วังพญาไท กรุงเทพ

วังพญาไท พระราชวังเก่าแก่ ในย่านถนนราชวิถีใกล้อนุสาวรีย์ชัยฯ  ที่แฝงไปด้วยกลิ่นอายความโบราณสุดคลาสสิก ลักษณะของสถาปัตยกรรมอันโดดเด่นของพระราชวังพญาไทคือหอคอยสูงและ หลังคายอดแหลม ของพระที่นั่งพิมานจักรี ส่วนภายในมีภาพเขียนแบบปูนเปียกเป็นลวดลายงดงามแบบตะวันตก วังพญาไท สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นพระตำหนักที่ประทับหลังเล็ก สืบเนื่องมาจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงรับสั่งให้รื้อพระตำหนักเดิมบางส่วน และสร้างพระที่นั่งที่ประทับเพิ่มเติมขึ้นอีก 4 แห่ง เป็น พระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน พิมานจักรี ศรีสุทธนิวาส เทวราชสภารมย์ และอุดมวนาภรณ์ คล้องจองกัน ปัจจุบันพระราชวังพญาไทได้มีการบูรณะใหม่ โดยเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชมฟรี  โดยเปิดให้เข้าชมทุกวัน และในวันเสาร์ เปิดให้ชมภายในพระราชวังวันละ 2 รอบ เวลา 9.30 น. และ 13.30 น.

 

 

สิ่งก่อสร้างในวังพญาไท

 

พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นในภายหลัง เป็นพระบรมราชา นุสาวรีย์หล่อสำริด ทรงยืนตั้งอยู่ด้านหน้าอาคารเทียบรถพระทีนั่งเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ที่หล่อขึ้นขนาดเท่าองค์จริงทรงเครื่องยศ จอมพลทหาร บกประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี

 

 

อาคารเทียบรถพระที่นั่ง ร้านกาแฟนรสิงห์
อาคารเทียบรถพระที่นั่ง ตั้งอยู่ด้านหลังพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว มีลักษณะเป็นอาคารแบบ นีโอคลาสสิคอยู่ด้านหน้า พระที่นั่งพิมานจักรีโดยดาดฟ้าของอาคารเชื่อมกับพระที่นั่งพิมานจักรี ใช้เป็นลานเทียบ รถพระที่นั่งและ ห้องพักของผู้ที่รอเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระ มงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวปัจจุบันทางพระราชวังได้เปิดให้เอกชนเช่าเป็นร้านกาแฟ นรสิงห์ ณ พญาไท คลิ๊กชมรีวิว ร้านกาแฟนรสิงห์

 

 

พระที่นั่งพิมานจักรี

 เป็นพระที่นั่งองค์ประธานของหมู่พระที่นั่งภายในพระราชวังพญาไท สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระที่นั่งก่ออิฐฉาบปูน 2 ชั้น โดยมีสถาปัตยกรรมทรงโรมันเนสก์ผสมกับทรงกอธิคโดยจุดเด่นของ พระที่นั่งองค์นี้อยู่ที่ยอดโดมสีแดงซึ่งในอดีตใช้สำหรับ ชักธงมหาราชขึ้นเหนือพระที่นั่งเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวเสด็จมา ประทับรวมทั้ง บริเวณฝาผนังใกล้กับเพดานและเพดานของพระที่นั่งมีภาพเขียนลายดอกไม้แบบปูน เปียกซึ่งมีความงดงามมากและ บาน ประตูเป็นไม้จำหลักปิดทอง มีจารึกพระปรมาภิไธยย่อเหนือบานประตูว่า “ร.ร.๖”ซึ่งหมายถึง สมเด็จพระรามราชาธิบดี รัชกาลที่ ๖ พระที่นั่งพิมานจักรีใช้เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระมเหสี

 

 

พระที่นั่งศรีสุทธนิวาส

พระที่นั่งศรีสุทธนิวาส เดิมมีนามว่า พระที่นั่งลักษมีพิลาส ตามพระนามของพระนางเธอลักษมีลาวัณ พระชายา อยู่ทางด้านทิศตะวันตก ของพระที่นั่งพิมานจักรี เป็นพระที่นั่งสูง 2 ชั้น ก่ออิฐ ฉาบปูน มีโดมขนาดเล็ก ลักษณะอาคารเป็นแบบอิงลิช โกธิค มีทางเชื่อมต่อกับ พระที่นั่งพิมานจักรีในระดับชั้น 2 ใช้เป็นที่รับรองของเจ้านายฝ่ายใน ที่ฝาผนังตอนใกล้เพดานและเพดาน มีจิตรกรรมลักษณะแบบอาร์ต นูโว เป็นลายดอกไม้ และที่ห้องสำคัญเป็นภาพชายหญิง ในปัจจุบัน คงเหลือพระที่นั่งที่สร้างใน รัชกาลที่ 5 เพียงองค์เดียว คือ พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ และพระที่นั่งที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 คือ พระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน พระที่นั่งพิมานจักรี พระที่นั่งศรีสุทธาวาส พระที่นั่งอุดมวนาภรณ์ พระตำหนักเมขลารูจี สวนโรมัน และ ศาลท้าวหิรันยพนาสูร โดยชื่อของพระที่นั่งจะตั้งให้มี ความคล้องจองกัน ได้แก่ ไวกูณฐเทพยสถาน พิมานจักรี ศรีสุทธนิวาส เทวราชสภารมย์ อุดมวนา ภรณ์ ลักษณะของสถาปัตยกรรมอัน โดดเด่นของพระราชวังพญาไทคือหอคอยสูงและ หลังคายอดแหลมของพระที่นั่ง พิมานจักรี ส่วนภายในมีภาพเขียนแบบปูนเปียกเป็นลวดลายงดงามแบบตะวันตก

 

 

พระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน
พระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถานตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของพระที่นั่งพิมานจักรี เป็นพระที่นั่งก่ออิฐฉาบปูน เดิมเป็นพระที่นั่ง 2 ชั้น และได้ต่อเติมเป็นพระที่นั่ง 3 ชั้นในภายหลัง พระที่นั่งองค์นี้มีทางเชื่อมต่อกับพระที่นั่งอุดมวนาภรณ์ในชั้นที่ 2 โดยชั้นที่ต่อเติมขึ้นมา ในภายหลังจัดเป็นห้องบรรมทมและห้องสรงส่วนพระองค์

 

 

พระที่นั่งเทวราชสภารมย์
พระที่นั่งเทวราชสภารมย์สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวงเสด็จมา ประทับ ณ พระราชวังพญาไทโดยมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นแบบไบแซนไทน์ภายในท้องพระโรงทาสีฉูดฉาดหลายสี และมี พระปรมาภิไธยย่อ “สผ” (เสาวภาผ่องศรี พระนามเดิมของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง) อยู่ตอนบนใกล้หลังคาภายในพระที่นั่ง พระที่นั่งแห่งนี้ใช้เป็นท้องพระโรงสำหรับงานต่าง ๆ เช่น ใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีทาง ศาสนาในโอกาสต่าง ๆ ใช้รับรองแขกส่วนพระองค์ ใช้เป็นโรงละคร เป็นต้น

 

 

พระที่นั่งอุดมวนาภรณ์
พระที่นั่งอุดมวนาภรณ์ ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของพระที่นั่งไวกูญฐเทพยสถาน เป็นพระที่นั่งก่ออิฐฉาบปูน 2 ชั้น เน้นการ ออกแบบที่เรียบง่าย โครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กและมีเหล็กโครงสร้างดัดเป็นแบบอาร์ต นูโว (Art Nouvea)ตกแต่งด้วย กระเบื้องเคลือบสีขาว สันนิษฐานว่าการสร้างพระที่นั่งองค์นี้ไม่น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับหมู่พระที่นั่งพิมานจักรี แต่เมื่อใช้เป็น ที่ประทับของพระสุจริตสุดาและพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีพระสนมเอกและพระวรราชเทวีในรัชกาลที่ 6 ตามลำดับจึงมี การสร้างทางเชื่อมกับพระที่นั่งไวกูญฐเทพยสถานในชั้นที่ 2 ทำให้สามารถเดินถึงกันกับหมู่พระที่นั่งพิมานจักรีได้

 

พระตำหนักเมขลารูจี

พระตำหนักเมขลารูจี อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของพระที่นั่งพิมานจักรี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักองค์น้อยขึ้นหนึ่งองค์ที่ริมคลองพญาไทตอนกลางพระราชทานนามว่า พระตำหนักอุดมวนาภรณ์ เป็นเรือนไม้สัก 2 ชั้น หลังคามุงกระเบื้องดินเผา ภายในมีภาพเขียนสีลายนก สวยงาม และมีสระสรง ใช้เป็นที่สรงน้ำหลังจากทรงพระเครื่องใหญ่ (ตัดผม) แล้ว และได้เสด็จมาประทับอยู่ชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2463 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นที่ประทับแห่งแรกใ นพระราชวัง แห่งนี้ โดยได้ใช้เป็นที่ทรงงานวางโครงการสร้างพระราชมณเฑียรสถานสำหรับประทับถาวรอีกด้วยต่อมา เมื่อการก่อสร้าง พระราชมณเฑียร สถานอื่นๆ ในพระราชวังแห่งนี้แล้วเสร็จและมีพระราชประสงค์ให้พระที่นั่งด้านตะวันออกซึ่งเชื่อมต่อกับพระที่นั่งไว กูณฐเทพยสถานใช้นามว่า พระที่นั่งอุดมวนาภรณ์ จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามพระตำหนักแห่งนี้ใหม่เป็นพระตำหนักเมขลารูจี

 

 

สวนโรมัน
เข้าใจว่าเดิมเป็นหนึ่งในสามของพระราชอุทยานในพระราชวังพญาไทสำหรับพักผ่อนพระราชอิริยาบถ การจัดแต่งภูมิสถาปัตย์เป็น ลักษณะแบบเรขาคณิต ประกอบด้วยศาลาในสวนที่ใช้รูปแบบของสถาปัตยกรรมแบบโรมัน ศาลาทรงกลมตรงกลาง มีหลังคาโดม รับด้วยเสาแบบคอรินเธียน (Corinthian Order) ขนาบด้วยศาลาทรงสี่เหลี่ยมโปร่งไม่มีหลังคากำหนดขอบเขตด้วยเสา แบบเดียวกัน กับโดม รองรับคานที่พาดด้านบน (Entablature) มีการประดับด้วยตุ๊กตาหินอ่อนแบบโรมัน บริเวณบันไดทางขึ้น ซึ่งต่อเนื่องกับ ด้านหน้าที่มีสระน้ำขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ในแนวแกนเดียวกับโดม มีทางเดินกว้างโดยรอบสระน้ำเชื่อมต่อกับศาลา ซึ่งศาลานี้ใช้เป็น เวทีการแสดงกลางแจ้งในบางโอกาส

 

 

รายละเอียดเพิ่มเติม

พระราชวังพญาไท ตั้งอยู่ภายในโรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า เปิดให้เข้าชมทุกวัน และในวันเสาร์จะเปิดให้ชมภายในพระราชวังวันละ 2 รอบ เวลา 9.30 น. และ 13.30 น. สามารถสอบถามรายละเอียดและเยี่ยมชมวังได้ที่ สำนักงานชมรมคนรักวังฯ พระที่นั่งพิมานจักรี ชั้น 1 พระราชวังพญาไท ( ภายในโรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า ) เลขที่ 315 ถนนราชวิถี เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400 โทร. 0-2354-7660, 0-2354-7600-28 ต่อ 93646, 93694

 

ผู้เขียน

นักเดินทางที่ชอบถ่ายภาพ อยากส่งต่อเรื่องราวของการท่องเที่ยว จากประสบการณ์ที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน

บทความที่เกี่ยวข้อง