ตะกั่วป่า อีกหนึ่งเมืองเก่ามีเสน่ห์ของพังงาในอดีต

พังงา นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวทางทะเลแล้ว ยังมีเรื่องราวของประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ ผ่าน เมืองเก่าตะกั่วป่า อีกหนึ่งเสน่ห์ในมุมของวิถีชีวิตและเรื่องราวของพังงาในอดีต  ในอดีตชุมชนเก่าตะกั่วป่า เคยคึกคักและรุ่งเรืองจากการเข้ามาทำเหมืองแร่ของชาวจีนกลุ่มหนึ่ง เมื่อกิจการเหมืองแร่ทยอยปิดตัวลง ความคึกคักของเมืองจึงเริ่มซบเซาและเงียบเหงาลงไป เหลือทิ้งไว้เพียงมนต์เสน่ห์เก่าแก่ที่น่าสนใจ ผ่าน ตึก อาคาร บ้านเรือน ที่ก่อสร้างตามสไตล์ชิโน-โปรตุกีส แบบโบราณ ตามถนนสายสำคัญ 5 สาย คือ ถนนศรีตะกั่วป่า ถนนอุดมธารา ถนนกลั่นแก้ว ถนนมนตรี 2 และถนนหน้าเมือง  

 

 

เมื่อมาถึง ตะกั่วป่า จุดแรกที่ต้องแวะ คือ ถนนศรีตะกั่วป่า ถนนสายหลักซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางที่ตั้งของชุมชนมีอาคารรูปแบบชิโน-โปรตุกีส อยู่อย่างหนาแน่นและค่อนข้างสมบูรณ์  หากเคยคุ้นเคยกับตึกเก่าของเมืองภูเก็ต ที่นี่มีลักษณะที่คล้ายกันแต่อาจจะมีให้ชมน้อยกว่า ทุกวันอาทิตย์ ถนนศรีตะกั่วป่าจะปิดเป็นถนนคนเดิน ตั้งแผงขายอาหารซึ่งน่าสนใจเพราะขายอาหารท้องถิ่น

 

 

นอกจากนี้ในถนนเส้นนี้ยังมีภาพ street art ที่วาดอยู่ตามอาคารบ้านเรือนต่างๆ อยู่หลายจุด รวมทั้งภาพ รถสองแถวโพถ้องบนผนัง อีกหนึ่งสัญลักษณ์ของเมืองตะกั่วป่า ให้ได้เราได้โพสต์ท่าถ่ายรูปอีกด้วย

 

 

TROK Cafe (ตรอกคาเฟ่) คาเฟ่สุดคลาสสิคในถนนศรีตะกั่วป่า ตั้งอยู่ในตรอกระหว่างบ้านโบราณ 2 หลัง โดยนำกำแพงอิฐเก่าแก่แบบดั้งเดิม ดัดแปลงเป็นร้านกาแฟ ที่คงคอนเซ็ป เก่า เท่  ร้านนี้กลายเป็นอีกหนึ่งมุมถ่ายรูปสวยที่กำลังได้รับความนิยม ร้านเปิดเฉพาะวันเสาร์ อาทิตย์  ตั้งแต่เวลา 10.00 – 19.30 น หากมาวันธรรมดาร้านก็จะปิด แต่สามารถเดินเข้าไปถ่ายรูปด้านหน้าได้

 

โรงเรียนต้าเหมิง  อาคารสีเหลืองสดใส เป็นโรงเรียนสอนภาษาจีนแห่งแรกและแห่งเดียวในเมืองเก่าตะกั่วป่า เปิดทำการเรียนการสอนอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๓ และปิดตัวลงเมื่อราวปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ปัจจุบันอาคารของโรงเรียนยังได้รับการบูรณะดูแลให้อยู่ในสภาพดี ทุกวันนี้นอกจากจะมีนักท่องเที่ยวหมุนเวียนมาเยี่ยมชมอยู่ไม่ขาดแล้ว ด้านในตัวอาคารยังถูกใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม ชื่อ “สถานธรรม เอน หงษ์ ฉี ฝอ ถัน” อีกด้วย

 

 

จวนเจ้าเมืองงเก่าและกำแพงค่าย  สร้างขึ้นในสมัยพระยาเสนานุชิต ผู้ว่าราชการเมืองตะกั่วป่าเป็นผู้สร้างล้อมรอบจวนที่พำนัก เป็นกำแพงค่ายป้องกันศัตรูที่ก่อด้วยกรวดทรายผสมปูน บ่งบอกถึงแหล่งสำคัญทางประวัติศาสตร์ในอดีตกาลที่ผ่านมา ซึ่งจะเป็นหลักฐานที่แสดงถึงความเจริญงอกงามในชุมชนตะกั่วป่า ได้ช่วยร่วมแรงกันก่อสร้างด้วยความรัก ความสามัคคี เพื่อป้องกันพวกที่ต่อต้านพวกก่อความวุ่นวายของบ้านเมืองในตะกั่วป่า จนสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ลักษณะทางสถาปัตยกรรม กำแพงค่ายสร้างขึ้นเพื่อป้องกันศัตรู

 

 

บ้านขุนอินทร์ บ้านสีเขียวอ่อนทรงชิโนโปรตุกีสที่ตั้งอยู่ในเมืองเก่าตะกั่วป่านี้ แท้จริงแล้วคือบ้านเก่าของ ร.อ.ท. ขุนอินทรคีรี ( ช้อย ณ นคร ) ผู้สำเร็จราชการและนายอำเภอของเมืองตะกั่วป่าในอดีตนั่นเอง เป็นสถาปัตยกรรมทรงยุโรปที่ดูแปลกตาและวิจิตรงดงามเป็นอย่างยิ่ง

 

 

วัดเสนานุชรังสรรค์  วัดสำคัญและเก่าแก่ของเมืองตะกั่วป่า สัณนิษฐานว่าสร้างขึ้นเพื่อ เป็นอนุสรณ์แก่พระยาเสนานุชิต ผู้สำเร็จราชการเมืองตะกั่วป่าในอดีต สถาปัตยกรรมภายในวัดดูยิ่งใหญ่และเต็มไปด้วยรายละเอียดทางงานศิลป์ เป็นอีกหนึ่งจุดท่องเที่ยวที่พลาดไม่ได้ 

 

 

จุดสุดท้าย สะพานเหล็กโคกขนุน  สะพานเก่าโบราณที่สร้างขึ้นด้วยแร่เหล็ก เป็นเส้นทางสัญจรไปมาของชาวบ้านในเขตพื้นที่ใกล้เคียง สะพานทอดยาวผ่านแม่น้ำตะกั่วป่า 2 ข้างทางเต็มไปด้วยความเขียวขจีของธรรมชาติ ยามเย็นๆ จะมีบรรยากาศดีมาก เป็นหนึ่งในมุมไฮไลท์ถ่ายรูปสวยๆ ของเมืองตะกั่วป่า

 

 

 

 

ผู้เขียน

นักเดินทางที่ชอบถ่ายภาพ อยากส่งต่อเรื่องราวของการท่องเที่ยว จากประสบการณ์ที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน

บทความที่เกี่ยวข้อง