สิ่งที่น่าสนใจในวนอุทยานเขากระโดง
พระสุภัทรบพิตร
เป็นพระพุทธรูปคู่เมือง ภายในเศียรบรรจุพระธาตุ ประดิษฐานอยู่บนเขากระโดง เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐฉาบปูนขนาดใหญ่ หน้าตัก กว้าง 12 เมตร ฐานยาว 14 เมตร หันหน้าไปทางทิศเหนือ สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2512 โดยผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ นายสุรวุฒิ บุญญานุสาสน์ ในขณะนั้น ร่วมกับพ่อค้าประชาชนและผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใสในความคิดและโครงการต่างๆ ของหลวงพ่อบุญมา ปัญญาปโชโต อดีตเจ้าอาวาสวัดเขากระโดง ได้ร่วมกันจัดสร้างขึ้นบริเวณยอดเขากระโดง เพื่อให้เป็นที่สักการะบูชาของ พุทธศาสนิกชนทั่วไป จากจุดที่ตั้งขององค์พระสามารถมองเห็นทัศนียภาพของตัวเมืองบุรีรัมย์ได้
ปากปล่องภูเขาไฟเขากระโดง
ปากปล่องภูเขาไฟเขากระโดง มีอายุประมาณ 3 แสนถึง 9 แสนปี สูงจากระดับน้ำทะเล 265 เมตร ซากปากปล่องเป็นรูปพระจันทร์ ครึ่งซีก ยอดเนินเขาเป็นขอบปล่องด้านทิศใต้เรียกว่า เขาใหญ่ ส่วนยอดเนินเป็นขอบปล่องด้านทิศเหนือเรียกว่า เขาน้อย หรือ เขากระโดง ส่วนบริเวณที่เป็นขอบปล่องปะทุคือ บริเวณที่เป็นหุบเขา ปัจจุบันมีสภาพเป็นสระน้ำเป็นซากภูเขาไฟที่ยังคง สภาพดีและ มีอายุน้อยที่สุดในประเทศไทย มีเส้นทางเดินชมรอบปล่องและมีสะพานแขวนให้ยืนชมจากมุมสูงได้อย่างชัดแจน
สะพานพิสูจน์ศรัทธาสาธุชน (บันไดนาคราช)
สร้างขึ้นเมื่อปี 2512 เพื่อเป็นทางเดินขึ้นไปสักการะบูชาพระสุภัทรบพิตร ซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขากระโดง จำนวน 297 ขั้น ชมการละเล่น พื้นบ้านในงานประเพณีขึ้นเขากระโดง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 และร่วมทำบูญงานประกวดกวน ข้าวทิพย์– ตักบาตรรเทโวโรหณะ ในช่วงก่อนวันออกพรรษาและวันออกพรรษาของทุกปี
การเดินทางไปวนอุทยานเขากระโดง
- เส้นทางจากจังหวัดบุรีรัมย์ ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 219 (บุรีรัมย์-ประโคนชัย) ระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้าย เข้าวนอุทยานฯ
ข เส้นทางจากจังหวัดนครราชสีมา ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 226 (นครราชสีมา-สุรินทร์) ระยะทางประมาณ 130 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าวนอุทยานฯ
- เส้นทางจากจังหวัดสุรินทร์ ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 226 ระยะทาง 50 กิโลเมตร พบสี่แยกแล้วเลี้ยวซ้ายไปอำเภอประโคนชัย ประมาณ 1 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าวนอุทยานฯ