ชุมชนพระบาทห้วยต้ม อยู่ในความดูแลศูนย์พัฒนาโครงการหลวงพระบาทห้วยต้ม ที่นี่อาจไม่โดดเด่นในเรื่องของธรรมชาติป่าเขา เขียวขจี และแปลงผักสด เหมือนกับเส้นทางท่องเที่ยวอื่นที่เคยได้พบเจอ แต่เป็นเส้นทางเพียงแห่งเดียวที่มีความแตกต่างชัดเจนในเรื่องของประเพณี วัฒนธรรม ความสวยงามของวัดวาอารามและวิถีชีวิต สามารถสัมผัสได้ที่ ชุมชนพระบาทห้วยต้ม ชุมชนที่ซ่อนตัวอยู่อย่างสงบในอำเภอลี้ อำเภอเล็กๆ ของจังหวัดลำพูน ชุมชนนี้มีสิ่งหนึ่งที่ทำให้ต้องรู้สึกแปลกใจ คือ ชาวบ้านถือศีลกินเจ ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ทั้งหมู่บ้าน อาหารที่ขายให้กับนักท่องเที่ยวเป็นมังสวิรัติทั้งหมด จึงขอให้คำจำกัดความของเส้นทางท่องเที่ยวนี้ว่า เส้นทางสายบุญ
โครงการหลวงพระบาทห้วยต้ม ตั้งอยู่ในอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เป็นโครงการหลวงเพียงแห่งเดียวที่ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดลำพูน เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎร ปี พ.ศ. 2521 ทรงทอดพระเนตรเห็นสภาพพื้นที่และชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทยภูเขา จึงทรงมีพระราชดำริว่า “หมู่บ้านแห่งนี้ประสบปัญหาขาดแคลนที่ทำกิน มีข้าวไม่พอบริโภคทุกปี ชาวบ้านเป็นโรคขาดอาหาร โดยเฉพาะเด็กเล็กและชาวเขาได้อพยพมาอยู่รวมกันเช่นนี้ เป็นผลดีในการลดการหักล้างทำลายป่า ลดพื้นที่ปลูกฝิ่นทางอ้อมจะได้ไม่ไปรับจ้างปลูกฝิ่นให้ชาวเขาอื่นอีกด้วย” ทรงโปรดเกล้าให้รับชุมชนพระบาทห้วยต้มอยู่ภายใต้พื้นที่การดูแลของมูลนิธิโครงการหลวง ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงพระบาทห้วยต้ม จึงได้ก่อกำเนิดขึ้น เพื่อส่งเสริมและพัฒนาอาชีพปลูกไม้ผลเขตร้อน โดยเน้นการพัฒนาคุณภาพมะม่วงพันธุ์ต่างประเทศที่เหมาะสมกับพื้นที่ เช่น มะม่วงพันธุ์นวลคำ และ E2R2 งานส่งเสริมพืชไร่ เพื่อเป็นพืชทางเลือกที่สามารถปลูกทดแทนข้าวโพดเนื่องจากต้นทุนต่ำ นอกจากนี้ยังสนับสนุนกิจกรรมท่องเที่ยวภายในชุมชนอีกด้วย
ย้อนไปในอดีตก่อนที่จะกลายมาเป็นชุมชนสายบุญ ชาวปกาเกอะญอ นับถือบูชาผีสางนางไม้ จนกระทั่งหลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนาหรือ ครูบาวงศ์ พระนักพัฒนาที่ชาวล้านนาเคารพศรัทธา ได้มาจำพรรษาอยู่ที่อำเภอลี้ ท่านจึงนำหลักคำสั่งสอนของพุทธศาสนามาเผยแพร่ให้สำนึกในกฎแห่งกรรม และมีเมตตาต่อสัตว์โลก เมื่อชาวปกาเกอะญอได้ฟัง จึงเกิดความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแรงกล้า เปลี่ยนมารักษาศีล ฟังเทศน์ ตั้งมั่นเลิกกินเนื้อสัตว์ หันมากินอาหารมังสวิรัติแทน ครูบาวงศ์ จึงเป็นบุคคลสำคัญในฐานะที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านห้วยต้ม โดยมีความเชื่อว่าหากปฎิบัติตามคำสั่งสอนของท่าน จะทำให้ชุมชมมีแต่ความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้ามีชื่อเสียง ส่วนผู้ที่ไม่เชื่อฟังมักอยู่อย่างไม่เป็นสุข มีเรื่องทุกข์ร้อนใจและเจ็บป่วยอยู่เสมอ เมื่อเข้ามาเที่ยวในชุมชนพระบาทห้วยต้ม หรือตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เช่น วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม หรือ พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย มักจะเห็นป้ายตัวอักษรเขียนว่า “ห้ามนำเนื้อสัตว์เข้ามาในบริเวณนี้” หรือ “ห้ามดื่มสุรา” ถึงแม้ว่าครูบาวงศ์จะมรณภาพไปแล้ว แต่ชาวปกาเกอะญอ ยังคงนับถือและยึดมั่นปฏิบัติแต่สิ่งที่ดีงามที่ครูบาวงศ์สั่งสอนไว้เสมอ
“เครื่องเงินลือเลื่อง ถิ่นเมืองครูบา ผ้าทองามตา เด่นสง่าพระบาทห้วยต้ม” คำขวัญที่บ่งบอก ถึงความเป็นชุมชนพระบาทห้วยต้มได้อย่างดีเยี่ยม ชุมชนพระบาทห้วยต้ม ได้รับรางวัลการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ปี 2555 และได้รับรางวัลการท่องเที่ยวเชิงหัตถกรรม ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการท่องเที่ยวโดยชุมชน ภายในชุมชนเป็นที่ตั้งของ ใจบ้าน อาคารปูนสีขาวที่ครูบาวงศ์ สร้างขึ้นเพื่อเป็นจุดศูนย์กลางและสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจของคนในชุมชน ด้านในเป็นเจดีย์สีทองบรรจุก้อนหินที่ได้มาจากแม่น้ำสายหลักๆ เป็นสถานที่สำคัญที่ใช้ประกอบพิธีทำบุญสืบชะตาหรือสะเดาะเคราะห์ ซึ่งจะมีพิธีดังกล่าวในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี
มาเที่ยวชุมชนพระบาทห้วยต้ม สามารถเลือกพักผ่อนแบบค้างคืนนอนโฮมสเตย์ร่วมกับคนในชุมชน หรือเลือกเที่ยวแบบไปเช้าเย็นกลับ นักท่องเที่ยวจะได้ซึมซับวิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอที่ผูกพันกับพุทธศาสนา ยังรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีและภูมิปัญญาท้องถิ่นไว้อย่างเหนียวแน่น เช่น การทอผ้าโบราณแบบกี่เอว ใช้วัสดุธรรมชาติในท้องถิ่นย้อมสี มีลวดลายโบราณ เช่น เสื้อ กางเกง ผ้าถุง กระเป๋าสะพาย การทำเครื่องเงินที่ใช้วัตถุดิบจากเงินแท้ เช่น สร้อยคอ กำไล แหวน ข้าวของเครื่องใช้ มีเป็นเอกลักษณ์ลวดลายที่อ่อนช้อยงดงามดัดแปลงจากธรรมชาติ เช่น รูปปลา ผีเสื้อ ลายดอกไม้ สะท้อนถึงภูมิปัญญาในด้านจิตใจความเชื่อของชนเผ่า รวมทั้งการทำเครื่องประดับจากกะลามะพร้าว เครื่องจักสาน จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์โอทอปที่ได้รับการยอมรับ สร้างชื่อเสียงให้กับชุมชนจนถึงปัจจุบัน
ท่องเที่ยวรอบชุมชน สักการะ 5 สิ่งศักดิ์สิทธิ์
พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย
เจดีย์สีทองเหลืองอร่าม โดดเด่นแต่ไกล เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวอำเภอลี้ให้ความเคารพนับถือ จำลองมาจากพระมหาธาตุเจดีย์ชเวดากอง ประเทศพม่า จึงมีอีกชื่อว่า ชเวดากองเมืองไทย เป็นพระเจดีย์ที่ออกแบบและริเริ่มโดย ครูบาวงศ์และคณะศิษยานุศิษย์ได้ร่วมกันสร้างขึ้น เพื่อน้อมเกล้าน้อมถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี
วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม
วัดที่ใหญ่ที่สุดของอำเภอลี้ ระหว่างทางที่เข้ามาในบริเวณวัด มีหมู่บ้านของชาวปกาเกอะญออาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นวัดประจำหมู่บ้านที่เคารพศรัทธาของชาวบ้านห้วยต้ม ภายในวัดมีวิหารที่บรรจุร่างของครูบาวงศ์ ซึ่งไม่เน่าไม่เปื่อยไว้ในโรงแก้ว มีรอยพระพุทธบาทที่เชื่อว่า องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมา ณ ที่นี่ ครูบาวงศ์จึงได้สร้างรอยพระบาทจำลองครอบของจริงไว้
วัดพระพุทธบาทผาหนาม
ปูชนียสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง วัดพระพุทธบาทผาหนามเคยเป็นวัดร้างก่อนการบูรณะขึ้นใหม่กว่า 300 ปี เป็นวัดที่เจริญรุ่งเรืองด้วยศรัทธาและสิ่งก่อสร้างมากมาย เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ในวันที่ 13-17 เมษายน ของทุกปีมีประเพณีนมัสการและสรงน้ำ โดยจะมีประชาชนทั่วทุกสารทิศ หลั่งไหลมาทำบุญเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังเป็นจุดชมวิวเมืองลี้ที่สามารถมองเห็นพระอาทิตย์ขึ้นเคล้าสายหมอกบางในยามเช้าได้อย่างงดงาม
วัดพระพระธาตุห้าดวง
วัดนี้เป็นที่ตั้งของเจดีย์ 5 องค์ ตามตำนานกล่าวว่าพระนางจามเทวี กษัตริย์ครองเมืองหริภุญไชย ได้ทราบข่าวจากราษฎรเมืองลี้ว่า มีดวงแก้ว 5 ดวง ปรากฏเห็นอยู่บ่อยครั้ง จึงได้เสด็จมาดูด้วยพระองค์เอง ได้สอบถามความเป็นมา
ทราบว่า คือ พระเมโตธาตุ (น้ำไคลมือ) พระพุทธเจ้า ที่เคยล้างพระหัตถ์และน้ำก็ไหลผ่านปลายนิ้วทั้ง 5 ลงพื้นดิน พระนางจึงเกิดศรัทธาสร้างพระธาตุเจดีย์ครอบกองดินทั้ง5 กองไว้ ภายในวัดมีพระอุโบสถและสิ่งก่อสร้างที่สวยงามและน่าสนใจหลายแห่ง โดยเฉพาะอุโบสถสีทองซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าทางเข้าวัด มีบันไดพญานาคยาวไปถึงตัวอุโบสถ ภายในอุโบสถมีองค์พระพุทธรูปสีทองงดงามมาก
วัดพระธาตุดวงเดียว
อีกหนึ่งวัดเก่าแก่ที่งดงามในอำเภอลี้ ตามตำนานเล่าว่า พระนางจามรี ผู้สร้างเมืองลี้ได้รวบรวมไพร่พล อพยพมาจากเมืองหลวงพระบาง ได้พบกับช้างมงคลจึงได้อธิษฐาน และเดินทางล่องมาตามแม่น้ำปิงจนถึงแม่น้ำลี้ ได้พบ
สถานที่เหมาะสำหรับตั้งบ้านเรือนเป็นหินใหญ่คล้ายไข่นกยูง ช้างมงคลก็ล้มลงที่จุดนั้น พระนางจามรีจึงเผาซากช้างและสร้างเจดีย์ครอบไว้ เรียกว่าเจดีย์ดวงเดียว
รายละเอียดเพิ่มเติม
ชุมชนพระบาทห้วยต้มมีที่พักแบบโฮมสเตย์และค่าใช้จ่ายกิจกรรม ดังนี้
– ค่าที่พัก 150 บาท /ท่าน/คืน
– ค่าอาหาร 100 บาท /ท่าน/มื้อ (อาหารเย็นรูปแบบขันโตกพร้อมชมการแสดงชนเผ่า ท่านละ 180 บาท)
– ค่านำเที่ยว 300 บาท /ท่าน/วัน
– ค่าวิทยากร 300 บาท /ท่าน/วัน (ฐานเรียนรู้)
– ค่าการแสดง 1,000 บาท/ชุด
กลุ่มท่องเที่ยวชุมชนพระบาทห้วยต้ม
โทรศัพท์ 098-759-8872 063-229-8776
โฮมสเตย์ชุมชนพระบาทห้วยต้ม
คุณสุรีพร พงศากมล โทรศัพท์ 087-185-6171
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงพระบาทห้วยต้ม
บ้านผาลาด ตำบลนาทราย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน 51110
คุณยงยุทธ์ กองบุญ โทรศัพท์ 083-324-3062
การเดินทาง
โดยรถยนต์ส่วนตัว
จากตัวเมืองเชียงใหม่ระยะทาง 160 กิโลเมตร ใช้ทางหลวงหมายเลข 106 เชียงใหม่-ลำพูน ผ่านตำบลบ้านโฮ่ง ป่าซาง ไปจนถึงตัวอำเภอลี้ แล้วเลี้ยวขวาตามทางหลวงหมายเลข 1087 ถึงหลักกิโลเมตรที่ 7 มีทางแยกซ้ายมือไปอีก 1 กิโลเมตร จนถึงที่ตั้งศูนย์ฯ
Tags : ชุมชนพระบาทห้วยต้ม, ลำพูน, สถานที่ท่องเที่ยวลำพูน, เที่ยวลำพูน, โครงการหลวงพระบาทห้วยต้ม