เที่ยวทุ่งกระมัง ชัยภูมิ ท่องซาฟารีเมืองไทย

เมืองไทยมีผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์น่าไปพักผ่อน ท่องธรรมชาติอยู่หลายแห่ง หนึ่งในนั้น คือ  ทุ่งกระมัง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จ. ชัยภูมิ สถานที่ที่ไปด้วยกันจะขอเรียกว่ายังมีธรรมชาติที่แสนบริสุทธิ์  มาที่นี่จะได้พบกับความอุดสมบูรณ์ของป่าไม้และสัตว์ป่านานาชนิดแบบใกล้ชิด จะเรียกว่าเหมือนเราได้มาท่องซาฟารีแห่งเมืองไทยก็ย่อมได้ เรามาพักผ่อนและเดินทางไปฟังเสียงบทเพลงของป่าไม้และสัตว์ป่ากันด้วยกัน

 

dew_3904

 

ทริปนี้ใช้เวลาเพียง 2 วัน 1 คืน ออกเดินทางจากกรุงเทพแต่เช้ามืด  ช่วงบ่ายแก่ๆมาถึง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว ระหว่างที่นั่งรถเข้ามาในเขตฯ จะได้พบกับผืนป่าเขียวขจีตลอดข้างทาง ยิ่งมาในหน้าฝนจะได้พบกับความชุ่มชื่นมากยิ่งขึ้น เมื่อมาถึงปากทางเข้าทำการแลกบัตรประชาชนหลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะวิทยุบอกไปยังที่ทำการว่ามีชื่อเราจองที่พักเข้ามาหรือไม่ เมื่อตรวจสอบเรียบร้อยแล้วว่าจองมา เสียค่าธรรมเนียมและให้บัตรผ่านเข้าไปได้ ที่นี่ค่อนข้างเข้มงวดนิดนึงเพราะเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ไม่ใช่อุทยานแห่งชาติ พื้นที่บางส่วนเป็นพื้นที่อนุรักษ์และค่อนข้างเปราะบาง และทางเขตฯเองไม่อยากให้ใช้คำว่าท่องเที่ยว แต่อยากให้ใช้คำว่า มาเรียนรู้และศึกษาธรรมชาติดีกว่า  จากปากทางเข้าประมาณเกือบชั่วโมงก็มาถึงที่ทำการฯเพื่อติดต่อเรื่องบ้านพักที่จองไว้  สำหรับใครที่ต้องการพักแรม การติดต่อจองบ้านพักต้องโทรมาติดต่อกับเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯจากนั้นทำหนังสือขออนุญาตล่วงหน้า 15–30 วัน  ซึ่งทางคณะเราได้ทำเรื่องของจองมาเรียบร้อยแล้ว ที่พักไม่ได้คิดค่าใช้จ่ายแต่จะเป็นการให้ค่าบำรุงตามแต่เราจะสะดวก

 

 

เส้นทางอันร่มรื่นภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว เขียวขจีเต็มไปด้วยต้นไม้ ตลอดเส้นทางที่รถวิ่งผ่านฉันเปิดหน้าต่างรถ รับลมเย็นและอากาศอันบริสุทธิ์ให้เข้ามาสัมผัสหน้า เป็นความอิ่มเอมที่ได้เข้าป่าฟังเสียงธรรมชาติ  ระหว่างเส้นทางมีสัตว์ตัวเล็กตัวน้อยวิ่งผ่านหน้ารถอย่างรวดเร็วให้ความรู้สึกตื่นเต้นและลุ้นว่ามันคือ ตัวอะไรน่ะ เที่ยวป่าฤดูไหนดีที่สุด ฉันก็คงยังตอบเหมือนเดิมว่า หน้าฝนแจ่มสุดๆ
dew_4016

dew_3992

 

บ้านพักของพวกเราชื่อ เรือนพักรับรอง 8 เป็นบ้านแบบเรือนแถวยาว พักได้ห้องละ 2-3 คน มีประมาณ 9 ห้อง บ้านพักที่นี่จะเป็นบ้านไม้ทั้งหมดสภาพไม่ได้ใหม่มากออกโทรมนิดหน่อยข้างในมีเพียงฟูกที่นอนและผ้าห่ม ไม่มีน้ำอุ่น  บ้านพักอาจไม่ได้เหมาะกับคนรักสบายและชอบสิ่งอำนวยความสะดวกครบ ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ไฟปั่น 6 โมงเย็น-3 ทุ่ม แต่สำหรับใครอยากได้บรรยากาศที่เข้าถึงธรรมชาติ แสนสงบท่ามกลางต้นไม้เขียวขจี  อยากสูดอากาศบริสุทธิ์ที่เรียกว่าบริสุทธิ์จริงๆ  มาที่นี่ตอบโจทย์

 

dew_4003

dew_4072

 

บ้านพักอื่นๆที่อยู่ใกล้เคียงเป็นบ้านไม้เหมือนกัน บรรยากาศร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ใหญ่  ธรรมชาติมากบอกตามตรงว่าตอนแรกเมื่อมาถึงเห็นบ้านพักยังแอบเซ็งเล็กน้อยด้วยความที่เรายังติดเทคโนโลยี ไฟก็ปิดเร็ว แล้วจะทำอะไร สัญญาณก็ไม่มี เน็ตก็เล่นไม่ได้ เฟสบุค โซเชี่ยลทั้งหลาย โดนตัดขาดไปชั่วคราว แต่เชื่อมั้ยค่ะ 3 ทุ่ม หลับทันทีและหลับง่ายมาก เพราะบรรยากาศเงียบจิง อากาศก็เย็นสบายมาก ไม่มีตื่นกลางดึก หลับยาว ตื่นมาอีกครั้งคือ เช้า รู้สึกได้พักผ่อนอย่างเต็มที่

 

dew_4011

dew_4056

ไม่ไกลจากที่พักเป็นที่ตั้งของอาคารรับรอง สำหรับไว้ทำกิจกรรมและรับประทานอาหาร ในวันที่เดินทางมีน้องๆเยาวชนมาออกค่ายด้วย  ในส่วนของอาหารถ้าไม่ได้เตรียมมาเองมีบริการครัวสวัสดิการโดยต้องแจ้งล่วงหน้าตอนจองห้องพัก ทางแม่ครัวจะเตรียมรายการอาหาร ให้เองตามความเหมาะสม  ส่วนค่าอาหารนั้นคิดเป็นรายมื้อต่อหัว  ฉันฝากท้องไว้กับที่นี่ 2 มื้อ คือ มื้อเย็นมีอาหาร 5 อย่างง่ายๆ เช่น ผัดผัก  น้ำพริก ต้มยำไก่  ไข่เจียว  ผลไม้ ราคาต่อหัวจะอยู่ที่คนละ  140 บาท   และมื้อเข้าเป็นข้าวต้ม กาแฟ ราคาหัวละ 90 บาท (ราคาอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาสอบถามก่อนเดินทางอีกครั้ง)

 

dew_4060

 

บริเวณอาคารรับรองก็จะมีเจ้าเนื้อทรายเดินไป คุ้นเคยกับนักท่องเที่ยวมาก เหมือนมันรู้ว่าที่นี่จะมีอาหารให้ เลยมาอยู่กันตรงนี้มากเป็นพิเศษ

 

4 โมงกว่า ได้เวลาที่เราจะไปท่องซาฟารี ตะลุยทุ่งกะมังกันแล้ว ถนนจากหน้าบ้านพักไปยังทุ่งกะมัง

 

dew_4046

 

ไม่ถึง 3 นาที มองเห็นทุ่งหญ้าสีเขียวกว้างใหญ่เราจะได้เห็นฝูงเนื้อทรายหลายสิบตัว กำลังเดินเล็มหญ้าหาอาหารอยู่กลางทุ่งหญ้า เห็นครั้งแรกรู้สึกเหมือนอยู่ในดินแดนซาฟารี  ที่ไม่ต้องเข้าป่าลึกไปส่องสัตว์ แค่ขับรถออกมาจากบ้านพักมานิดเดียวเราก็ได้เห็นภาพแบบนี้ เป็นความรู้สึกฟินอยากบอกไม่ถูก

 

dew_3917

dew_3851

dew_3904

dew_3896

 

dew_3880

 

ทุ่งกะมัง  เป็นที่ราบทุ่งหญ้ากว้างใหญ่กลางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว ลักษณะคล้ายแอ่งกะละมังอยู่กลางผืนป่า จึงเป็นที่มาของชื่อ ทุ่งกะละมัง หรือ ทุ่งกะมัง  เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9  ที่ทรงต้องการให้มีการอนุรักษ์สัตว์ป่าและนำสัตว์ป่ากลับคืนถิ่น เช่น เก้ง กวาง กระจง และนกต่าง ๆ มีการจัดทำดินโป่งในบริเวณทุ่งกะมังเพื่อให้สัตว์มากินดินโป่งและเผา แปลงทุ่งหญ้าเพื่อให้เกิดหญ้าระบัดเป็นอาหารของเก้ง กวางในช่วงฤดูแล้ง บนยอดเนินเหนือบริเวณทุ่งกะมัง มีพระตำหนักที่ประทับอยู่เหนือ อ่างน้ำ จนเกิดวลีหนึ่งที่ว่า  “ภูเขียว บรมโพธิสมภารของสัตว์ป่า”  ทุ่งกะมังถือเป็นแหล่งอาหารชั้นดีของเหล่าเก้งกวาง และสัตว์ป่านานาชนิด มีการนำเอาดินโป่ง มาใส่ไว้เป็นจุดๆ เพื่อให้สัตว์ป่าได้มากิน   จึงทำให้สามารถพบเห็น เหล่าบรรดาเนื้อทราย เก้ง กระจง ออกมาหา อาหารโดยเฉพาะในช่วงบ่ายจะพบเห็นได้มากที่สุด

 

dew_3907

 

เดินเข้าไปในทุ่งหญ้าส่องสัตว์แบบใกล้ชิด ส่วนใหญ่สัตว์ที่เราเห็นเจ้าหน้าที่บอกว่า คือ เนื้อทราย จะมีกวางมาบ้างเล็กน้อย

 

ทุ่งกะมัง ชัยภูมิ

dew_3870

 

ใกล้ค่ำแล้วได้เวลากลับไปและรับประทานอาหารซึ่งเจ้าหน้าที่แจ้งว่ามื้อเย็นเวลา 6.30 น. ต้องตรงเวลาและทำเวลากันหน่อยเพราไฟจะปิดตอนสามทุ่มครึ่ง  ระหว่างทางผ่านอ่างเก็บน้ำเนื่องจากมีฝนตกมาตลอดมีหมอกคลอเคลียมาเล็กน้อย

 

50 DEW_3919

 

เช้าวันใหม่พวกเราตื่นแต่เช้าและมาที่ทุ่งกะมังอีกครั้ง ตั้งใจอยากเห็นสายหมอกในยามเช้า วันนี้หมอกไม่เยอะแต่อากาศดีสุดๆ แต่ช่วงเช้าเนื้อทรายและกวางมีให้ชมไม่เยอะเท่าช่วงเย็น

ทุ่งกะมัง ชัยภูมิ

dew_3959

 

หลังจากรับประทานอาหารเช้าเรียบร้อยแล้วประมาณ 9 โมง กว่า พวกเราออกเดินทางกลับ เมื่อมาถึงด่านเก็บเงิน จะมี จุดชมวิวปางม่วง  ถือเป็นจุดชมวิวที่งดงามเห็นทิวทัศน์ของป่าอันเขียวขจี ยิ่งถ้าฝนตกก็จะมีโอกาสได้เห็นหมอกคลอเคลียอยู่ตามไหล่เขา

 

จุดชมวิวปางม่วงจุดชมวิวปางม่วง

จุดชมวิวปางม่วง

 

เป็นความโชคดีของฉันที่ได้เห็นแต่อาจจะฟุ้งไปซักหน่อย แต่เพียงแค่นี้ก็รู้สึกดีใจมากแล้ว เป็นความสดชื่นในยามเช้าที่เราได้พบเห็นหลังจากเที่ยวที่ทุ่งกะมังแล้ว เรียกว่าหากเรามาที่นี่เราก็จะได้สัมผัสและพบเจอกับธรรมชาติครบทุกรูปแบบ ทิวทัศน์ที่เห็นเบื้องหน้าประกอบไปด้วยเทือกเขาน้อย ใหญ่กว้างไกลสุดสายตา มีป้ายบอกว่าเบื้องหน้าคือ ภูเขาลูกใดบ้าง ภูเขาสูงยอดตัดที่สูง คือ ภูผาจิต ถัดมาทางขวาคือ ภูกระดึง แต่วันนี้หมอกปกคลุมเยอะเลยอาจเห้นภูเขาต่างๆไม่ชัดเจน

 

จุดชมวิวปางม่วง

จุดชมวิวปางม่วง

 

วันพักผ่อนของคุณลองเปลี่ยนบรรยากาศไปชมการใช้ชีวิตของสัตว์ป่า ต้นไม้   มานอนเล่นในบ้านไม้เก่าๆแต่บรรยากาศฟิน ที่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว สักครั้ง บางครั้งช่วงเวลาหนึ่งของการพักอาจไม่ได้ต้องการอะไรมากกว่าการที่ได้กลับไปอยู่กับธรรมชาติที่บริสุทธิ์บ้าง ไม่แน่อาจได้ความประทับใจที่เราอาจหาไม่ได้จากการไปเที่ยวในที่เจริญหรือการไปนอนพักผ่อนในรีสอร์ทหรูก็ได้ค่ะ

 

การติดต่อจองบ้านพักต้องโทรมาติดต่อกับเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯจากนั้นทำหนังสือขออนุญาตล่วงหน้า 15–30 วัน  โดยส่งไป ที่อีเมล์  [email protected]  สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ โทร 097 002 7290  บ้านพักของเป็นอาคารไม้ทั้งหมดมีพื้นที่ กางเต้นท์ไว้รองรับด้วย โดยราคาบ้านพักแล้วแต่นักท่องเที่ยวจะให้โดยให้ตามความเหมาะสมตามจำนวนคน ในส่วนของอาหาร ถ้าไม่ได้เตรียมมาเองมีบริการครัวสวัสดิการโดยต้องแจ้งล่วงหน้าตอนจองห้องพักทางแม่ครัวจะเตรียมรายการอาหาร ให้เองตามความเหมาะสม  ส่วนค่าอาหารนั้นคิดเป็นรายมื้อต่อหัว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวมีไฟฟ้าให้ใช้แค่เวลา 18.30 – 21.30 น. ควรเตรียมไฟฉายหรือแบตเตอรี่โทรศัพท์และกล้องมาให้พร้อม

 

1. รถยนต์ส่วนตัว
ใช้เส้นทางถนนมิตรภาพ ไปจนถึงแยกสีคิ้ว เลี้ยวซ้ายเข้าสู่จังหวัดชัยภูมิ และใช้ทางหลวงหมายเลข 201 ไปจนถึงอำเภอภูเขียวได้เลย หากต้องการเข้าชมเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว ให้เลี้ยวซ้ายที่แยกหนองสองห้อง ไปตามทางหลวงหมายเลข 2055 มุ่งหน้าตามป้าย บอกทาง ไปเขื่อนจุฬาภรณ์ จะพบเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าอยู่ทางซ้าย ประมาณกิโลเมตรที่ 24-25 ติดต่อกับเจ้าหน้าที่แลกบัตรที่ด่านตรวจ พร้อมทั้งเสียค่าธรรมเนียมการเข้าและต้องวิ่งรถเข้ามาในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอีกราว 24 กิโลเมตร เพื่อมายังที่ทำการเขตรักษา พันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว (ทุ่งกะมัง)
2.รถโดยสารประจำทาง
ไม่ว่าจะเดินทางมาจากไหนให้ไปตั้งต้นที่สถานีขนส่งชุมแพ จ. ขอนแก่น ที่นั่นจะมีรถโดยสารประจำทางสายชุมแพ – เขื่อนจุฬาภรณ์ ถ้าจำไม่ผิดและยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง รถจะมาวันละ 1 รอบเท่านั้นในช่วงเช้ามืด ถ้ากลัวพลาดแนะนำโทรไปสอบถามเวลารถออก กับสถานีขนส่งชุมแพโดยตรง นั่งมาลงยังป้ายหน้าทางเข้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว และรออยู่กับเจ้าหน้าที่ตรงด่านตรวจเพื่อขอติดรถ เจ้าหน้าที่หรือนักท่องเที่ยวท่านอื่นๆเข้าไปยังที่ทำการด้านใน ซึ่งต้องวิ่งรถเข้าป่าไปอีก 24 กิโลเมตร

ผู้เขียน

นักเดินทางที่ชอบถ่ายภาพ อยากส่งต่อเรื่องราวของการท่องเที่ยว จากประสบการณ์ที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน

บทความที่เกี่ยวข้อง