สตรีทอาร์ท สตูล ถนนบุรีวานิช ถนนสายวัฒนธรรมเก่าแก่

อำเภอเมืองสตูล คือ อำเภอที่ส่วนใหญ่จะไปไม่ถึงและไม่ได้ผ่าน เพราะจุดหมายของนักท่องเที่ยวที่มาเยือนสตูล จะไปยังอำเภอละงู ที่ตั้งของเกาะหลีเป๊ะ ซึ่งจะถึงก่อนอำเภอเมือง แต่ถ้าหากมีเวลาแนะนำให้ผ่านเข้ามาเมืองสตูลกันสักหน่อย มาชมบรรยากาศความเป็นเมืองเก่าที่เงียบสงบ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทั้ง คนไทยพุทธ ไทยมุสลิม และไทยจีน ชมตึกเก่าสไตล์ชิโนโปรตุกีสถ่ายภาพ สตรีทอาร์ท สตูล อีกมุมเล็กๆน่ารัก ที่จะทำให้แอบอมยิ้มไปกับภาพเหล่านั้น

 

 

สตรีทอาร์ท สตูล อยู่ในเส้นถนนบุรีวานิช  ถนนสายเก่าแก่สายแรกของเมืองสตูล ถนนเส้นนี้มีความยาวประมาณ 600 เมตร มีอาคารเก่าแก่ประมาณ 20 คูหา เป็นตึกแถวสองชั้นก่ออิฐถือปูน มีสถาปัตยกรรมอันโดดเด่น คือ ตึกชิโนโปรตุกีส ร้านค้าปัจจุบันยังค้าขายข้าวของเครื่องใช้ บ้างก็ปรับเป็นร้านค้าแนวใหม่ บ้างยังคงกิจการดั้งเดิมไว้  ถึงแม้จะมีตึกเก่าไม่มาก แต่ได้เห็นวิถีชีวิตของคนเมืองสตูลในอีกมุมหนึ่ง ที่เงียบสงบ มีความเป็นสตูลแท้ๆ แตกต่างจากภาพความคึกคักที่เคยเห็นเมื่อไปเที่ยวเกาะหลีเป๊ะ  ในเมืองสตูลมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทั้ง คนไทยพุทธ  ไทยมุสลิม และไทยจีน เพราะฉะนั้นในตัวเมืองจะได้เห็นทั้ง มัสยิด วัดไทย และวัดในสไตล์จีน

 

 

 

สำหรับการเดินทางมาถ่ายภาพสตรีทอาร์ท ถนนบุรีวานิช  แนะนำให้ปักหมุด มาที่ อาซิปโรตี ร้านโรตีชื่อดังบนถนนเส้นนี้ ซึ่งที่ตั้งของร้านจะอยู่ใกล้กับซอยที่มีภาพสตรีทอาร์ต จอดรถริมถนนได้เลยค่ะ มาถึงแล้วก็ต้องแวะทานโรตี มะตะบะ และชาใต้ อาหารท้องถิ่นขึ้นชื่อของสตูล โรตีร้านนี้มีหลากหลายแบบ ทั้งโรตีนมน้ำตาล โรตีไข่ดาว โรตีแกง รสชาติถือว่าโอเคค่ะ 

 

 

จากร้านโรตี หันหน้าเข้าหาถนนแล้ว เลี้ยวขวาเดินมานิดนึงก็จะเจอกับภาพสตรีทอาร์ท และบรรยากาศความเก่าแก่ของเมืองสตูล

 

 

ถัดจากร้านโรตี จะมีซอยเล็กๆ ที่มีภาพวาดสตรีทอาร์ท ตั้งแต่ต้นซอยไปจนสุดไปยังถนนอีกฝั่ง ซึ่งระยะทางในซอยไม่ไกลประมาณ 500 เมตร เท่านั้น ตลอดทั้งซอยมีภาพเพียงไม่กี่ภาพ เป็นภาพการ์ตูนที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนเมืองสตูล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนไทยมุสลิม ภาพสตรีทอาร์ท จึงสะท้อนเรื่องราว เกี่ยวกับวัฒนธรรม ความเชื่อ และประเพณีที่ปฎิบัติ ทั้งการแต่งกายในแบบมุสลิม การกินน้ำชา การละมาด ภาพว่าวสตูล  สื่อถึงมหกรรมว่าวประเพณีและว่าวนานาชาติสตูล ที่มีชื่อเสียง

 

 

เดินมาสุดซอย จะเจอกับภาพวาดบนตึกของ สมาคมจงหัวสตูล เป็นภาพป้ายสัญลักษณ์ ชื่อ ถนนวัฒนธรรมของสตูล ภาพกลุ่มเด็กเกาะกลุ่มกำลังแอบดูจากหน้าต่าง  เด็กกำลังเล่นหมากเก็บ มาจนถึงภาพนี้ ที่อยู่ในอาคารเดียวกัน เป็นภาพการแต่งกายแบบจีนผสมกับมุสลิม

 

 

จากนั้นเดินย้อนกลับไปยังถนนบุรีวานิช ผ่านถนนอีกเส้นหนึ่งอยู่ไม่ไกล ซึ่งเป็นที่ตั้งของ ศาลเจ้าโป้เจ้เก ซึ่งเป็นศาลเจ้าจีน บริเวณถนนเส้นนี้ จะมีซอยต่างๆ ซึ่งมีภาพสตรีทอาร์ตอยู่บ้าง แต่จะเป็นภาพในแนวกราฟฟิตี้

 

 

ไปต่อยังจุดสุดท้ายที่มีภาพวาดสุดอลังการ ตั้งอยู่หน้า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสตูล เป็นภาพที่สื่อถึงความเป็นเมืองสตูลได้แบบชัดเจนมาก โดยเฉพาะความเชื่อในศาสนาอิสลาม เป็นภาพขนาดใหญ่ริมกำแพงตึก วาดได้สวยงามและมีชีวิตมากๆ  

 

 

ถ่ายภาพแล้ว อย่าลืมแวะไปยัง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสตูล (คฤหาสน์กูเด็น) ชมอาคารเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งของจังหวัด อาคารของพิพิธภัณฑ์ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น แบบตะวันตก ประตูหน้าต่างรูปโค้งสถาปัตยกรรมยุโรบ หลังคาทรงปั้นหยาแบบไทยและใช้กระเบื้องดินเผารูปกาบกล้วย บานหน้าต่างเป็นแผ่นไม้ชิ้นเล็กๆ เป็นเกล็ดแนวนอน ช่องลมหน้าบนตกแต่งรูปดาวสถาปัตยกรรมแบบอิสลาม สร้างในสมัยที่พระยาภูมินารถภักดี หรือ ตวนกูบาฮารุดดินบินตำมะหงง เจ้าเมืองสตูลในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คฤหาสถ์แห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ไม่ได้ประทับแรม และเคยเป็นบ้านพักและศาลากลางจังหวัด ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

 

 

ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมโบราณวัตถุและจัดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมประเพณีและวิถีชีวิตของชาวสตูลในด้านต่าง ๆ อัตราค่าเข้าชมชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 50 บาท ใช้เวลาไม่ถึงครึ่งวัน สามารถเที่ยวชม สตรีทอาร์ท ได้แล้วค่ะ  ถึงแม้จะมีภาพไม่เยอะมากเหมือนกับจังหวัดอื่น แต่โดยส่วนตัวเรามองว่าเป็นภาพที่ทรงพลัง ได้เห็นถึงความเชื่อ ความศรัทธา ของคนเมืองสตูล ผ่านภาพเหล่านี้

 

 

ผู้เขียน

นักเดินทางที่ชอบถ่ายภาพ อยากส่งต่อเรื่องราวของการท่องเที่ยว จากประสบการณ์ที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน

บทความที่เกี่ยวข้อง