ชุมชนริมน้ำจันทบรู ชุมชนเก่าแก่ริมแม่น้ำจันทบุรีเป็นชุมชน เก่าแก่ของชาวจีนและญวนอพยพตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ต่อมาได้พัฒนามาเป็น ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการค้าของ จันทบุรีที่สำคัญแห่งหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงแม้ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงไปมากซักเพียงใด แต่ร่องรอยในอดีตของชุมชนเก่าแห่งนี้ก็ยังไม่เลือนหายไปตามกาลเวลาจนปัจจุบันกลายสถานที่ท่องเที่ยวที่หากใครที่มาเยือนจังหวัดจันทบุรีแล้วไม่ควรพลาด
การมาเยือนชุมชนเก่าริมน้ำจันทบูร สามารถมาเที่ยวได้ทั้งแบบไปเช้าเย็นกลับ หรือจะค้างคืนเพื่อซึมซับกับบรรยากาศความเก่าแก่ให้เต็มที่ซึ่งมีที่พักให้เราได้เลือกอยู่ประมาณ 2-3 แห่ง การเดินทาง ออกจากกรุงเทพแต่เช้าใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง ก็เดินทางมาถึงจังหวัดจันทบุรี ผ่านศาลหลักเมืองบริเวณหน้าค่ายตากสินแล้ว ขับรถผ่านหน้าสถานีตำรวจภูธร จังหวัดจันทบุรี ถึงเชิงสะพานวัดจันทร์ชุมชนย่านท่าหลวงจะอยู่ทางด้านขวามือ แต่ให้เข้าไปจอดรถที่โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ตรงข้าม โบสถ์คริสต์เมืองจันทร์แล้วเดินข้ามสะพานไปชุมชนเก่า
ก่อนเดินไปชุมชนเก่าแวะชมความงามของ โบสถ์วัดแม่พระปฏิสนธินิรมล หรือเรียกสั้นๆ ว่า โบสถ์คริสต์เมืองจันทร์ ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกับโรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ เป็น โบสถ์คริสต์นิกายโรมันคาทอลิกซึ่งจำลองแบบมาจากโบสถ์นอตเตอร์ดัมในประเทศฝรั่งเศส คือหน้าต่างโค้ง และประดับด้วยลายฉลุโดย รอบตัวโบสถ์เป็น ศิลปะแบบโกธิค มีรูปนักบุญ ในศาสนาคริสต์รูปปั้นพระแม่มารีสีหน้าสงบ เปี่ยมประกายเมตตายืนอยู่หน้าวิหาร
เมื่อเดินเข้าไปภายในโบสถ์ก็จะได้สัมผัสกับอาคารที่เป็นโถงโล่ง มีทางเดินเป็นชั้นลอยอยู่ทั้งสองข้าง อาคารประดับตกแต่งกระจกสีเป็นรูปนักบุญองค์ต่างๆ ในศาสนาคริสต์ ภายในมีแต่ความสงบเย็น และงดงามด้วยศิลปะตกแต่ง แบบยุโรป อาคารอันงดงามนี้ยืนหยัดผ่านกาลเวลามากว่าศตวรรษ โบสถ์แม่พระปฏิสนธิมิได้เป็นเพียงโบสถ์ที่สวยงามที่สุดเท่านั้น หากยังเป็นศูนย์รวมศรัทธาของผองชาวคริสต์ทั้งปวงครอบคลุมไปทั่วฝั่งทะเลตะวันออกทีเดียว
เดินข้ามสะพานนิรมลเพื่อไปยังชุมชนเก่า บนสะพานเราสามารถมองเห็นบ้านเก่าตั้งเรียงรายไปตามริมน้ำจันทบูร
แผนที่ชุมชนเก่าระบุพิกัดของบ้านเรือนและอาคารเก่าแก่แต่ละแห่งว่าตั้งอยู่ตรงจุดใดบ้างเพื่อให้เราได้มีแนวทางในการเดินชม ซึ่งชุมชมนี้เป็นชุมชนเล็กๆที่ตั้งเรียงราวยาวเป็นเส้นตรงไปตามซอยเล็กๆ อาจมีซอยเล็ก ซอยน้อยบ้าง แต่ไม่มาก ใช้เวลาเดินชมเพียงไม่นาน
บ้าน 69 ศูนย์การเรียนรู้ริมน้ำจันทบูร เป็นสถานที่จัดกิจรรมต่าง ๆ เป็นแหล่งรวบรวมเผยแพร่ความรู้ประจำชุมชน เป็นบ้านเก่าแก่ที่รวบรวมประวัติของชุมชนริมน้ำจันทบูร มีภาพถ่ายของชุมชนที่สะท้อนเรื่องราววิถีชีวิตของที่นี่ได้เป็นอย่างดี
เมื่อเดินเข้าไปข้างในก็จะพบมุมถ่ายภาพน่ารักๆอยู่หลายมุม ที่สะดุดตาก็คงเป็นภาพถ่ายขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ด้านหลัง ท่ามกลางสวนอันร่มรื่นของต้นไม้ เป็นภาพที่สวยมาก
ป้ายชื่อแสนเก๋ของร้านเสน่ห์จันทร์ เป็นร้านของฝากที่รวบรวมเอางานสินค้าพื้นบ้าน และอาหารพื้นเมืองในแบบฉบับของชาวจันท์มาให้นักท่องเที่ยวได้เลือกสรร ทั้ง ผลไม้เปรรูป และของที่ระลึกแฮนด์เมดต่างๆ
บ้านโภคบาล ซึ่งปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นร้านขายโปสการ์ดและของที่ระลึก
ในส่วนของร้านขายของและร้านอาหารต่างๆ แต่ละร้าน ไม่ทำร้านให้โดดเด่น หรือขัดแย้งกับสถานที่แต่กลมกลืนไปกับบรรยากาศเก่าตามแบบเดิมของชุมชนริมน้ำจันทบูร
อาจมีร้านที่ตกแต่งโมเดริน ฮิปสไตล์บ้างซัก 2 -3 ร้าน แต่นั้นก็ไม่ได้ดูหลุดสไตล์มากจนเกินไป
ร้านขายยาโบราณที่เรามักจะเห็นอยู่ในชุมชนเก่าเกือบทุกแห่ง ร้านขายยาโบราณจังกวนอัน ร้านขายยาจีนที่มีชื่อเสียงร้านแรกๆของจันทบุรี มีอายุมากกว่า 100 ปี ซึ่งทุกวันนี้เราก็ยังเห็นมีลูกค้าเข้ามาซื้อยาจีนที่ร้านตลอด เคยมาถ่ายภาพที่ร้านนี้ครั้งแรกประมาณ 7 ปีที่แล้วเจอคุณป้าท่านนี้อยูที่ร้าน มาอีกครั้งก็ยังเจอเหมือนเดิม คุณป้ายังแข็งแรงและยิ้มแย้มแจ่มใสต้อนรับนักท่องเที่ยว เมื่อเรามาเดินเล่นที่นี่สิ่งหนึ่งที่เรารู้สึกว่าแตกต่างจากการเที่ยวชุมชนเก่าที่มีชื่อเสียงแห่งอื่น คือ ได้สัมผัสถึงความเป็นชุมชนจริงๆ รู้สึกเหมือนเราเป็นลูกเป็นหลานของที่นี่แล้วกลับมาเยี่ยมบ้าน ไม่ได้เป็นเพียงชุมชนที่เมื่อดังเริ่มมีชื่คนมาเยอะ นายทุนก็เริ่มเข้ามาเจ้าของเดิมก็จากไป ทำให้เปลี่ยนไปจนแทบไม่เหลือแก่นแท้ของความเป็นชุมชนให้ได้สัมผัส
จางไปเยอะแล้ว กับลวดลายกำแพงซึ่งเคยใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำโฆษณา สก๊อตรังนก ที่ขึ้นชื่อในอดีตต้องย้อนไปเป็น 10 ปีเลยทีเดียว
มาถึงเรื่องที่พักของชุนชนเก่ากันบ้าง หากอยากพักซัก 1 คืน พักที่ไหนดี ที่แรกก็คือ ท่ามาจัน โรงแรมเล็กๆ ตกแต่งสไตล์เรสโทรหน่อยๆ ได้บรรยากาศของความเก่าแก่ในอดีต สนใจติดต่อห้องพักโทร 098-9686111 http://www.tamajunhotel.com
ตรงข้ามโรงแรมมีร้านอาหารและร้านกาแฟริมน้ำซึ่งเป็นของโรงแรมด้วย บรรยากาศก็ค่อนข้างโอเคเลยทีเดียว
สถาปัตยกรรมที่น่าชมของย่านริมน้ำจันทบูรจึงมีอยู่สองแบบคือบ้านตึกปูนปั้นแบบโคโลเนียลของข้าราชการหัวการค้า และบ้านไม้ฉลุลายสวยงามของคหบดีหรือคนธรรมดาที่มั่งมีจากการค้านั่นเอง ซึ่งตึกบริเวณนี้น่าจะเป็นโซนที่มีตึกเก่าในรูปแบบโบราณเรียงรายกันเยอะที่สุด และตรงนี้ก็เป็นที่ตั้งของพี่พักขึ้นชื่ออีกหนึ่งแห่งคือ บ้านหลวงราชไมตรี
ท่านหลวงราชไมตรี ถือเป็น “บิดาแห่งยางพารา ภาคตะวันออก” เพราะท่านเป็นคน นำเอาพันธุ์ยางจาก มาเลเซียมาทดลองปลูกที่ตำบลพลิ้ว และปรับปรุงพันธุ์ขยายพันธุ์จนสามารถส่งออกไปขายยังประเทศอังกฤษได้ พร้อม กับการสร้างตึกแถวเลียนแบบสถาปัตยกรรมปีนังที่นิยมกันในช่วงนั้น บ้านของท่าน มีสองฝั่งอยู่ตรงข้ามกัน คือ ฝั่งริมแม่น้ำจันทบุรี เป็นตึกไม้สักทองทั้งหลัง ส่วนฝั่งตรงข้ามจะเป็น ตึกแบบฝรั่ง โดยปัจุบันฝั่งริมน้ำได้เปิดให้เป็นที่พักสำหรับผู้ที่ชื่นชอบในบรรยากาศโบราณและคลาสสิคของชุมชนเก่าแห่งนี้ สนใจจองห้องพัก http://www.baanluangrajamaitri.com แต่เนื่องจากทางที่พักไม่อนุญาติให้เข้าไปชมบรรยากาศข้างในเพราะจะเป็นการรบกวนแขกที่เข้าพักซึ่งก็เข้าใจตรงจุดนี้ เลยเก็บมาให้ชมได้แต่บรรยากาศด้านล่างซึ่งเป็นส่วนของล๊อบบี้ต้อนรับ
มาเจอคุณตาท่านนี้ น่ารักมากกำลังนั่งอ่านหนังสือท่องเที่ยวอยู่ เห็นเราถือกล้องถ่ายภาพก็รีบเดินมาเปิดหนังสือเล่มนั้นให้เราได้ชม ซึ่งเป็นนิตยสารที่บอกเล่าเรื่องราวของชุมชมเก่าจันบูร คุณตาชี้ให้ดูว่ามีบ้านตัวเองลงหนังสือด้วยนะ ชี้ให้ดูบ้านแต่ละหลัง ถามว่าไปมาแล้วหรือยังอยู่ตรงนั้นตรงนี่นะ เราตอบว่าไปมาแล้วค่ะ ว่าแล้วก็ต้องระลึกความหลังกันซักหน่อย ถามคุณตาว่าหนูจำได้ว่าเคยมาถ่ายภาพบ้านหลังนี้เมื่อเจ็ดปีที่แล้ว คุณตาก็ยืนเป็นนายแบบให้เหมือนกัน ว่าแล้วก็เปิดภาพนั้นให้ดู คุณตายิ้มชอบใจใหญ่ น่ารักจริงคนในชุมชนนี้ผู้เฒ่าผู้แก่ที่เราเคยคุยก็ยังอยู่
ชุมชนเก่าริมน้ำจันทบูร ชุมชนที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตของความรุ่งเรื่องในอดีต ที่ยังคงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ให้นักท่องเที่ยวอย่างเราได้สุขใจไปการได้สัมผัสกับ ความเป็นอดีตที่ยังมีอยู่จริง
Tags : จันทบุรี, ชุมชนเก่าริมน้ำจันทบูร, บ้านหลวงราชไมตรี