พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชหฤทัยมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฏรเสมือนหนึ่งเป็นความทุกข์ของพระองค์ พระองค์จึงทรงมีพระราชดำริ ที่จะพัฒนาความเป็นอยู่ของราษฎรให้เกิดความ “พออยู่ พอกิน” ด้วยพระอัจฉริยภาพในด้านต่างๆ จึงก่อให้เกิดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากมายกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ทั้งโครงการเกี่ยวกับดิน น้ำ ป่า และวิศวกรรม กว่า 3,000 โครงการ โครงการพระราชดำริแตกต่างจากโครงการหลวง คือ เป็นโครงการที่ทรงวางแผนพัฒนาเสนอแนะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการ ส่วนโครงการหลวงเป็นโครงการที่ทรงพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดตั้งขึ้น ภายใต้ชื่อ มูลนิธิโครงการหลวง จึงเป็นโครงการส่วนพระองค์ โครงการพระราชดำริ นอกจากจะเปิดให้บุคคลทั่วไปได้ศึกษาดูงานให้ได้เรียนรู้ถึงพระราชกรณียกิจอันยิ่งใหญ่ที่ได้ทรงสร้างไว้ให้กับปวงชนชาวไทยในฐานะพ่อของแผ่นดินแล้ว สถานที่บางแห่งยังมีทัศนียภาพที่สวยงามได้พักผ่อนหย่อนใจไปกับบรรยากาศรอบด้าน ไปด้วยกันได้รวบรวม 15 เส้นทางท่องเที่ยวโครงการในพระราชดำริ เดินตามรอยพ่อ มาฝากค่ะ
โครงการชั่งหัวมัน เพชรบุรี
โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ ตั้งอยู่ใน อ. ท่ายาง จ. เพชรบุรี ประวัติที่มาของโครงการนี้ เริ่มที่พระองค์ท่านประทับอยู่ ณ วังไกลกังวลแล้วมีชาวบ้านนำมันเทศมาถวาย แต่ช่วงนั้นพระองค์ ต้องเสด็จกลับกรุงเทพเลยรับสั่งให้ เจ้าหน้าที่นำหัวมันเทศนั้นไปวางไว้บนตาชั่งในห้องทรงงาน เวลาล่วงเป็นเดือน เมื่อเสด็จกลับมาหัวหินทรงพบว่ามันเทศนั้นได้แตกใบ เลยตรัสว่า “มัน อยู่ที่ไหนก็ขึ้น” จึงมีพระราชดำริให้จัดหาที่ดิน เพื่อทำโครงการด้านเกษตร โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอท่ายางจังหวัดเพชรบุรี ที่มีพื้นที่ค่อนข้างแห้งแล้ง ทรงพระราชทานพันธุ์มันเทศ ซึ่งงอกออกมาจากหัวมันที่ตั้งโชว์ไว้บนตาชั่งในห้องทรงงานให้นำมาปลูกไว้ที่ที่ดินแปลงนี้พระราชทานชื่อโครงการว่า “โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ” ส่วนหนึ่งของโครงการนี้ได้ให้ชาวบ้านเข้ามาศึกษาดูงาน นับเป็นโครงการส่วนพระองค์ที่แท้จริงรวมถึงเป็นพื้นที่ให้ศึกษาดูงานสำหรับ ประชาชนทั่วไป นักเรียน นักศึกษา มาได้เป็นครอบครัวหรือหมู่คณะ โดยได้มีรถรงพานำชมทั่วไร่พร้อมวิทยากรบรรยายตามแต่ละจุด
ข้อมูลเพิ่มเติม โครงการชั่งหัวมัน
โครงการปิดทองหลังพระ น่าน
โครงการปิดทองหลังพระ ตั้งอยู่ใน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน เป็นโครงการตามแนวพระราชดำริ โดยแนวทางของโครงการ ก็คือ เริ่มต้นด้วยการลดการใช้พื้นที่ป่า แสวงหาวิธีปลูกข้าวแบบใหม่ โดยนำวิธีการทำนาขั้นบันไดบนพื้นที่ ภูเขา แทนข้าวไร่ เพื่อแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน โดยเน้นให้ชาวบ้านคิดเอง แต่ภาครัฐจะเข้าไปให้ความรู้เพื่อหาต้นแบบที่เหมาะสม ในการแก้ปัญหาการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับป่าในพื้นที่ป่าต้นน้ำ โครงการที่นี้ไม่ใช่แค่ขุดนาขั้นบันไดอย่างเดียว ยังรวมไปถึง การสร้างบ่อกักเก็บน้ำ ฝาย การปลูกถั่วเหลือง รวมไปถึงการเลี้ยงสัตว์ด้วย จากภูเขาหัวโล้นกลายเป็นความเขียวขจีสวยงามของนาข้าวที่ มีลายเส้นโค้งงดงาม ตามไหล่เขาเป็นนาข้าวขั้นบันไดบนภูเขา ที่ใหญ่อีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดน่าน
ข้อมูลเพิ่มเติม โครงการปิดทองหลังพระ
โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ที่ ตำบลคลองขุด อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ได้เริ่มก่อตั้งตามพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้พิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสมจัดทำโครงการพัฒนาด้านอาชีพการประมง และการเกษตรในเขตพื้นที่ดินชายฝั่งทะเลจันทบุรี โดยได้ดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ การจัดการทรัพยากรชายฝั่ง การส่งเสริมและ พัฒนาอาชีพราษฎรของศูนย์ฯ คุ้งกระเบน โดยได้ส่งเสริมให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อให้ประชาชนที่สนใจเข้ามาศึกษาสภาพธรรมชาติ ก่อให้เกิดความเข้าใจระบบนิเวศในป่าชายเลนและรู้จักใช้ทรัพยากรเหล่านั้นให้ เกิดประโยชน์สูงสุด
ข้อมูลเพิ่มเติม โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน
โครงการเขื่อนขุนด่านปราการชล นครนายก
เขื่อนคอนกรีตอัดบดยาวที่สุดในประเทศไทยและในโลก ตั้งอยู่ที่ตำบลหินตั้ง อำเภอเมืองจังหวัดนครนายก เป็นเขื่อนที่มีวิวทิวทัศน์สวยงามเหมาะแก่การพักผ่อนชมวิว สร้างขึ้นตามแนว พระราชดำริ เพื่อเก็บกักน้ำในช่วงหน้าฝนไว้ในหน้าแล้ง และควบคุมไม่ให้เกิดน้ำท่วมบ้านเรือนราษฎร ไร่นาและพื้นที่การเกษตรในหน้าฝน เป็นแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อของนครนายกโดยเปิด ให้นักท่องเที่ยว เดินทางมาชมวิวเหนือสันเขื่อน สามารถมองเห็นตัวเมืองนครนายกและอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ได้ที่สันเขื่อน นอกจากนี้ยัง สามารถเช่าเรือหางยาวเพื่อ ชมน้ำตกที่อยู่ลึกเข้าไปในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนได้
ข้อมูลเพิ่มเติม โครงการเขื่อนขุนด่านปราการชล
โครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดำริภูหินร่องกล้า พิษณุโลก
ตั้งอยู่ในเขตอุทยานภูหินร่องกล้า อยู่ก่อนถึงโรงเรียนทหารการเมืองและบ้านร่องกล้า ภูมิทัศน์ของโครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดำริภูหินร่องกล้าอยู่ท่ามกลางภูเขาที่เขียวขจีและมีอาการที่เย็นสบายตลอดทั้งปี วัตถุประสงค์ของโครงการจัดตั้งขึ้นมาเพื่อปลูกฟื้นฟูสภาพป่า เพาะชำกล้าไม้ การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต ปลูกปรับปรุงระบบนิเวศต้นน้ำ ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่บริเวณอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้าในด้านการท่องเที่ยวและสภาพแวดล้อม ไฮไลท์ของการมาเที่ยวคือ การได้ยืนชมวิวตามผาต่างๆ ที่ตั้งเรียงรายกัน ทั้ง 5 ผา ได้แก่ ผาบอกรัก ผาสลัดรัด ผารักยืนยง ผาคู่รัก และผาไททานิค รวมถึงหากมาเที่ยวในช่วงกลางเดือนมกราคมยังได้ชมทุ่งดอกกระดาษที่บานอยู่ริมผาอย่างงดงาม
ข้อมูลเพิ่มเติม คลิ๊ก โครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดำริภูหินร่องกล้า
โครงการพระราชดำริปางตอง 2 (ปางอุ๋ง) แม่ฮ่องสอน
โครงการในพระราชดำริที่ทรงเห็นว่าพื้นที่บริเวณนี้เป็นพื้นที่อันตราย อยู่ติดแนวชายแดนพม่ามีกองกำลัง ต่างๆ มีการขนส่ง ปลูกพืชเสพติด รวมไปถึงการบุกรุกพื้นที่ตัดไม้ทำลายป่าอยู่เสมอพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระราชินีนาถจึงมีพระราชดำริ ให้รวบรวมราษฎรกลุ่มน้อยบริเวณนั้น และพัฒนาความเป็นอยู่ ส่งเสริมอาชีพปลูกป่า สร้างอ่างเก็บน้ำ โดยมีพระราชประสงค์สร้าง ความมั่นคงแนวชายแดน พัฒนาความเป็นอยู่ของราษฎร ให้ดีขึ้นและฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้สมบูรณ์ยั่งยืนตลอดไป ปางอุ๋ง มีลักษณะเป็นพื้นที่เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่บนยอดเขาสูง ริมอ่างเก็บน้ำเป็นทิวสนที่ปลูกเรียงรายรอบทะเลสาบ มีทัศนียภาพที่สวยงาม และอากาศอันหนาวเย็น ในยามเช้าจะได้เห็นไอหมอกลอยเหนือน้ำเคล้าแสงแดดอุ่น เป็นภาพสุดโรแมนติก จนทำให้ปางอุ๋ง กลาย เป็น เป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตในอันดับต้นๆของ แม่ฮ่องสอน
ข้อมูลเพิ่มเติม โครงการพระราชดำริปางตอง 2 (ปางอุ๋ง)
สถานีเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) เชียงใหม่
ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) ตั้งอยู่บนดอยอินทนนท์ ได้รับการจัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2525 ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำรัสให้กองพืชสวน กรมวิชาการเกษตร ดำเนินการใช้ท้องทุ่งแห่งนี้ เป็นสถานที่ทดลองและขยายพันธุ์พืชบนที่สูง เพื่อส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี แก่เกษตรกรบนที่สูง และเพื่อทดแทนการปลูกฝิ่น นักท่องเที่ยวที่มาเยือนศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) จะได้สนุกไปกับการท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่เต็มไป ชมความสวยงามแห่ง แปลงไม้ ผลเมืองหนาวที่จะพากันออกดอกบานสะพรั่งดูสดใส ในช่วงเดือนมกราคมสัมผัสความสวยงามของดอกนางพญาเสือโคร่ง หรือซากุระดอย ที่พากันออกดอกสีชมพูสะพรั่ง ขับให้ดอยขุนวางกลายเป็นสีชมพูไปทั้งดอย
ข้อมูลเพิ่มเติม สถานีเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง)
สถานีทดลองเกษตรที่สูง (แม่จอนหลวง) เชียงใหม่
สถานีทดลองเกษตรที่สูง หรือ แม่จอนหลวง ตั้งอยู่ที่ ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ท่ามกลางบรรยากาศในหุบเขาที่มี อากาศหนาวเย็นเหมาะกับการปลูกไม้ดอกไม้ผลเมืองหนาว ชื่นชมกับพันธุ์พืชนานาชนิด ที่สลับผลัดเปลี่ยนกัน ออกดอกออกผลตลอดทั้งปี ซึ่งไม่ว่าจะมาในเดือนใดก็ตาม จะได้สัมผัสกับความงดงามของไม้ดอก หรือลิ้มลองรสชาติของผลไม้ ที่จะมีผลผลิตหมุนเวียนกันไป หากมาในช่วงต้นเดือนถึงปลายเดือนม.ค. ของทุกปี จะได้ชมดอกพญาเสือโคร่ง หรือ ซากุระเมืองไทยที่จะบานสะพรั่งเป็นสีชมพูสวยงาม ตลอดริมทาง
ข้อมูลเพิ่มเติม สถานีทดลองเกษตรที่สูง (แม่จอนหลวง)
เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ลพบุรี
เป็นเขื่อนดินกักเก็บน้ำที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สืบเนื่องจากปัญหาการเกิดน้ำท่วมในบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสักในฤดูน้ำหลาก และขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูร้อน อันเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี จึงพระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานศึกษาความเหมาะสมถึงการสร้างเขื่อนเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว พระราชทานนามเขื่อนแห่งนี้ว่า “เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์” อันหมายถึง “เขื่อนแม่น้ำป่าสักที่เก็บกักน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จะทำการกักเก็บน้ำแล้ว ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดสระบุรี มีเส้นทางรถไฟก่อนถึงเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ก่อนถึงสถานีรถไฟหินซ้อน จะผ่านทุ่งดอกทานตะวันบานสะพรั่งตลอดเส้นทางรถไฟสวยงามมาก การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้จัดขบวนรถพิเศษนำเที่ยวชมความงามของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ในช่วงฤดูหนาวทุกปี
เขื่อนพระปรง สระแก้ว
เป็นเขื่อนสำหรับการชลประทานที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดสระแก้ว ตั้งอยู่หมู่ที่ ตำบลช่องกุ่ม อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว เขื่อนพระปรงเป็นหนึ่งในโครงการตามพระราชดำริเพื่อกั้นต้นน้ำห้วยพระปรง ซึ่งเป็นลำน้ำที่ไหลลงมาจากอุทยานแห่งชาติปางสีดา จากสภาพป่าอันอุดมสมบูรณ์ได้กลายมาเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ เป็นแหล่งอาศัยของพันธุ์ปลาน้ำจืด และนกน้ำนานาชนิด เหมาะสำหรับการเที่ยวชมธรรมชาติเป็นอย่างยิ่ง เขื่อนพระปรง ทัศนียภาพสวยงามแห่งหนึ่งของจังหวัดสระแก้ว เห็นทิวทัศน์ที่เป็นผืนน้ำกว้างใหญ่ มีแนวป่าสีเขียวและเทือกเขาทอดยาวอยู่ไกลๆ มีกิจกรรม ล่องแพ ไปรอบๆ อ่างเก็บน้ำ ซึ่งนอกจากจะได้ชมวิวที่สวยงามแบบ 360 องศาแล้ว คุณจะยังได้ชมความน่ารักของนกน้ำนานาชนิด โดยเฉพาะนกน้ำขนาดใหญ่ที่หายากใกล้สูญพันธุ์อย่าง “นกอ้ายงั่วหรือนกงู” ที่พากันอพยพมาหากินบริเวณนี้ในช่วงเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคมของทุกปี
ข้อมูลเพิ่มเติม เขื่อนพระปรง สระแก้ว
โครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติฯ (เขาแผงม้า)
ตั้งอยู่ที่ ต.วังน้ำเขียว อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา พื้นที่นี้เป็นโครงการปลูกป่า เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งอยู่ในความดูแล ของมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่า และพรรณพืชแห่งประเทศไทย ร่วมกับชาวบ้านได้ร่วมกันปลูกป่าถาวร ฟื้นฟูสภาพป่าให้กลับคืนดีดังเดิม โดยเน้นความหลากหลายตามธรรมชาติของป่า ปัจจุบันเขาแผงม้าเขียวครึ้ม มีทัศนียภาพที่สวยงาม มีสัตว์ป่าโดยเฉพาะฝูงกระทิงซึ่งเป็นสัตว์หายากได้กลับสู่ป่าผืนนี้อีกครั้ง บ่งบอกถึงความอุดมสมบุรณ์ของป่าเขาแผงม้าที่กลับคืนมา ที่นี่จึงเป็นที่เฝ้าดูฝูงกระทิงและสัตว์ป่านานาชนิดกระทิงเขาแผงม้าสามารถไปเที่ยวชมได้ทุกวันตลอดทั้งปี ช่วงเวลาที่กระทิงออกหากินมักเป็นเวลาในช่วงบ่าย และเย็นที่มีโอกาสได้ พบเห็นตัวได้มากกว่าเวลาอื่น
รายละเอียดเพิ่มเติม
ที่ตั้งและการเดินทาง หมู่ 4 บ้านเขาแผงม้า ต.วังน้ำเขียว อ.วังน้ำเขียว
– มีบ้านพัก ที่กางเต้นท์ (มีเต้นให้เช่า)
– โทร. 081 907 8260 หรือ อบต.วังน้ำเขียว โทร.0-4422-8249
โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย เพชรบุรี
ตั้งอยู่ที่แหลมผักเบี้ย จ.เพชรบุรี เป็นพื้นที่แปลงทดลองของโครงการตามแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาและฟื้นฟูป่าชายเลน และสถานีบำบัดน้ำเสียชุมชน โดยยึดหลักการ “ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ” นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านในพื้นที่ใช้เป็นแหล่งประกอบอาชีพอื่นๆจากผลผลิตจากสภาพธรรมชาติที่ดีอันเนื่องมาจากโครงการฯ เช่นการใช้พืชที่ปลูกไว้ใช้ในการกรองน้ำเสีย เช่น กกธูป เพื่อทำจักสาน, การทำประมงและจับสัตว์น้ำในพื้นที่ป่าชายเลนที่เกิดขึ้นใหม่ เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยจัดทำเป็น เส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนระยะทางประมาณ 850 เมตร สองข้างทางเต็มไปด้วยต้นโกงกางและต้นแสมน้อยใหญ่ และเหล่าสรรพสัตว์ที่อาศัยอยู่ในป่าชายเลย เช่น ปลาตีน ปูแสม ปูก้ามด้าม กระทั่งนกนานาชนิด ไม่ว่าจะเป็นนกเด้าดิน นกเด้าลม นกยางเปียและยังรวมถึงนกอีกมากมายหลากหลายชนิด นอกจากความสมบูรณ์และสวยงามของป่าชายเลนแล้ว ก็คือ มีแหลมทรายยาวประมาณ 3 กิโลเมตรที่กั้นระหว่างหาดโคลนกับหาดทราย ซึ่งเรียกว่า ทรายเม็ดแรกของอ่าวไทยตอนบน
โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อม แหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เปิดให้เข้าชมทุกวัน โทรศัพท์ 0 3244 1264-5
โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน ฉะเชิงเทรา
ตั้งอยู่ใน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ที่เกิดขึ้นตามแนวพระราชดำริ เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมการศึกษา ทดลอง วิจัย และการพัฒนาปรับปรุงพื้นที่ดินทรายจัดเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งมีรูปแบบการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว โดยให้บริการแก่ประชาชนและเกษตรกรที่เข้ามาศึกษาหาความรู้ ณ ที่แห่งเดียวในทุกสาขาวิชาชีพ เสมือน ”พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต” เป็นตัวอย่างแห่งความสำเร็จในด้านการเกษตรกรรม และการพัฒนาอาชีพ เพื่อเป็นต้นแบบ และแนวทางให้แก่เกษตรกรและผู้สนใจนำไปประยุกต์ใช้ นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ ให้นักท่องเที่ยวและประชาชน ได้เข้ามาท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ ชมแปลงสาธิตและส่งเสริมการเกษตรทฤษฎีใหม่ และการเกษตรผสมผสานแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เพื่อให้เกษตรกรเกิดความพออยู่พอกินและพึ่งพาตนเองได้ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเพื่อความยั่งยืนทางการเกษตร
ข้อมูลติดต่อ
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เลขที่ 7 ม.2 ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา 24120 โทรศัพท์ 038-554982-3, 081-6860639
ศูนย์เรียนรู้โครงการตามพระราชประสงค์หุบกะพง เพชรบุรี
หุบกะพงตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลเขาใหญ่ และตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงทราบถึงความเดือดร้อนของเกษตรกร ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ที่จะนำไปประกอบอาชีพ พระองค์จึงทรงรับเกษตรกรเหล่านี้ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยจัดให้เกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนในตอนต้น และเกษตรกรที่ขยันหมั่นเพียรแต่ขาดแคลนที่ดินทำกินเข้ามาอยู่อาศัยและทำประโยชน์ในที่ดินที่ได้ทรงจัดหาให้ โดยตั้งเป็นหมู่บ้านเกษตรกร ซึ่งต่อมาชื่อว่า “สหกรณ์การเกษตรหุบกะพง นอกจากนี้ยังเปิดให้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับประชาชนที่สนใจศึกษาดูงานโครงการตามพระราชดำริ เพื่อนำไปปรับใช้ในการพัฒนาอาชีพ โดยจัดทำเป็นศูนย์นิทรรศการในอาคารคุ้มเกล้า จัดแสดงเกี่ยวกับโครงการพระราชดำริต่าง ๆ ภาพถ่ายในอดีต และการจำลองแบบบ้านหลังแรกของเกษตรกรที่ได้อพยพเข้ามาอยู่ที่หุบกระพง เครื่องจักรการเกษตร และกังหันน้ำชัยพัฒนาและยังสามารถเยี่ยมชมแปลงสาธิตของชาวบ้านหุบกระพง ซึ่งเป็นหมู่บ้านสหกรณ์ตัวอย่างแห่งแรก
ศูนย์เรียนรู้โครงการตามพระราชประสงค์หุบกะพง เพชรบุรี เปิดให้เข้าชมทุกวันเวลา 08.30 -16.30 น. สำหรับหมู่คณะที่ต้องการเยี่ยมชมโครงการกรุณาทำหนังสือแจ้งล่วงหน้า โทร. 0 3247 1543, 0 3247 1100
ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศ ป่าชายเลนสิรินาถราชินี
ตั้งอยู่ ตำบลปากน้ำปราณ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เดิมเป็นพื้นที่สัมปทานนากุ้งในช่วงปี พ.ศ.2524-2539 เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาป่าไม้ปากน้ำปราณบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อีกทั้งยังดำเนินการฟื้นฟูป่าด้วยการกำหนดเป็นพื้นที่เป้าหมายปลูกป่า ในโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ปีที่ 50 ในปี พ.ศ.2539 ซึ่ง บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้เข้าร่วมโครงการและดำเนินการปลูกป่าชายเลน เพื่อฟื้นฟูสภาพพื้นที่และสิ่งแวดล้อม และพัฒนาเป็นศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลน ในเวลาต่อมา
เปิดให้บริการทุกวันตั้งแต่ เวลา 08.30-16.30 น. ไม่เสียค่าใช้จ่าย เสาร์ -อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ มีรอบการนำชมเวลา 10.00 น. และเวลา 14.00 น. สอบถามรายละเอียด โทรศัพท์ 032-632 255 , 086-607 7712