แต่ก่อนนั้นหากเอ่ยถึง ปากพนัง ชื่อของแหลมตะลุมพุก จะลอยเข้ามาในหัวก่อนอันดับแรก แต่ชื่อนี้ในความรู้สึกของชาวปากพนัง นั้นยากที่จะลืมเพราะครั้งหนึ่งแหลมแห่งนี้เคยเกิดวาตภัยทางทะเลครั้งใหญ่ที่กลืนกินชีวิตผู้คนและสูญหายไปกว่า 1300 คน เราจดจำปากพนังแต่ภาพของแหลมตะลุมพุก แต่ถ้าลองมาศึกษาเรื่องราวความเป็นมาของ เมืองปากพนัง อย่างแท้จริงจะรู้ว่า ปากพนัง ยังมีอีกหลายมุมให้ได้จดจำ ในฐานเมืองท่าที่เป็นศูนย์กลางทางการค้าที่สำคัญและเฟื่องฟูในอดีต เนื่องจากมีสภาพภูมิประเทศเป็นแหลมยื่นออกไปในทะเล และมีอ่าวภายในบริเวณปากแม่น้ำปากพนัง เหมาะแก่การเดินเรือและการกระจายสินค้าต่อไปยังหัวเมืองสำคัญอื่นๆ ถึงแม้ว่าเรื่องราวในอดีตจะค่อยเลือนหายไปกลายเป็นเพียงภาพความทรงจำ แต่ปากพนัง มีเรื่องราวที่ควรค่าแห่งการจดจำเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อได้มีการริเริ่มโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความทุกข์ยากเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง พระองค์เสด็จมาปากพนัง ถึง 13 ครั้ง โดยครั้งสำคัญที่สุดเมื่อปี 2536 ทรงมีพระราชดำริให้ก่อสร้างประตูระบายน้ำปากพนังหรือประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิเพื่อบริหารจัดการน้ำทั้งหมดทำให้สามารถแก้ปัญหาความเดือดร้อนเรื่องน้ำได้แบบยั่งยืน นอกจากนี้ประตูระบายน้ำดังกล่าว ยังกลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญที่ทำให้ได้ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ผู้คนต่างหลั่งไหลแวะมาเยือนไม่ขาดสาย ปากพนังกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวมากขึ้น ในวันนี้ไม่ได้มีแค่เพียงชื่อแหลมตะลุมพุก แต่ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอื่นเกิดอีกมากมาย ที่อยากจะมาแบ่งปัน
การเดินทางสู่ปากพนัง
สำหรับการเดินทางมาปากพนังนั้น ไม่ใช้เรื่องยากแต่อย่างใด เพราะอยู่ห่างจากตัวเมืองนครศรีธรรมราชประมาณ 20 กว่ากิโลเท่านั้น ถนนหนทางสะดวกเป็นทางราดยางตลอดทั้งสาย ใช้เวลาเดินทางราวครึ่งชั่วโมงเท่านั้น โดยใช้เส้นทางนครศรีธรรมราช – ปากพนัง (ทางหลวงสาย 4013) ทำให้สามารถเดินทางไปเที่ยวจากตัวเมืองแบบไปเช้าเย็นกลับได้ไม่ยาก ซึ่งการมาเที่ยวได้สะดวกและสามารถแวะไปตามที่ต่างๆ ได้หลายแห่ง ใช้รถส่วนตัวเดินทางจะสะดวกที่สุด แต่หากไม่มีรถส่วนตัว จะเช่ารถจากตัวเมือง หรืออาจใช้บริการโดยสารมีรถจากตัวเมืองถึงอำเภอปากพนังวิ่งตลอดทั้งวัน เพียงแต่การจะเดินท่องเที่ยวไปยังจุดต่างๆ อาจไม่สะดวกอาจต้องใช้บริการเหมามอเตอร์ไซต์รับจ้างในตัวอำเภอไปเที่ยวยังจุดต่างๆ
13.00 น. ประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ
เดินทางออกมาจากตัวเมืองนครกันประมาณเที่ยง มุ่งหน้าสู่อำเภอปากพนังสถานที่เป้าหมายจุดแรก คือ ประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องจากลุ่มน้ำปากพนังในอดีตที่มีความอุดมสมบูรณ์ และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ได้มีการเปลี่ยนแปลงไป เป็นผลให้ระบบนิเวศแหล่งน้ำขาดสมดุล เกิดปัญหาน้ำเค็มรุก น้ำจืดขาดแคลน น้ำเปรี้ยวจากป่าพรุแพร่กระจายน้ำเสียจากทั้งพื้นที่ทำนากุ้ง เกษตรกรรม รวมทั้งแหล่งชุมชน มีสิ่งก่อสร้างกีดขวางทางน้ำในพื้นที่ ทำให้มีช่องทางระบายน้ำไม่เพียงพอ เกิดน้ำท่วมในระดับสูงและยาวนาน สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวปากพนังเป็นอย่างมาก
หลังจากมีการสร้าง ประตูระบายน้ำ จึงได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวปากพนัง ตามชื่อ “อุทกวิภาชประสิทธิ” เป็นนามพระราชทานจากในหลวงรัชกาลที่ 9 มีความหมายถึง ความสามารถ แบ่งแยก น้ำจืด น้ำเค็ม ได้สำเร็จ นั่นคือ มีการบริหารจัดการ อย่างสมดุล ปิดกั้นน้ำเค็มไม่ให้รุกเข้าไปในลำน้ำ กักเก็บน้ำจืดไว้ใช้ดำรงชีพซึ่งจะเป็นบทเริ่มต้นในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คน หลังจากมีโครงการนี้ ชาวบ้านได้ประโยชน์อย่างมาก ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ก็ลดลง ระบายน้ำได้ดีมีน้ำไว้ใช้ตลอดปี จากที่ชาวปากพนังเคยยากจนที่สุดในประเทศ ตอนนี้เริ่มมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ด้วยทัศนียภาพโดยรอบที่งดงาม เพราะตั้งอยู่ท่ามกลางแม่น้ำปากพนัง มีสะพานข้ามฝั่งแม่น้ำเพื่อให้คนในพื้นที่ได้สัญจรข้ามไปมายังอีกฝั่ง จึงได้จัดทำเป็นสวนสาธารณะที่ร่มรื่นเหมาะสำหรับมาพักผ่อนชมวิว หากมองไปยังริมแม่น้ำสามารถมองเห็นสัญลักษณ์ ปล่องไฟสูงของโรงสีข้าวเก่าเก่าแก่ ที่ทางอำเภอปากพนังอนุรักษ์ไว้ ประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ จึงกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวไฮไลท์ ที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งของอำเภอปากพนัง
14.00 น. โรงสีเก่าปากพนัง
หากเรามาเที่ยวในอำเภอปากพนัง จะสังเกตเห็นปล่องไฟอิฐสูงตั้งโดดเด่นริมแม่น้ำปากพนังอยู่หลายจุด ปล่องไฟดังกล่าวคือ ปล่องโรงสี ข้าวเก่าในอดีตปากพนังเจริญสูงสุดยุคทำนาข้าวมีความอุดมสมบูรณ์ในฐานะอู่ข้าวอู่น้ำของภาคใต้ มีโรงสีข้าว(โรงสีไฟ) จำนวนมากขยายตัวอย่างรวดเร็วถึง 9 โรง มีเรือสำเภาจีนและเรือกลไฟจากบริษัทต่างมาชุมนุมเต็มหน้าอ่าวปากพนังรอขนส่งข้าวสารไปจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ จำนวนมากในแต่ละปี ถึงแม้วันนี้ภาพความยิ่งใหญ่ของแหล่งผลิตข้าวเพื่อการส่งออกในปากพนังจะได้จาง หายไปตามกาลเวลา ท้องทุ่งนา ได้แปรเปลี่ยนเป็นสวนและนากุ้ง กิจการโรงสีไฟที่เคยเจริญรุ่งเรืองเหลือแค่เพียงซากปล่องไฟโรงสีที่ตั้งตระหง่าน เป็นอนุสรณ์แห่งอดีตที่ชาวปากพนังภาคภูมิใจ
โดยปัจจุบันทางอำเภอปากพนังได้ทำการอนุรักษ์โรงสีต่างๆ ไว้ และกำลังเริ่มพัฒนาให้เห็นแหล่งท่องเที่ยวเชิง ประวัติศาสตร์เพื่อให้เข้าชมและเรียนรู้ถึงกลิ่นไปในอดีตที่เคยรุ่งเรืองของปากพนัง ซึ่งโรงสีที่เปิดให้เข้าชมในปัจจุบัน คือ โรงสีแม่ครู ผู้ก่อตั้งยุคแรก คือ จีนโคว้ ฮักหงี เป็นโรงสีแห่งแรกในภาคใต้สมัยรัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จมาเป็นประธานในพิธีเปิดกิจการโรงสี เมื่อ พ.ศ. 2447 ปัจจุบัน ได้มีการเปลี่ยนมือเจ้าของมาเป็นของบุคคล ซึ่งทำการซื้อโรงสีจากเจ้าของเดิมเพื่ออนุรักษ์ไว้ ซึ่งโรงสีดังกล่าวมีความสวยงามตามธรรมชาติด้วยต้นไม้และรากไทรขนาดใหญ่ขึ้นปกคลุมไปทั่วบริเวณเป็นภาพที่ดูอัศจรรย์และแปลกตา
ที่ตั้งโรงสีแม่ครู ริมแม่น้ำปากพนังฝั่งซ้ายใกล้ทางเข้าประตูระบายน้ำอุทกวิภาชน์ประสิทธิ์ โครงการในพระราชดำริลุ่มน้ำปากพนัง ริมถนนปากพนัง-ปากแพรก สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจเข้าชม ควรติดต่อไปยัง เจ้าของพื้นที่ ก่อนล่วงหน้า เพราะโรงสีดังกล่าวเป็นพื้นทส่วนบุคคลและล๊อกกุญแจทางเข้าไว้ หากไปไม่ถูกสามารถโทรสอบถามทางได้ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ ททท.สำนักงานนครศรีธรรมราช โทร 0 7534 6515-6
ถนนสายหลักของถนนในปากพนัง เราจะได้เห็นภาพของกังหันลมผลิตไฟฟ้า เพื่อจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยมีเป้าหมาย คือ จะสร้างทั้งหมด 500 ตัว ยาวไปถึงอำเภอปากพนังไปจนถึงอำเภอสทิงพระ สงขลา ซึ่งในส่วนของปากพนังนั้น บริเวณที่มีการก่อสร้างกังหันลม จะมีการปรับภูมิทัศน์ให้กลายเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งเริ่มมีนักท่องเที่ยวแวะมาถ่ายรูปกับกังหันลมกันบ้างแล้ว
15.00 น. ย้อนรอยแหลมตะลุมพุก
แหลมตะลุมพุกอ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันมายาวนาน เนื่องจากการถูกพายุพัดสร้างความเสียหาย ครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยเกิดจากวาตภัย เกิดจากพายุชื่อ “แฮร์เลียต” มีความเร็วลมที่จุดศูนย์กลาง90 กม./ชม คลื่นทะเล สูงกว่าเมตร วาตภัยในครั้งนั้นมีชาวแหลมตะลุมพุกเสียชีวิตและสูญหายไปกว่า 1,300 คน แหลมตะลุมพุกอยู่ที่ชายหาดปากพนัง เป็นชายหาดสีขาวยาวโค้งเรียวยาวไปตามชายฝั่งทะเลแนวเหนือ-ใต้ ระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร ด้านหนึ่งของแหลมรับลมทะเล จากฝั่งอ่าวไทย อีกด้านรับคลื่นลมในฝั่งอ่าวปากแม่น้ำปากพนัง นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางด้วยรถยนต์จนถึงปลายแหลม
ปัจจุบันมีการปรับทัศนียภาพให้สวยงามขึ้นเป็นแหล่งรวมร้านอาหาร ที่เสิร์ฟซีฟู้ดในราคาย่อมเยา เคล้าวิวทะเลให้คุณได้อิ่มเอมอย่างเอร็ดอร่อย
16.00 น. ชมคอนโดนกนางแอ่น เที่ยวตลาด 100 ปี ปากพนัง
จากแหลมตะลุมพุกย้อนกลับเข้ามายังตังอำเภอปากพนัง สังเกตว่าเมื่อเริ่มเข้าสู่ตัวเมือง จะเห็นบ้านเรือนที่เป็นอาคารสูงเรียงรายยาวตลอดทั้ง 2 ฝั่งถนน รวมทั้งได้ยินเสียงนกมาเป็นระยะ ตึกดังกล่าวเรียกว่าคอนโดนกนางแอ่น ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเมืองปากพนังนั้น ขึ้นชื่อในเรื่องของการเลี้ยงนกนางแอ่นแล้วนำรังมาขาย จนเป็นสินค้าขายดีขึ้นชื่อ สร้างรายได้ให้ชาวปากพนังรวยมาแล้ว วิธีการเลี้ยงคือ สร้างตึกสูงเป็นแท่งสี่เหลี่ยมคล้ายถ้ำเสมือนว่าเป็นรังเทียมให้กับนกนางแอ่นเข้ามาอาศัย ซึ่งอาคารเกือบทั้งหมดอยู่บริเวณริมฝั่งหรือไม่ไกลจากแม่น้ำปากพนังมากนัก เพราะนกนางแอ่นหากินตามแหล่งน้ำ ในยามเย็นซึ่งเป็นช่วงนกกลับรัง เราจะได้ยินเสียงเจื้อยแจ้วดังทั่วทั้งเมือง ถึงแม้ประชากรนกนางแอ่นจะลดน้อยลงทำให้ธุรกิจดังกล่าวเริ่มซบเซาลงไป แต่ก็ยังถือว่าเป็นแหล่งรายได้และสัญลักษณ์ที่สำคัญของปากพนัง
ขับรถเข้าตัวเมืองมาจอดไว้ที่วัดนันทาราม จากนั้นเดินมานิดเดียวจะถึง ตลาด 100 ปี เมืองปากพนัง เป็นตลาดเก่าแก่ดั้งเดิมมากว่า 100 ปี ตั้งอยู่ บริเวณท่าเรือข้ามฝากฝั่งตะวันออก อาคารบ้านเรือนส่วนใหญ่ สร้างด้วยไม้ด้วยความที่ไม่ได้เป็นตลาดปรุงแต่ง ให้เก่าเหมือนหลาย ๆ ที่ ความเรียบง่ายและธรรมชาติของวิถีชีวิตผู้คนแถวนั้น จึงดูมีมนต์ขลังดึงดูดให้เข้าไปเยี่ยมชม
ปัจจุบันมีสินค้าของฝากวางขายทั่วไป ในช่วงบ่ายสามโมงถึง 6 โมงเย็น โดยตลาดแห่งนี้ตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำ ช่วงต้นตลาดจะเป็นร้านขายของ ลักษณะเป็นห้องแถวติดกันเป็นบล็อกตลาด 100 ปี ขึ้นชื่อในเรื่องงอาหารทะเลสดๆ ราคาย่อมเยาที่ชาวประมง จะมาส่งแม่ค้าทุกวัน และมีปลากระบอกแห้งของขึ้นชื่อ
และอื่นๆ อีกมากมายที่สามารถซื้อนำกลับไปเป็นของฝากได้ นอกจากนี้ ยังมีถั่ว มันขี้หนู (หัวมันชนิดหนึ่ง) และแห้วพื้นบ้าน ของกินแบบบ้าน ๆ รวมไปถึง กุ้งแห้ง ปลาหมึกแห้ง และอื่นๆ อีกมากมายที่สามารถซื้อนำกลับไปเป็นของฝากได้
17.00 น. วิถีคนไร่จาก บ้านขนาบนาค
ช่วงเย็นขับรถย่อนกลับไปยัง ชุมชนบ้านขนาบนาค เป็นตำบลที่มีการประกอบอาชีพไร่จากอย่างจริงจัง และเป็นการสืบทอดอาชีพดั้งเดิมของชุมชนมากว่า 200 ปี ต้นจากเป็นพืชที่อยู่คู่ปากพนัง จะเห็นได้ว่าคนปากพนังประดิษฐ์สิ่งของเครื่องใช้และของกินที่ทำจากต้นจากมากมาย ถือได้ว่า เป็นภูมิปัญญามาตั้งแต่บรรพบุรุษ ถือได้ว่าเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญและอยู่เคียงคู่กับชาวลุ่มน้ำปากพนังเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศป่าชายเลน จะเห็นได้ว่าจากในพื้นที่ ต.ขนาบนาก ขึ้นกระจายบริเวณปากแม่น้ำและริมฝั่งคูคลองที่น้ำทะเลขึ้นถึงหรือบริเวณน้ำกร่อย
เราเดินทางมายัง ไร่จันทรังษี ซึ่งเป็นที่ตั้ง ศูนย์การเรียนรู้ “การทำตาลจาก” เจ้าของไร่ คือ คุณลุงโกวิทย์ จันทรังษี ซึ่งแต่ก่อนมีอาชีพเกษตรกรปลูกปาล์ม ยางพารา มะพร้าว ทำนากุ้งบ้าง ต่อมาได้รับการติดต่อจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เพื่อเข้ามาวิเคราะห์ดินและน้ำเพื่อขอจัดทำแปลงสาธิตในการปลูกต้นจาก เริ่มต้นที่จำนวน 3 ไร่ แปลงสภาพจากนากุ้งร้างเป็นป่าจาก เริ่มเก็บผลผลิตจากต้นจากได้ มีการทำตาลจาก และผลผลิตหลายอย่าง สร้างรายได้ให้กับครอบครัวต่อเดือนในหลักหลายหมื่นบาท นับจากวันนั้น ถึงวันนี้ เป็นเวลา 14 ปีแล้ว ที่นากุ้งร้างกลายเป็นป่าจากที่แสนอุดมสมบูรณ์
ภาพพระบรมฉายาลักษณ์จองสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเคยเสด็จมาเยี่ยมพื้นที่ไร่จันทรังษี เพื่อทรงติดตามความก้าวหน้าโครงการลุ่มน้ำปากพนังทุกปี เพื่อถวายรายงานในหลวง รัชกาลที่ 5 ซึ่งการทำไร่จากถือว่าเป็นพื้นที่ที่เกี่ยวของกันของโครงการ น้ำตาลจากอบแห้งเป็นเกล็ดได้น้ำตาลจากแคลอรี่ต่ำ เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน สมเด็จพระเทพฯทรงเคยสั่งซื้อน้ำตาลจากถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อทรงชงดื่มกับกาแฟ
น้ำตาลจากบรรจุใส่ขวด รสชาติหวานหอมชื่นใจ คือ โดยปกติเป็นคนไม่ชอบทานน้ำประเภทนี้อย่างมาก รู้สึกว่ามันมีกลิ่นและรสชาติแปลกๆ แต่พอได้ลองทานน้ำตาลจากของคุณลุงโกวิทย์ แอบติดใจ คือ หอมแบบบอกไม่ถูก ความหวานก็อยู่ในระดับกำลังดีไม่หวานเลี่ยนจนเกินไป
คุณลงโกวิทย์สาธิตขั้นตอนการทำตาลจากโดยเริ่มจากการคัดเลือกงวงจากที่ได้ขนาดตามอายุของทะลายจากจากนั้นใช้มีดคมๆ ปาดที่งวงบางๆ ในตอนเย็นใช้กระบอกไม้ไผ่มารองน้ำหวานจากงวงจาก รุ่งขึ้นตอนสายๆ ก็รวบรวมกระบอกใส่น้ำ หวาน นำไปเคี่ยวบนเตาไฟประมาณ 3 ชั่วโมง จะได้น้ำตาลจากที่ข้นหนืดแบบน้ำตาลปี๊บ
จากนั้นคุณลุงพาไปที่บ้าน เพื่อเลือกซื้อผลิตและจำหน่าย น้ำผึ้งจาก น้ำตาลจาก น้ำส้มจาก ผลิตจากธรรมชาติ100% มี หมาจาก เครื่องใช้ทำจากต้นจากใช้เป็นกระบวยตักน้ำและที่ใส่ของถือได้ว่าเป็นภูมิปัญญามาตั้งแต่บรรพบุรุษ และเป็นอีกหนึ่งของความภาคภูมิใจของชาวบ้านอีกด้วย
18.30 น. ตลาดย้อนยุคปากพนัง
หากมาเที่ยวปากพนังในวันอาทิตย์และวันหยุดนักขันฤกษ์ ลองแวะมาเที่ยวที่ตลาดย้อนยุคปากพนัง ตั้งอยู่สอง ริมฝั่งคลองบางฉลากซึ่งเชื่อมต่อกับแม่น้ำปากพนัง ขนานไปกับลำคลอง อีกฝั่งเป็นตลาดที่ติดเลียบกำแพงของเรือนจำ ส่วนอีกจะเป็น บ้านที่อยู่อาศัยที่เปิดเป็นร้านขายของต่างๆ ตลาดย้อนยุคปากพนังถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก
บรรยากาศของตลาดจะครึกครื้นตั้งแต่ปากทางเข้าที่มีนักดนตรีมาขับกล่อมเพลงไทยๆให้เข้ากับยุคสมัย ภายในตลาดพ่อค้าแม่ค้าต่าง มีการเทียบเคียงเสมือนอยู่ในยุคก่อนจริงๆ เหล่าพ่อค้าแม่ค้าบางคนต่างพากันแต่งกายย้อนยุค ส่วนภาชนะที่ใส่ขนม จะเป็นเครื่องปั้น ดินเผา ใบตอง ใบบัว หมาจาก ภาชนะที่สานด้วย ใบจาก เป็นภูมิปัญญาพื้นถิ่นของปักษ์ใต้ ใช้แทนกระบวยสำหรับตักน้ำ หากเป็น ถุงจะใช้เพียงถุงกระดาษเท่านั้น
อาหารมีทั้งคาวหวานและอาหารท้องถิ่นที่ขึ้นชื่อ อย่างหมี่ผัดปากพนัง ข้าวยำ ลูกชุบ ขนมหวานต่างๆ รสชาติอร่อยเกือบทุกร้าน หากมาเดินเที่ยวตลาดย้อนยุคปากพนังควรเตรียมท้องให้ว่างไว้ จะได้ลิ้มลองรสชาติอาหารต่างๆ ได้แบบ เต็มที่ ตลาดย้อนยุคปากพนังไม่ใช่แค่เพียงสร้างรายได้ให้คนในละแวกนี้เท่านั้น หากแต่ยังเป็นสืบสานมรดก ของกินของใช้จากคนรุ่น ก่อนส่งต่อถึงคนรุ่นใหม่ ให้ได้รู้จักและภาคภูมิใจ รวมถึงช่วยกันสืบทอดภูมิปัญญาอันเป็นเอกลักษณ์ของที่นี่
การเดินทางมาที่ตลาดย้อนยุคปากพนัง
จากตัวเมืองนครศรีฯ เดินทางเพียงแค่ 30 นาที ไปตามป้ายบอกทางสู่เรือนจำปากพนัง เพราะรอบๆ เรือนจำของทุกวันอาทิตย์หรือ วันหยุดนักขัตฤกษ์จะปรับสภาพพื้นที่เป็นตลาดย้อนยุค@ปากพนัง โดยเปิดทุกวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ตั้งแต่ 14.00-20.00 น.
เกือบ 1 วันของการได้ท่องเที่ยวไปยังจุดต่างๆ ของอำเภอปากพนัง เราได้รับรู้เรื่องราวมากมาย ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปในทางที่ดีขึ้นกว่าครั้งเมื่อหลายสิบปีก่อนที่เคยได้แวะมา ได้เห็นรอยยิ้ม เห็นอาชีพของคนในพื้นที่ จากคำกล่าวของเกษตรกรสวนส้มโอทับทิมสยามท่านหนึ่ง ได้พูดไว้ว่า “ ถ้าไม่มีโครงการของในหลวงรัชกาลที่ 9 คนปากพนังคงไม่มีวันนี้ ”
รายละเอียดเพิ่มเติม
คลิ๊ก โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง
คลิ๊ก ตลาดย้อนยุคปากพนัง
คลิ๊ก แหลมตะลุมพุก
คลิ๊ก ตลาด 100 ปี ปากพนัง
คลิ๊ก โรงสีเก่าปากพนัง
Tags : นครศรีธรรมราช, ปากพนัง, เที่ยวปากพนัง