถฉันมีโอกาสคุยกับน้องทั้ง 2 คน ถามว่าน้องยังดูวัยรุ่นน่าจะชอบอยู่ในเมืองมากกว่า ทำไมเลือกมาทำงานที่นี่ เรียกว่าห่างไกลจากความเจริญและแสงสี อยู่ในป่า ในเขา น้องตอบด้วยรอยยิ้มแห่งความสุขว่า หนูชอบ ตั้งแต่สมัยเรียนเลือกมาฝึกงานที่โครงการหลวง ชอบทำงานอยู่ในบรรยากาศแบบนี้ สนุกดี ฉันฟังแล้วยิ้ม เพราะสำหรับฉันไม่ได้มีความหมายแค่เพียงชอบหรือสนุก แต่งานที่น้องทำนั้น เป็นประโยชน์กับผู้อื่น ได้ช่วยชาวบ้านให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตามรอยพระราชดำริของในหลวงที่ได้ทรงจัดตั้งโครงการหลวงแต่ละแห่ง ฉันรู้สึกว่าเจ้าหน้าที่ที่มาทำงานประจำอยู่ตามศูนย์ต่างๆ เรื่องใจรักต้องมาก่อน เพราะงานส่วนใหญ่คือ ออกนอกพื้นที่ดูแปลงเกษตร ต้องตากแดด ตากลม อยู่กับชาวบ้าน ไม่ใช่งานที่นั่งสบายอยู่ในห้องแอร์แบบงานออฟฟิศ
กลับมายังศูนย์ เดินชมแปลงเกษตร ซึ่งตั้งอยู่ติดกับอ่างเก็บน้ำ เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมท่องเที่ยวเมื่อมาถึงที่นี่ แปลงผักในช่วงฤดูฝน ค่อนข้างเงียบเหงา ผลผลิตที่ปลูก คือ ฟักทองญี่ปุ่น และผักคะน้า ส่วนในฤดูหนาวพื้นที่ตรงนี้ก็แปรเปลี่ยนเป็นเป็นพืชผักผลไม้เมืองหนาวอื่น
ส่วนต้นสีเขียวมีลักษณะเหมือนต้นหญ้านี้ มองตอนแรกก็แปลกใจ คือต้นอะไร น้องเจ้าหน้าที่บอกว่า คือ ต้นหน่อไม้ฝรั่ง ปกติกินแต่ก้าน เพิ่งจะเคยเห็นต้นจริงๆ ก็วันนี้ มองไปมาก็สวยดีค่ะ เขียวพลิ้วไหวไปตามลม
บ่ายแก่ๆ ฉันยังคงเดินเล่นเก็บภาพ ที่นี่เงียบสงบและธรรมชาติมาก ในขณะเดียวกันอากาศก็เริ่มเย็นขึ้น
ฉันเดินมาที่ร้านอาหารตามเวลานัดหมายของน้องนก ว่าอาหารมื้อเย็นตั้งเวลา 5 โมง ครึ่ง ภายในส่วนของที่นั่งทานอาหารเป็นโต๊ะไม้เรียบง่าย บรรยากาศดีมองเห็นอ่างเก็บน้ำ
ระหว่างรออาหารมาเสริฟ ฉันมองไปยังผนังเห็นภาพพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพื้นที่โครงการหลวงวัดจันทร์ ซึ่งพระองค์เสด็จมาที่นี่ถึง 4 ครั้ง แรกเริ่มนั้นทรงทราบถึงความทุกข์ยากของชาวบ้านในพื้นที่ ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขาชนเผ่ากะเหรี่ยง โดยทำนาในพื้นที่ลุ่มระหว่างหุบเขา มีการถางป่าทำไร่เลื่อนลอยในที่ดอน เส้นทางคมนาคมไม่เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิต จึงมีพระราชดำริให้มีการพัฒนาบ้านวัดจันทร์และหมู่บ้านใกล้เคียง เพื่อให้ราษฎรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ได้อ่านพระราชกรณียกิจทั้ง 4 ครั้ง จึงทราบว่าพระองค์ทรงทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้กับที่นี่มากมายเหลือเกิน
อาหารมื้อเย็น หน้าตาน่ารับประทาน ประกอบไปด้วยผักสดที่เป็นผลผลิตจากศูนย์ทั้งหมด โดยเฉพาะฟักทองญี่ปุ่นซึ่งเป็นผลผลิตหลัก มื้อนี้เราได้ทานพร้อมกับน้ำพริกปลากระป๋องเป็นน้ำพริกสูตรเด็ดของที่นี่ ต้มฟักทองใส่ไก่ หน่อไม้ต้ม และผักยอดฟักแม้ว อาหารอร่อยทุกอย่างวัตถุดิบสด ดี มาปรุงยังไงก็อร่อย แต่ติดใจในรสชาติฟักทองมาก เพราะหวานอร่อย เนื้อนุ่มกำลังดีไม่เละ คือ ทานฟักทองญี่ปุ่นมาหลายที่ ไม่อร่อยเท่าที่โครงการหลวงวัดจันทร์ กลับมาถึงกรุงเทพยังมีเพ้อละเมอถึงรสชาติ
เช้าวันกลับฉันเดินเล่นสูดอากาศ ชมวิวทิวทัศน์รอบศูนย์ นั่งรถออกมาข้างนอกชมบรรยากาศของนาข้าวที่เขียวขจีริมถนน ช่วงนี้เข้าสู่ฤดูทำนาต้นข้าวยังเป็นกล้าเล็กรอวันเติบโต ซึ่งน่าจะกลายเป็นต้นข้าวสูงเต็มที่ในช่วงเดือนกันยายน หากใครอยากมาชมนาเขียวเต็มท้องทุ่งก็ควรมาในช่วงเดือนนี้ หลังจากที่ได้เลื่อนอ่านรีวิวนี้จบ เราคงรู้จัก ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์ กันมากขึ้น ว่าพื้นที่ของศูนย์หน้าตาเป็นเช่นไร น่ามานอนพักผ่อนแค่ไหน
รายละเอียดเพิ่มเติม
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์ ตั้งอยู่ที่บ้านเด่น อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่
โทร 084 365 5405
รายละเอียดบ้านพัก
บ้านพักจำนวน 4 หลัง มีทั้งห้องแบบ 2 ท่าน และ 6 ท่าน
ห้อง 2 ท่าน ช่วงไฮซีซั่น ราคา 600 บาท ช่วงโลวซีซั่น ราคา 400 บาท
ห้อง 6 ท่าน ช่วงไฮซีซั่น 1800 บาท โลวซีซั่น 1200 บาท
สำหรับอาหารหากไม่ได้เตรียมมาเองสามารถแจ้งทางศูนย์ให้เตรียมได้ โดยคิดราคาเป็นมื้อ
Tags : ท่องเที่ยวโครงการหลวง, เที่ยวอำเภอกัลยาณิวัฒนา, เที่ยวโครงการหลวง, โครงการหลวง, โครงการหลวงวัดจันทร์