เปิดใจ…ไปปัตตานี  8 จุดเที่ยว ที่จะทำให้รักเมืองนี้มากขึ้น

ปัตตานี หากเอ่ยชื่อจังหวัดนี้ ภาพที่เกี่ยวกับความเป็นเมืองท่องเที่ยวในความรู้จักมีน้อยมาก นอกจากมัสยิดกลาง ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว วัดช้างให้ ก็ไม่เคยรู้เลยว่ามีอะไรที่น่าสนใจบ้าง ส่วนใหญ่จะได้ยินแต่ข่าวความไม่สงบของที่นี่มากกว่า แต่นั้นเป็นเพียงเรื่องราวที่ได้เห็นจากการนำเสนอจากสื่อภายนอก จากคำบอกเล่าของคนอื่น จนก่อให้เกิดความกลัวในใจนิ  โดยที่ไม่เคยได้เข้ามาสัมผัสเมืองนี้แบบจริงจัง มาในวันนี้เลยคิดว่าเอานะครั้งหนึ่งในชีวิต ลองเปิดใจมาเที่ยวปัตตานีดูสักที จากนั้นก็พยายามหาข้อมูลท่องเที่ยวแบบตั้งใจดูบ้าง โอ้ โห อึ้งไปเล็กน้อย เรืองเที่ยวปัตตานีก็ไม่ได้น้อยหน้าใคร เรามีโอกาสได้แวะไปปัตตานีแบบสั้นๆแค่  1 วัน ซึ่งค่อนข้างเพียงพอสำหรับการไปเที่ยวยังสถานที่ไฮไลท์  8 แห่ง เป็นช่วงเวลาแห่งโอกาสที่จะได้ทำความรู้จักกับจังหวัดนี้ให้มากขึ้น

 

เที่ยวปัตตานี

 

09.30 น. วัดช้างให้

สำหรับการมาเที่ยวปัตตานี  หากใครมาถึงในปัตตานีแล้วขับรถได้ แนะนำให้เช่ารถขับ เพราะใช้รถโดยสารอาจไม่สะดวกเท่าใดนัก สถานที่บางแห่งรถโดยสารไปไม่ถึง และเหมารถคงราคาแพง เช่ารถวันละ 1000 กว่าบาท น่าจะคุ้มกว่า  ที่ปัตตานีมีบริษัทรถให้เช่า สามารถติดต่อได้ที่  ซีสยาม แทรแวล ลิงค์เพจที่  http://bit.ly/2GlQNPg  หรือหากนั่งเครื่องบินมาลงที่หาดใหญ่สามารถเช่ารถจากสนามบินหาดใหญ่แล้วขับมาปัตตานีได้เลย จากสนามบินหาดใหญ่ใช้เวลาประมาณชั่วโมงครึ่ง

มาถึงปัตตานีถ้าไม่มาที่ วัดช้างให้  เหมือนมาไม่ถึง วัดช้างให้ ตั้งอยู่ที่อำเภอโคกโพธิ์ ห่างจากตัวเมืองปัตตานีโดยใช้เวลาเดินทางประมาณครึ่งชั่วโมง เป็นวัดเก่าแก่สร้างมาแล้วกว่า 300 ปี วัดช้างให้ ถือว่าเป็นวัดต้นตำรับของหลวงปู่ทวด เพราะท่านเป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดและอัฐของท่านก็ถูกบรรจุไว้ที่วัดแห่งนี้ วัดช้างให้จึงกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อและเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของจังหวัดปัตตานี ที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามากราบสักการะหลวงปู่ทวดอย่างไม่ขาดสาย ที่เรียกว่าเมื่อมาถึงปัตตานีดินแดนแห่งปลายด้ามขวานแล้วต้องแวะมาให้ได้

 

 

 

ด้านหน้าวัดเป็นที่ตั้งของสถูปหรือมณฑปบรรจุอัฐิหลวงพ่อทวด ซึ่งอยู่ใกล้กับเขตพัทธสีมาที่ชาวบ้านเรียกว่า “เขื่อนหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด” หรือ “เขื่อนท่านเหยียบน้ำทะเลจืด” (คำว่าเขื่อนเป็นภาษาคนพื้นเมืองทางภาคใต้ หมายถึงสถูปที่บรรจุอัฐิของผู้มีบุญ) ซึ่งมีมาก่อนแล้วซึ่งสถูปแห่งนี้ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวจังหวัดปัตตานีและใกล้เคียง มีผู้คนไปกราบไหว้บนบานอยู่เนืองนิจ ใครเจ็บไข้ได้ป่วยหรือวัตถุสิ่งของถูกขโมย หรือศูนย์หายก็พากันไปบนบาน ณ ที่สถูปแห่งนี้   มณฑปหรือสถูปบรรจุอัฐิหลวงปู่ทวดมีรูปปั้นช้างหันหน้าเข้าหามณฑป ทั้ง ๒ ข้าง จากประวัติของวัดช้างให้ ซึ่งมีหลวงพ่อทวดหรือที่ชาวเมืองเมืองไทรบุรีเรียกว่า “ท่านลังกา” หลวงพ่อทวดช่วงที่เป็นเจ้าอาวาสวัดช้างให้ ท่านก็ยังเดินไปมาระหว่างวัดช้างให้กับไทรบุรีอยู่เสมอ  และเมื่อหลวงพ่อทวด มรณภาพที่เมืองไทรบุรี ลูกศิษย์ได้นำศพกลับมาที่วัดช้างให้ แต่ในการนำศพกลับมาต้องพักแรมในระหว่างทางเป็นเวลาหลายวัน กว่าจะถึงวัดช้างให้ ในการพักแรมเมื่อตั้งศพ ณ สถานที่ใด ที่นั้นก็จะเอาไม้แก่นปักหมายไว้ทุก ๆ แห่งเป็นระยะ ๆ จนกระทั่งถึงวัดช้างให้ สถานที่ตั้งศพพักแรมตามระหว่างทางนี้กลายเป็นสถานที่สักการะเคารพของคนในถิ่นนั้น บางแห่งก็ก่อเป็นเจดีย์ไว้ บางแห่งก่อเป็นสถูปไว้และถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำคัญ

 

 

เมื่อเดินเข้ามาภายในบริเวณวัดจะพบกับซุ้มประตูทางเข้าโดดเด่นสวยงาม ภายในวัดเป็นที่ตั้งของ วิหารหลวงพ่อทวด อุโบสถและตรงกลางเป็นเจดีย์สูงนั้น คือ วิหารพระครูวิสัยโสภณ หรือจะเรียกว่าวิหารยอดก็ได้ เป็นสถาปัตยกรรมแบบอาคารทรงไทยประยุกต์ ฐานบนของวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระเจดีย์ทรงลังกาองค์ใหญ่และเจดีย์บริวาร หลังคาวิหารประกอบเครื่องยอดชนิดยอดทรงมณฑปแบบไทย ต่อเชื่อมด้วยวิหารทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ด้านข้างต่อเชื่อมด้วยอาคารรูปทรงอย่างเดียวกับพระวิหารเป็นอาคารมุจเด็จเมื่อประกอบกันเข้าแล้วจะเป็นอาคารมีหลังคาแบบจตุรมุข ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างบูรณะซ่อมแซม

 

 

จากนั้นเข้าไปกราบหลวงพ่อทวดเพื่อความเป็นสิริมงคล ที่ วิหารสมเด็จหลวงพ่อทวด เป็นวิหารที่ประดิษฐานรูปเหมือนของหลวงพ่อทอง ซึ่งมีขนาดเท่าองค์จริง รูปแบบการก่อสร้างเป็นแบบก่ออิฐถือปูนทรงไทยสวยงาม หากใครสนใจเช่าวัตถุมงคล พระเครื่อง หลวงพ่อทวด สามารถเดินไปเช่าได้ที่ สำนักงานมูลนิธิซึ่งเป็นอาคารสีเหลือง

 

 

11.00 มัสยิดกลางปัตตานี

ย้อนกลับเข้ามาในตัวเมืองปัตตานี มุ่งหน้าไปยังสถานที่แลนด์มาร์คที่สำคัญ มัสยิดกลางปัตตานี ที่ออกแบบด้วยสถาปัตยกรรมที่สวยงามมีความโดดเด่น และยังเป็นศาสนสถานศูนย์รวมจิตใจของผู้นับถือศาสนาอิสลามในภาคใต้ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่ง รูปทรงภายนอกของมัสยิดมีต้นแบบมาจากทัชมาฮาล เป็นสถานที่เมื่อมาถึงปัตตานีต้องมาชมศิลปะ และความสวยงามของตัวอาคาร มัสยิดแห่งนี้ยังได้ชื่อว่าเป็นมัสยิดที่สวยงามที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย

 

 

บรรยากาศภายในเงียบสงบ  มีผู้คนมาเยี่ยมชมตลอดไม่ขาดสาย ทั้งจากภายในประเทศไทย และจากมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีซีย ด้านหน้าก่อนถึงตัวอาคาร เป็นทางเดินทอดยาว ระหว่างทางมีต้นปาล์มลูกเรียงรายเป็นทิวแถว ยิ่งเดินเข้าไปยิ่งรู้สึกตื่นเต้น สัมผัสได้ถึงความสวยงามแลยิ่งใหญ่ของมัสยิดแห่งนี้ ทั้งอาคารสีที่ใช้ที่ผสมผสานกันได้อย่างลงตัว เป็นมัสยิดที่สวยงามที่สุดอีกแห่งหนึ่งเท่าที่เคยเห็นมาเลยก็ว่าได้ เห็นภาพในอินเทอร์เน็ตมาเนิ่นนานหลายปี ดีใจมากที่สุดที่ได้มาเห็นด้วยตาตัวเอง

 

 

ตัวอาคารสีครีมกับสีส้มอ่อน และสีเหลือง มียอดโดมสีเขียวขนาดใหญ่กลาง และโดมขนาดเล็กลงไปล้อมรอบ 4 ด้าน ด้านข้างมีหออะซาน 2 หอ รอบตัวอาคารใช้ลวดลายตกแต่งสถาปัตยกรรมอย่างวิจิตรงดงาม และมีสระน้ำพุซึ่งมีพื้นน้ำสีเขียวมรกตอยู่บริเวณด้านหน้า สระน้ำเบื้องหน้าส่องสะท้อนแสงเงาของมัสยิดอย่างงดงาม ยิ่งเพิ่มความโดดเด่นให้แก่มัสยิดกลางแห่งนี้มากขึ้น ส่วนภายในสร้างเป็นห้องโถง มีระเบียงอยู่สองข้าง มีมิมบัรทรงสูงและแคบตั้งอยู่มีหินอ่อนประดับประดาอย่างงดงาม

 

 

มัสยิดกลางปัตตานีส่วนใหญ่จะใช้เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจ (ละหมาด) วันละ 5 เวลา เป็นกิจวัตรประจำวัน ใช้ในการละหมาดวันศุกร์ และการละหมาดในวันตรุษต่าง ๆ โดยมีชาวไทยมุสลิมในพื้นที่ปัตตานี และพื้นที่อื่นทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะในวันศุกร์และวันเสาร์ จะมีการบรรยายธรรมะมีผู้เข้าฟังการบรรยาย ประมาณครั้งละ 3,000 คน เพื่อเป็นการเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจในหลักการของศาสนา และเพื่อความถูกต้องในการบำเพ็ญศาสนกิจ  เป็นศาสนสถานแห่งศรัทธา สง่างาม มีมนต์ขลัง มีสถาปัตยกรรมงดงาม เป็นอีกหนึ่งความสวยงามแห่งปัตตานีที่ควรค่าแห่งการมาเยือน

 

 

12.30 น. มัสยิดกรือแซะ

หลังจากพักเที่ยวแวะทานอาหารกลางวันในตัวเมืองแล้ว เรามุ่งหน้าๆไปต่อยัง มัสยิดกรือแซะ  เป็นมัสยิดเก่าแก่อายุกว่า 200 ปี ตั้งอยู่ในอำเภอเมืองปัตตานี สันนิษฐานได้ว่าเป็นศาสนสถานที่สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 22 ร่วมสมัยกรุงศรีอยุธยา มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มัสยิดปิตูกรือบัน ชื่อนี้เรียกตามรูปทรงของประตูมัสยิด  ซึ่งมีลักษณะเป็นวงโค้งแหลมแบบโกธิคของยุโรป และแบบสถาปัตยกรรมของชาวตะวันออกกลาง รูปลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน เสาทรงกลมเลียนรูปลักษณะเสา ช่องประตู หน้าต่างมีทั้งแบบโค้งแหลม และโค้งมนแบบโกธิค โดมและหลังคายังก่อสร้างไม่เสร็จ อิฐที่ใช้ก่อมีรูปลักษณะเป็นอิฐสมัยอยุธยา ตรงฐานมัสยิดมีอิฐรูปแบบคล้ายอิฐสมัยทวารวดีปะปนอยู่บ้าง

 

 

สำหรับประวัตของมัสยิด ตามหนังสือสยาเราะห์ปัตตานีของนายหะยี หวันหะซัน กล่าวว่า สุลต่านลองยุนุสเป็นผู้สร้างประมาณปีฮิจเราะห์ ๑๑๔๒ ตรงกับพุทธศักราช ๒๒๖๕ สมัยอยุธยาตอนปลาย เหตุที่ก่อสร้างไม่เสร็จเนื่องจากเกิดสงครามแย่งชิงราชสมบัติระหว่างสุลต่านลองยุนุสกับระตูปะกาลันซึ่งเป็นพระอนุชาของพระองค์ หลังจากสุลต่านลองยุนุสสิ้นพระชนม์แล้ว ระตูปูยุดได้รับตำแหน่งสุลต่านเมืองตานีคนต่อมาได้ย้ายศูนย์การปกครองเมืองตานีไปตั้งอยู่ ณ บ้านปูยุด (ปัจจุบันอยู่ในเขตท้องที่ ตำบลปูยุด อำเภอเมืองปัตตานี) บริเวณที่ตั้งวังของระตูปูยุด ยังคงปรากฏร่องรอยกำแพงอยู่จนบัดนี้ จนไม่มีผู้ใด้คิดสร้างต่อเติมมัสยิดอีกทิ้งไว้รกร้าง ต่อมากรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน และทำการบูรณะซ่อมแซม ทั้งนี้เพื่อให้มัสยิดกรือเซะคงสภาพเป็นโบราณสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมืองปัตตานี และใช้เป็นที่ปฏิบัติศาสนกิจได้ต่อไป

 

 

บริเวณด้านหน้าของมัสยิดมีฮวงซุ้ย หรือสุสานที่ฝังศพของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ที่ได้รับการตกแต่งพูนดินใหม่ปรากฏอยู่ มีผู้คนไปกราบไหว้กันมากพร้อมด้วยสิ่ง- ก่อสร้างอื่น ๆ เช่น เก๋งจีน โอ่งน้ำสีแดง  อีกหนึ่งตำนานของมัสยิดกรือแซะ เล่ากันว่า สร้างโดยลิ้มโต๊ะเคี่ยม ซึ่งเป็นชาวจีนได้มาแต่งงานกับธิดาพระยาตานีและได้เปลี่ยน มานับถือศาสนาอิสลาม ต่อมาน้องสาวของลิ้มโต๊ะเคี่ยมชื่อลิ้มกอเหนี่ยว ได้ลงเรือสำเภามาตามให้พี่ชายกลับ เมืองจีนแต่ไม่สำเร็จ ลิ้มโต๊ะเคี่ยมได้สร้างมัสยิดกรือเซะขึ้น ลิ้มกอเหนี่ยวจึงได้สาปแช่ง ขออย่าให้สร้างมัสยิดสำเร็จ และตัวเองได้ผูกคอตายที่ต้นมะม่วงหิมพานต์ ลิ้มโต๊ะเคี่ยมได้จัดการฝังศพน้องสาวไว้ที่หน้ามัสยิดนี้ ชาวปัตตานีนำต้นไม้ที่ลิ้มกอเหนี่ยวผูกคอตายมาแกะเป็นรูปบูชาและสร้างศาลเจ้า ต่อมาได้มีการอัญเชิญเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวมาประดิษฐานไว้ ณ ศาลเจ้าแห่งใหม่ ตั้งอยู่ที่ถนนอาเนาะรู ในเขตเทศบาล เมืองปัตตานี เรียกว่าศาลเจ้าเล่งจูเกียง ( ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว) เป็นที่นับถือของชาวปัตตานีและชาวจังหวัด ใกล้เคียง ส่วนมัสยิดกรือเซะก็เป็นไปตามคำสาป เพราะไม่สามารถสร้างเสร็จได้ เมื่อจะสร้างต่อก็ให้มีอาเพศ ฟ้าผ่าทุกครั้งไป จนถึงปัจจุบันก็ไม่มีใครกล้าสร้างมัสยิดกรือเซะต่อ คงเหลือซากทิ้งไว้ตราบเท่าทุกวันนี้

 

 

13.00 น. ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว

ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ความศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองปัตตานีมาแต่โบราณ ตั้งอยู่ในตัวเมืองปัตตานี เป็นที่ประดิษฐานองค์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว เป็นศูนย์รวมจิตใจและศูนย์รวมศรัทธาของชาวไทยเชื้อสายจีนในปัตตานี ในต่างจังหวัดและในต่างประเทศ ศาลเจ้าแห่งนี้มีชื่อเรียกว่า “ศาลเจ้าเล่งจูเกียงหรือชื่อที่ชาวบ้านเรียก “ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว” หลายท่านอาจเคยได้ยินประวัติความเป็นมาของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวกันมาบ้าง ตามตำนานเล่าว่าลิ้มกอเหนี่ยวเป็นสาวชาวจีนจากเมืองฮกเกี้ยน ซึ่งเกิดในช่วงสี่ถึงห้าร้อยปีมาแล้ว นางเดินทางลงเรือสำเภามายังเมืองปัตตานี เพื่อตามพี่ชายชื่อลิ้มโต๊ะเคี่ยมให้กลับไปหามารดาที่ชราภาพที่บ้านเกิด แต่ได้พบความจริงว่า พี่ชายของตนได้แต่งงานกับธิดาพระยาตานีแล้วเข้ารับราชการในจวนเจ้าเมือง และได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม จึงไม่สามารถกลับไปยังเมืองจีนพร้อมนางได้ ลิ้มกอเหนี่ยวจึงได้ผูกคอตายที่ต้นมะม่วงหิมพานต์ ดังสัจวาจาที่กล่าวไว้กับมารดาว่า “หากตามพี่ชายกลับไปหามารดาไม่ได้ จะไม่ขอมีชีวิตอยู่ต่อไป” ลิ้มโต๊ะเคี่ยมผู้เป็นพี่ชายจึงได้ฝังศพของนางไว้ที่ฮวงซุ้ยที่หมู่บ้านกรือเซะนอกเมืองปัตตานี กล่าวขานกันว่า ดวงวิญญาณของนางได้แสดงอิทธิฤทธิ์เป็นที่เลื่องลือในหมู่ชาวบ้านทั่วไป พอมีผู้มาขอพรให้โชคลาภก็ได้ผล หรือแม้แต่การค้าขายที่ซบเซาหรือขาดทุนก็กลับรุ่งเรืองขึ้นจนทำให้เกิดความนับถือศรัทธาอย่างมาก ชาวปัตตานีจึงได้นำต้นไม้ที่ลิ้มกอเหนี่ยวผูกคอตายมาแกะสลักเป็นรูปบูชาและสร้างศาลเจ้าขึ้น สำหรับองค์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ท่านเป็นเทพเจ้าแห่งความเมตตาโชคลาภ ค้าขาย ซึ่งเป็นที่นิยมมากราบไหว้ของพรเพื่อเป็นศิริมงคลกับชีวิต

 

 

ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวจะมีขั้นตอนในการไหว้ โดยจะมีคนเฝ้าศาลคอยแนะนำตามขั้นตอนต่างๆ เริ่มตั้งแต่ซื้อชุดไหว้ มีธูปเทียนแลกระดาษสำหรับให้เราเผาในตอนไหว้เสร็จแล้ว โดยต้องไหว้ฟ้าดินก่อนโดยใช้ธูป 7 ดอกและเทียน 2 เล่ม จะมีกระถางอันใหญ่อยู่หน้าศาล จากนั้นเข้าไปไหว้ข้างในศาลกันค่ะ โดยเริ่มจากไหว้พระจีน จากนั้นไปไหว้โต๊ะที่ 3 ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของเจ้าแม่ลิ้มก่อเหนี่ยว จากนั้นก็ไหว้โต๊ะที่ 4 ซึ่งอยู่อีกฝั่งใกล้กับเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว  เสร็จแล้วเดินไปทางประตูขวาจะมีที่ตั้งของรูปปั้นองค์เทพเจ้ามากมาย เมื่อไหว้ครบแล้วเอาขวดน้ำมันไปเติมไปจุดต่างๆ หลังจากนั้นนำกระดาษไปเผาในอุโมงค์ ที่ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามเพื่อเป็นการขจัดสิ่งไม่ดีออกไปและกลับเข้ามาที่ศาลเพื่อตีระฆัง 3 ครั้งเป็นสิริมงคลกับชีวิต  “ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว” สามารถมาสักการะได้ทั้งปี แต่หากจะมาร่วมงานประเพณีแห่เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวนั้นจะจัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 ของทุกปี หรือประมาณเดือนกุมภาพันธ์

 

 

ก่อนกลับอย่าลืมอีกหนึ่งความศรัทธาที่เรียกว่าเป็นประเพณี ยืมเงินขวัญถุงกับเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว เป็นความเชื่ออย่างหนึ่งที่ว่าจะช่วยให้ทำมาค้าขายขึ้น โดยมีให้ยืมเริ่มต้นที่ 30 บาท 50 บาท 100 บาท ยืมไปเท่าไหร่หากทำมาค้าขายหรือได้เงินมาให้นำมาคืนเป็นจำนวน 2 เท่าของยืม เช่น มาขอยืม ไป 50 บาท ก็เอาเงินมาคืนหรือทำบุญ 100 บาท โดยจะมีซองสีแดงใส่เงินของเราที่ยืมเพื่อเก็บไว้ในกระเป๋าเงินเป็นเงินขวัญถุง

 

 

ติดดับศาลเจ้าแม่ คือ พิพิธภัณฑ์เจ้าแม่ลิ้มหอเหนี่ยว เป็นอาคารสถาปัตยกรรมแบบจีน ด้านหน้าโดดเด่นไปด้วยประติมากรรม 18 อรหันต์จากเมืองจีนที่ช่างแกะสลักได้อย่างมีชีวิตชีวา  ส่วนภายในมีการแบ่งออกเป็น 9 โซนหลัก จัดแสดงเรื่องราวน่าสนใจต่าง ๆได้แก่ ส่วนจัดแสดงประวัติปัตตานี และชุมชนจีน  เรื่องราวประวัติพระหมอเชงจุ้ยโจวซือกง เรื่องราวการเดินทางข้ามแผ่นดิน เรื่องราวประวัติเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว  ส่วนจัดแสดงเกี้ยว และงานพิธีสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ส่วนจัดแสดงมัลติมีเดีย 1 หรือห้องบรรยาย  ห้องคนรักปัตตานี ห้องรำลึกมหาราชา และ ห้องตลาดจีนเมืองปัตตานี

 

 

ตรงกันข้ามกับศาลเจ้าแม่ ลิ้มกอเหนี่ยว ได้ทำเป็นอัฒจันทร์ที่นั่งมีเบรคกราวน์เป็นภาพเขียนสีเป็นภาพเรือกอเละ อีกหนึ่งสัญลักษณ์ของจังหวัดปัตตานี และ ข้อความ มาถึงแล้วปัตตานี  เป็นอีกหนึ่งจุดถ่ายภาพเท่ๆ ที่เมื่อมาถึงปัตตานีแล้วไม่ควรพลาด

 

 

14.00 น. ชุมชนเก่าปัตตานี

ติดกับศาลเจ้าแม่ ยังมีย่านเมืองเก่าปัตตานี ซึ่งงดงามด้วยอาคารบ้านเรือนเก่าแก่หลายแบบหลากสไตล์ ให้ได้เดินทอดน่อง ผ่อนคลายอารมณ์ชมเมืองเก่าที่สวยงามแปลกตาอีกด้วย  มาเห็นครั้งแรกต้องบอกว่าอึ้ง เพราะไม่ทราบมาก่อนว่าปัตตานีจะมีมุมแบบนี้ให้ได้สัมผัสด้วย เมืองเก่าปัตตานี ตั้งอยู่บนถนนอาเนาะรู ปัตตานีภิรมย์ ฤาดี และเชื่อมโยงกับถนนนาเกลือ บริเวณนี้ คือ ถนนอาเนาะรู ซึ่งมี บรรยากาศคล้ายกับย่านเก่าสงขลา

 

 

ประวัติของย่านเมืองเก่าปัตตานี

ย่านชุมชนเมืองเก่าปัตตานีก่อตั้งเป็นชุมชนชาวจีนมาตั้งแต่สมัยปลายกรุงศรีอยุธยา ซึ่งประวัติของชุมชนมีความเกี่ยวกันกับการสร้างศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ด้วยตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำปัตตานี ทำให้ชุมชนแห่งนี้ค่อย ๆ เติบโตขึ้นตามลำดับกลายเป็นเมืองท่าสำคัญริมแม่น้ำปัตตานี ที่มีเรือทั้ง จาก จีน สิงคโปร์ ชวา อยุธยา พระนคร เดินทางมาขนถ่ายสินค้าที่นี่  ในสมัยรัชกาลที่ 3 ชุมชนเมืองเก่าปัตตานีมีความเจริญรุ่งเรืองมากยิ่งขึ้น มีการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมจีนขึ้นมาจำนวนหลายหลัง ซึ่งยังคงความสวยงามคลาสสิกเป็นมรดกแห่งชุมชนตกทอดมาจนถึงทุกวันนี้  นอกจากจะเป็นเมืองท่าสำคัญแล้ว ในอดีตที่นี่ยังเป็นย่านการค้าสำคัญ และย่านตลาดยุคแรก ๆ ของปัตตานี จึงเกิดเป็นชุมชนหัวตลาดและมีการสร้างวัดหัวตลาดขึ้นที่บริเวณย่านเมืองเก่าแห่งนี้  เดิมบริเวณนี้เรียกว่า ตลาดจีน หรือ กือดาจีนอ (กือดา แปลว่าตลาด จีน อ หมายถึงจีน)  จนกระทั่งหลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ชุมชนเมืองใหญ่ต่างพากันขยายตัว การขนส่งทางน้ำลดความสำคัญลง ถนนเข้ามามีความสำคัญแทนที่ ขณะที่ผู้คนจำนวนมากต่างออกนอกพื้นที่ทั้งไปศึกษาหาความรู้และสร้างเนื้อสร้างตัว ชุมชนเมืองเก่าปัตตานีจึงค่อย ๆ ซบเซาลงไปเรื่อย ๆ ทำให้บ้านหลายหลังถูกทิ้งร้าง จนมีคนซื้อไปทำบ้านรังนกแทน  ในปัจจุบันได้มีปลุกชีวิตเมืองเก่าปัตตานีขึ้นมาอีกครั้ง โดยการจัดงานรื้อฟื้นย่านตลาดเก่าหรือ“กือดาจีน” ขึ้นที่ชุมชนเมืองเก่าปัตตานี จากที่เคยเงียบเหงาซบเซาให้กลับมาคึกคักมีชีวิตชีวาอีกครั้ง

 

 

ตลอดสองฝั่งถนนจะได้สัมผัสกับบรรยากาศของย่านเมืองเก่าปัตตานี ที่มีอาคารบ้านเรือนแบบโบราณให้ชมกันเช่น  บ้าน 300 ปี  ถือเป็นบ้านที่เก่าแก่ที่สุดในย่านนี้มีอายุราว 300 ปี  บ้านเลขที่ 27  บ้านธรรมศาลา

 

 

ร้านโรงเตี๊ยม อาเนาะรู เดิมเป็นบ้านภรรยาน้อยของหลวงสุนทรสิทธิโลหะ ในอดีตเคยถูกทำเป็นป้อมยามและเรือนรับรองสำหรับผู้ที่มาหาหลวงสุนทรฯ ส่วนปัจจุบันถูกปรับเปลี่ยนเป็นร้านโรงเตี๊ยม อาเนาะรู ขายชา กาแฟ และติ่มซำยามเย็น ถัดจากร้านนี้ไปเป็นบ้านที่เก่าที่สุดบนถนนอาเนาะรู บ้านกงสี

 

 

บ้านตึกขาว เดิมเป็นบ้านของคุณพระจีนคณานุรักษ์(ตันจูล้าย) ก่อสร้างขึ้นราวปี พ.ศ. 2426 รัชกาลที่ 5 เคยแวะมาประทับ เมื่อคราวเสด็จประพาสตลาดจีนและศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว

 

 

บ้านเลขที่ 1 และบ้านรังนก ซึ่งอยู่ติดกัน

 

 

มาถึงอีกหนึ่งเส้น ถนนฤาดี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตึกสไตล์ชิโนโปรตุกีส บรรยากาศคล้ายกับถนนถลางในย่านเก่าภูเก็ต และตะกั่วป่า พังงา  แต่กลุ่มอาคารสไตล์ชิโนโปรตุกีสแบบปัตตานี แตกต่างจากบ้านชิโนโปรตุกีสที่ตะกั่วป่า ปากพนัง สงขลา หรือภูเก็ต ที่เป็นตึกปูนทั้งหลัง ตึกที่นี่มีทั้งตึกปูนและตึกครึ่งอิฐครึ่งไม้ จุดสังเกตคือเพดานชั้นหนึ่งสูงและเสาคู่ที่หน้าบ้านเป็นอีกหนึ่งสีสันอันน่ายลในย่านเมืองเก่าแห่งนี้ หากได้ผ่านมาปัตตานี อย่าลืมแวะสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำจังหวัด เพราะขอพรและสิ่งที่หมายปองต่างๆ ให้สมหวัง แวะเดินเล่นย่านเก่าปัตตานี ถ่ายภาพตึกเก่าสุดเก๋ ปลุกความมีชีวิตชีวาแบบชุมชนดั้งเดิม มาปัตตานีก็มีมุมนี้ให้เราได้เที่ยวเหมือนกัน

 

 

15.00 น. สกายวอลค์ปัตตานี

สกายวอล์ค ปัตตานี ตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง ภายในพื้นที่ของสวนสมเด็จสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ หรือ สวนแม่ ลูก สถานที่พักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกายของชาวปัตตานี โดยบริเวณทางเข้าสวน ได้จัดทำเป็นเส้นทางเดินลอยฟ้าเหนือป่าชายเลนที่มีความสูง 12 เมตร ประมาณตึก 5  ชั้น สกายวอล์ค แห่งนี้สามารถชมวิวทิวทัศน์แบบพาโนรามา ชมเมืองปัตตานี วิถีชีวิตชาวประมง รวมถึงชมความงดงามของพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกอีกด้วย

 

 

สะพานแห่งนี้มีความยาว 400 เมตร ทอดยาวเหนือป่านชายเลน ลักษณะเป็นสะพานโครงสร้างเหล็ก พื้นทางเดินเป็นเหล็กตาข่ายที่รองรับน้ำหนักได้มาก มีบันไดขึ้น-ลง 2 จุด มีจุดพัก 5 จุด ในเส้นทาง  เมื่อขึ้นไปเดินบนสกายวอล์คจะได้สัมผัสกับวิวทิวทัศน์ของผืนป่าชายเลนบริเวณสวนแม่ ลูก และวิวทิวทัศน์ของท้องทะเลอ่าวปัตตานี และแหลมตาชี ทางฝั่งทิศตะวันตก ส่วนเมื่อมองไปทางฝั่งทิศตะวันออกจะเห็นวิวทิวทัศน์ของเขาทรายขาวหรือเขารังเกียบ

 

 

บรรยากาศบนสะพานลมพัดเย็นสบาย วิวที่มองเห็นจากพื้นตาข่ายเพิ่มความตื่นเต้นให้นักท่องเที่ยวอีกด้วย สำหรับคนที่กลัวความสูง อาจจะมีขาสั่นนิดหน่อย เพราะพื้นข้างล่างเป็นตาข่ายเหล็กมองเห็นวิวผ่านช่องเล็กๆ  แนะนำว่าถ้าใครจะมาเดินเล่นมาในช่วงเวลาเช้า หรือไม่ก็เป็นช่วงบ่ายแก่ๆ ถึงเย็น เพราะแดดจะไม่ร้อนมาก

 

 

นอกจากนี้ในเส้นทางสกายวอล์ค ยังมีเส้นทางเดินเชื่อมกับเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนเบื้องล่าง ระยะทางประมาณ 1 กม.กว่าๆ ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเดินเที่ยวชมวิวทิวทัศน์ในมุมสูงเชื่อมโยงกับการเดินศึกษาธรรมชาติที่ผืนป่าชายเลนในเบื้องล่างได้  จากสกายวอล์คสามารถมองเห็น หอคอยสีแดงชมวิวของผ้าชายเลนตั้งโดดเด่นมาแต่ไกล

 

 

ได้เห็นทัศนียภาพที่สวยงามสบายตา แถมความตื่นเต้นมานิดหน่อย  ใครมาเที่ยวปัตตานี้ต้องไม่พลาดมาเดินเล่น  สกายวอล์ค อีกหนึ่งแลนด์มาร์คที่น่าสนใจของปัตตานี ที่ได้มองเห็นวิวที่แปลกตา ไม่เหมือนที่แห่งใด

 

 

16.00 น. วังยะหริ่ง

ออกนอกเมืองมุ่งหน้าสู่อำเภอยะหริ่ง ไปยัง วังยะหริ่ง  ตั้งอยู่ไม่ ไกลจากตัวเมืองมากนัก  สร้างขึ้น ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นเรือนไม้กึ่งปูน สร้างขึ้นแบบสไตล์ยุโรป ผสมผสานศิลปกรรมพื้นเมือง และชวา ตั้งตระหง่านอยู่ใจกลางเมืองยะหริ่งในปัจจุบัน นับเป็นความภาคภูมิใจของชาวยะหริ่งยิ่งนัก เพราะสถาปัตยกรรมทรงคลาสสิคหลังนี้ ได้ทำหน้าที่ต้อนรับนักท่องเที่ยว ผู้มาเยือนจากต่างแดนอยู่เป็นกิจวัตร ปัจจุบันนี้วังยะหริ่งยังมีให้เห็นถึงความสมบูรณ์ แม้จะมีอายุการสร้างวังของเจ้าเมืองยะหริ่งมานานถึง 100 กว่าปี  แต่วัตถุและหลักฐานของเรื่องราวตั้งแต่ยุคคุณทวดทุกอย่างยังถูกรวบรวมและจัดวางไว้เหมือนกับในอดีตทุกกระเบียดนิ้ว ทำให้ผู้คนที่นี่ยังรู้สึกว่าวังยะหริ่งไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แม้เวลาจะเปลี่ยนผ่านไปนานสักแค่ไหนก็ตาม การเข้าชมภายในวังยะหริ่งไม่เสียค่าใช้จ่าย หากเดินชมแค่เพียงตัวบ้านด้านนอก สามารถเดินชมได้เพียงแค่แจ้งคนเฝ้าสถานที่ด้านหน้า แต่หากต้องการเข้าไปชมภายในตัวบ้านต้องขอติดต่อขออนุญาติล่วงหน้า  สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ททท. ปัตตานี โทร. 0 7352 2411

 

 

รูปแบบอาคารของวังยะหริ่ง เป็นอาคาร 2 ชั้นรูปตัวยูออกแบบเรือนด้วยสถาปัตยกรรมไทยมุสลิมผสมยุโรป บริเวณชั้นบนจัดเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ ด้านข้างของตัวอาคารทั้ง 2 ด้าน เป็นห้องสำหรับพักผ่อนของเจ้าเมือง และบุตรธิดาข้างละ 4 ห้อง ส่วนชั้นล่างเป็นใต้ถุน มีลักษณะเด่นคือ บันไดบ้านโค้งแบบยุโรป มีช่องแสงประดับด้วยกระจกสีเขียว แดงและน้ำเงิน โดยช่องระบายอากาศ และหน้าจั่วทำด้วยไม้ ฉลุเป็นลวดลายพรรณพฤกษา ตามแบบศิลปะชวาผสมผสานศิลปะแบบตะวันตก ทำให้วังมีความสวยงามและสง่างามมาก นอกจากนี้ภายในวังยะหริ่งยังเต็มไปด้วยหลักฐานเรื่องราวประวัติศาสตร์ของเมืองแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นเอกสาร ตั้งแต่ยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น เครื่องโถ ถ้วยชาม ภาพเขียน ภาพถ่ายเมืองปัตตานี และเมืองยะหริ่ง ซึ่งหาชมได้ยก โดยทายาทรุ่นหลัง คุณหญิงวุจจิรา เด่นอุดม ได้ทำการอนุรักษ์ไว้

 

 

17.00 น. ชมเรือกอและ หาดตะโละกาโปร์

จากวังยะหริ่งมุ่งหน้าไปยัง  หาดตะโละกาโปร์  ความตั้งใจของเรา คือ อยากไปชม เรือกอและ อีกหนึ่งสัญลักษณ์ของปัตตานี ซึ่งตั้งเรียงรายอยู่ตามหาด  หาดตะโละกาโปร์เป็นหาดที่มีชื่อเสียงของจังหวัด เหมาะแก่การไปนั่งพักผ่อนชมความสวยงาม มีทิวสนและต้นมะพร้าวให้ความร่มรื่นสวยงามและมีเรือกอและของชาวประมงจอดอยู่เป็นจำนวนมาก แต่แล้วก็ต้องผิดหวัง เพราะชาวบ้านบอกว่า ตอนนี้คลื่นลมค่อนข้างแรง เลยต้องเอาเรือมาจอดไว้ที่ฝั่ง เลยได้แค่ถ่ายภาพเรือที่จอดอยู่ริมน้ำบริเณป่าชายเลนบนฝั่งแทน

 

son01109

son01111

son01112

 

1 วันในปัตตานี เป็นอีกหนึ่งความสวยงามที่น่าชื่นชม  ปัตตานีถือว่าเป็นจังหวัดที่ใหญ่ บรรยากาศคึกคัก บ้านเมืองสวยงามน่าเที่ยว นี่นะหรือจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ขณะนั่งรถชมเมืองนั้นไม่ได้มีความรู้สึกแบบนั้นเลยสักนิด เรารู้สึกว่าเหตุการณ์ไม่สงบเกิดขึ้นเพียงบางจุดเท่านั้น แต่คนส่วนใหญ่ก็มักเหมารวมไปว่าเป็นทั้งจังหวัด ซึ่งมันไม่ใช่เลย ลองเปิดใจมาปัตตานีสักครั้งค่ะ แล้วจะอยากกลับไปเที่ยวอีกครั้งเหมือนกับเรา ซึ่งตั้งใจว่าจะหาโอกาสไปค้างปัตตานีสักคืน และเที่ยวให้เต็มอิ่มกว่านี้ เพราะเป็นเมืองที่สวย บรรยากาศดีจริงๆ

 

ผู้เขียน

นักเดินทางที่ชอบถ่ายภาพ อยากส่งต่อเรื่องราวของการท่องเที่ยว จากประสบการณ์ที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน

บทความที่เกี่ยวข้อง