• หน้าแรก
  • เที่ยวบ้านเลาวู  พัก อะกิปุ โฮมสเตย์ สัมผัสวิถีลีซู จิบกาแฟชมวิวดอยหลวง

เที่ยวบ้านเลาวู  พัก อะกิปุ โฮมสเตย์ สัมผัสวิถีลีซู จิบกาแฟชมวิวดอยหลวง

บ้านเลาวู หมู่บ้านชาวไทยภูเขาที่ตั้งอยู่ในอำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอที่เราเรียกว่าอำเภอลับ ที่ต้องเดินทางผ่านเส้นทางขึ้นดอยอันคดเคี้ยว เพื่อมาชมภาพของดอยหลวงเชียงดาวที่ตั้งตระหง่านอยู่ฝั่งตรงข้าม หากเอ่ยชื่อ บ้านเลาวู หลายคนอาจไม่คุ้นเคยเท่าใดนัก แต่ถ้าเอ่ยชื่อ ฮาดู่บิ ต้องร้องอ๋อ เพราะชื่อนี้ทำให้นักท่องเที่ยวหลายคน เดินทางเพื่อมาสัมผัสทะเลหมอกลอยคลอเคล้าดอยหลวงเชียงดาว ที่สวยงามดุจภาพวาด บ้านเลาวู เป็นที่อยู่อาศัยของชาวลีซู หรือ ลีซอ ที่ยังคงมีวิถีชีวิตเรียบง่าย มีที่พักทั้งในรูปแบบเต้นท์แคมปิ้งในชื่อ ฮาดูบิ หลายแห่ง และบ้านโฮมสเตย์ให้บริการ โดยเลือกพักที่ Akipu homestay อะกิปุ โฮมสเตย์ ที่พักในรูปแบบบ้านโฮมสเตย์ ที่อยู่ร่วมกับเจ้าของบ้าน  ดูแลดุจญาติมิตร ทำให้อบอุ่นหัวใจเหมือนกลับมาเยี่ยมญาติหรือเพื่อนสนิท มาที่นี่จะได้สัมผัสถึงวิถีลีซู และแน่นอนภาพวิวดอยหลวงเชียงดาว แสงสวยยามเช้าที่อยากเห็นเราจะได้เจอ

บ้านเลาวู ตั้งอยู่ในอำเภอเวียงแหง ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่โดยใช้การเดินทางประมาณสองชั่วโมงครึ่ง เส้นทางนี้ผ่านอำเภอเชียงดาว แยกเข้าสู่เวียงแหง ผ่านเส้นทางคดเคี้ยวแต่ไม่ชันมาก ถนนหนทางดี ลาดยางตลอดทั้งสาย แต่ต้องขับรถด้วยความระมัดระวัง เมื่อเข้าสู่อำเภอเวียงแหง จะเห็นกำแพงอิฐโบราณสีส้ม มีตัวหนังสือขนาดใหญ่ติดอยู่ “เลาวูประตูสู่เวียงแหง” นั่นหมายถึงเรามาถึงแล้ว จอดรถพักกันสักครู่ บริเวณนี้มีร้านกาแฟเล็กๆขายเครื่องดื่ม และจุดชมวิว รวมถึงชาวบ้านลีซู มาตั้งขายสินค้าทางการเกษตร ผักผลไม้เมืองหนาวต่างๆ

ขับรถมาไม่ไกลถึง บ้านเลาวู หมู่บ้านเล็กๆที่ตั้งลดหลั่นเรียงรายบนเนินเขา ประชากรเกือบทั้งหมดเป็นชาว ลีซู หรือ ลีซอ มีอาชีพหลัก คือ ทำเกษตร โดยเฉพาะการปลูกกะหล่ำปลี ที่จะได้เห็นแปลงกะหล่ำอยู่ระหว่างสองข้างทาง ถึงแม้จะอยู่ห่างไกล ซึ่งเราเรียกเองว่าเหมือนเข้ามาในเมืองลับแล กว่าจะถึงต้องผ่านโค้งมากมาย แต่สำหรับเรา บ้านเลาวู คือ หมู่บ้านชาวไทยภูเขาที่ไม่ถึงกับเป็นบ้านไม้แบบดั้งเดิม เหมือนที่เคยเห็นบนดอยที่ห่างไกลบางแห่ง บ้านเรือนบางหลัง เป็นบ้านปูนแบบใหม่ ไฟฟ้าเข้าถึง สัญญาณโทรศัพท์ดี เราใช้ AIS ส่วนค่ายอื่นไม่แน่ใจนะคะ

จากตัวหมู่บ้านเพียง 5 นาที เรามาถึงพื้นที่อันอบอุ่นของครอบครัว Akipu  มีร้านกาแฟ  Akipu  Coffee ตั้งอยู่ด้านหน้า  ถัดไปคือ Akipu homestay  และ  Akipu camping  ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกันทั้งหมด เจ้าของบ้าน คือ วุฒิและหมัด สองพี่น้องชาวลีซูที่ไปศึกษาเล่าเรียนอยู่ในเมืองเชียงใหม่จนจบปริญญาตรี จากนั้นกลับมาพัฒนาบ้านเกิด ทำเกษตรและที่พัก ร้านกาแฟ โดยดูแลแยกกัน หมัด น้องชาย ชอบแนวแคมป์ปิ้ง เขาจึงทำที่พักในชื่อ อะกิปุ แคมป์ปิ้ง ส่วนวุฒิ พี่ชาย ชอบบ้านแนวโฮมสเตย์ อยากให้นักท่องเที่ยวได้มาพักกับเจ้าของบ้านจริงๆ จึงทำที่พักในชื่อ  อะกิปุ โฮมสเตย์ รวมทั้งความชอบส่วนตัวที่ชอบเรื่องกาแฟ จึงเปิดร้านกาแฟอยู่หน้าบ้านด้วย ในภาพ คือ วุฒิและน้องแสงแดดลูกชายตัวน้อย มาคอยต้อนรับน่ารักมาก ชื่อ “Akipu” อะกิปุ เห็นครั้งแรก อาจคิดว่าเป็นภาษาญี่ปุ่นหรือเปล่า แต่เป็นภาษา ลีซู  “อะ” เป็นคำเรียกนำหน้าชื่อคน “กิ” มาจาก “ซึกิ”แปลว่า รากต้นไม้ใหญ่ และ “ปุ” มาจาก “ซึปุ” หมายถึงต้นหญ้าที่มีเยอะและไม่มีวันหายไป เมื่อนำมารวมกันแล้ว จึงมีความหมายว่า วิถีชีวิตรากเหง้าของชนเผ่าลีซูที่จะกลับมาเผยแพร่ เหมือนดังต้นหญ้าที่ไม่มีวันหายไป

บ้านหลังนี้ คือ อะกิปุ โฮมสเตย์ ที่พักของเรา เป็นบ้านหลังใหญ่ 2 ชั้น สร้างแบบทันสมัยในสไตล์ลอฟท์  เป็นบ้านของวุฒิและครอบครัวที่ใช้อยู่อาศัย ชั้นล่างแบ่งเป็นห้องพักประมาณ 3 ห้อง โดยคิดค่าบริการคนละ 1200 บาท รวมอาหารเช้า เย็น นำเที่ยวพาชมสวนเกษตร + ดริปกาแฟชมวิวดอยหลวงเชียงดาวในตอนเช้า ส่วนชั้นบน คือ ที่อยู่อาศัยของวุฒิและครอบครัว  พื้นที่บ้านกว้างขวางและสะอาด มีที่นั่งส่วนกลางสำหรับทานอาหารร่วมกัน เปิดประตูไป คือ ระเบียงชมวิวภูเขาและผืนป่า ช่วงบ่ายมีลำแสงส่องเข้ามา มีเจ้าถิ่น คือ แมวตัวน้อยมาคลอเคลียไม่ห่าง และสิ่งที่ควรรู้ คือ ที่นี่ใช้ไฟโซลาเซลล์ สามารถใช้ไฟฟ้าได้แค่ชาร์ตแบตกล้องและมือถือเท่านั้น

ห้องนอนที่จัดไว้สำหรับนักท่องเที่ยว เป็นห้องเล็กๆเรียบง่าย มีที่นอนและที่แขวนผ้า ห้องน้ำเป็นแบบห้องน้ำรวมมีทั้งหมด 2 ห้อง สะอาด มีเครื่องทำน้ำอุ่น อาบน้ำได้แบบไม่ต้องกลัวหนาว

ส่วนชั้นสอง คือ ห้องพักของครอบครัว และยังแบ่งห้องให้นักท่องเที่ยวได้พักด้วยเช่นกัน มีพื้นที่ส่วนกลางให้นั่งเล่น

บริเวณนอกบ้าน ยังมีที่นั่งรอบกองไฟ ให้มานั่งผิงไฟอุ่น พูดคุยกัน วุฒิเล่าว่า เขารับลูกค้าวันละไม่เกิน 12 คน เพื่อจะดูแลได้อย่างทั่วถึง

เราเดินขึ้นไปชมที่พักของ  อะกิปุ แคมปิ้ง ตั้งอยู่ใกล้กัน ดูแลโดยหมัด น้องชาย ที่พักเป็นแบบเต้นท์พร้อมเครื่องนอน และบ้านไม้ไผ่ ที่มี 2 หลังติดกัน ห้องน้ำเป็นแบบห้องน้ำรวมตั้งอยู่ข้างนอก

มีบ้านไม้ไผ่ยกสูงซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนกลาง มองเห็นวิวภูเขาสวยงาม มีที่ผิงไฟเก๋ๆ และมุมนั่งเล่นต่างๆ

สำหรับสายแคมป์ที่ชอบพักแนวนี้ ติดต่อหมัดในเพจ อะกิปุ แคมป์ปิ้ง  แต่ถ้าใครชอบพักแบบบ้านที่สะดวกขึ้นมาอีกนิด  ติดต่อวุฒิในเพจ อะกิปุ โฮมสเตย์ เขาจะแยกกันดูแลในส่วนของที่พัก แต่ในส่วนของการนำเที่ยวยังจุดต่างๆ จะช่วยกันดูแล

ช่วงเย็นสองพี่น้องพาเราและนักท่องเที่ยวที่มาพักวันเดียวกัน ขึ้นรถโฟรวิว เพื่อไปชมสวนเกษตรของที่บ้าน รวมทั้งไปชมพระอาทิตย์ตกด้วย ระหว่างทางจะได้เห็นวิวสวยแบบนี้

หมัด น้องชาย พาชมสวนเกษตรของบ้านเขาที่ปลูกทั้งกาแฟ อโวคาโด้ แมคคาดาเมีย ซึ่งพืชผลทางเกษตรของอะกิปุ จะใช้วิธีการปลูกแบบอินทรีย์ไม่ใช้สารเคมี

ขากลับแวะรับแม่ของทั้งสองคนที่นั่งรถมากับเรา และลงไปเก็บกระหล่ำปลีเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบทำอาหารให้ทานในเย็นนี้

จากนั้นพาไปชมพระอาทิตย์ตกในหมู่บ้านเลาวู  บ้านเลาวูมีที่พักประมาณ 3 แห่ง ใช้ชื่อ ขึ้นต้นว่า ฮาดู่บิ เหมือนกันทั้งหมด ได้แก่  ฮาดู่บิ แคมป์ปิ้ง เจ้าแรกที่ทำให้ชื่อ ฮาดู่บิ เป็นที่รู้จัก ฮาดู่บิ ม่อนชมวิวดอยหลวง ฮาดู่บิ เมาท์เท่นวิว ที่พักจะเป็นแบบเต้นท์แคมปปิ้งทั้งหมด แต่ม่อนชมวิวดอยหลวงจะมีที่พักแบบบ้านไม้ไผ่ด้วย ทุกที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ไฟส่วนกลางจากโซล่าเซลล์ และมองเห็นวิวดอยหลวงเชียงดาวได้จากที่พัก ยกเว้นอะกิปุ ที่ไม่ได้ตั้งอยู่ในโซนนี้ แต่จะพาเรามาชมวิวยังจุดชมวิวแทน อย่างวันนี้ช่วงเย็น พามาที่ ฮาดู่บิ ม่อนชมวิวดอยหลวง ปกติจะอนุญาติให้เฉพาะลูกค้าที่มาพักเข้ามาเท่านั้น แต่กับอะกิปุเป็นพันธมิตรกัน เราเลยได้เข้ามาชมวิวที่นี่

ฮาดู่บิ ม่อนชมวิวดอยหลวง ตั้งอยู่บนจุดสูงสุดของหมู่บ้าน  มองเห็นวิวภูเขา 360  องศา ทั้งวิวของดอยหลวงเชียงดาว และทิวเขาต่างๆ  มองเห็นถนนคดเคี้ยวผ่านภูเขาข้างล่าง ที่นั่งรถผ่านมา วันที่เราไป สภาพอากาศไม่ค่อยเคลียร์นักเมฆค่อนข้างเยอะ บรรยากาศของพระอาทิตย์ตกเลยได้ภาพมาประมาณนี้

กลับมาทานอาหานเย็นที่บ้าน เป็นอาหารแบบลีซู ทั้งลาบลีซู ผัดกะหล่ำปลี ต้มผักกาดจอใส่หมู น้ำพริกข่า ทานกับผัดสดพื้นบ้าน อาหารง่ายๆไม่กี่อย่างแต่อร่อยมาก เพราะเป็นคนชอบทานอาหารแนวนี้อยู่แล้ว เวลามาเที่ยวบนดอยแค่ข้าวไข่เจียว น้ำพริกชนเผ่า ทานกับผัก ก็ฟินแล้ว ยิ่งหมูที่ใส่ลงไปในผัดผักและต้มผักกาดเป็นหมูดอยที่เราเคยเห็น เนื้อกรุบๆอร่อยมาก น้ำพริกข่าแม่ทำรสชาติถึงเครื่อง ตำมือเองทุกถ้วย ติดใจจนต้องซื้อกลับไปทานที่บ้านอีกสองกระปุก  เพราะแม่ทำขายวางไว้ที่ร้านกาแฟด้วย  ได้นั่งทานรวมกับเจ้าของบ้านทั้งวุฒิ แม่ นั่งคุยกันเล่านู้นนี่เพลินดี เคยพักที่พักที่ใช้คำว่า โฮมสเตย์อยู่บ่อย แต่คำว่าโฮมสเตย์ยุคนี้ คือ ที่พักธรรมดาแบบชาวบ้าน หรือกลางธรรมชาติ หรือสร้างมาอย่างหรู ก็ใช้คำนี้ ซึ่งเป็นความหมายที่ไม่ใช่ คำว่า โฮมสเตย์ต้องแบบนี้ อยู่ร่วมกับเจ้าของบ้าน มีความเรียบง่าย ใช้ชีวิตเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของบ้านเขา ทานอาหารเหมือนที่เขาทาน ได้มาพักและสัมผัสถึงความหมายของคำว่า โฮมสเตย์ที่แท้จริงอีกครั้ง รู้สึกว่าอบอุ่นกันเองและปลอดภัย

ช่วงค่ำมานั่งผิงไฟรับไออุ่น นั่งคุยกับวุฒิ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่างๆ กันเขาเล่าเรื่องราวของจุดเริ่มต้นในการทำโฮมสเตย์ ร้านกาแฟ ที่เกิดมาจากความรักความชอบของตนเอง  แต่การทำในสิ่งที่ชอบของเขาต้องเป็นการทำแบบแบ่งปันช่วยเหลือชุมชนในแบบที่พึ่งพากัน ไม่เน้นรับลูกค้าเยอะ เพื่อจะได้ดูแลอย่างทั่วถึงและรู้สึกเป็นกันเองเมื่อได้มาพัก ให้รู้สึกมาเที่ยวบ้านเพื่อน มาพักให้สบายใจแล้วกลับไป ลูกค้าหลายคนกลับมาพัก มาหากันอีกตลอด ซึ่งเรารู้สึกว่าต่อไปคงเป็นหนึ่งในนั้นที่มาหากัน เพราะการได้มาพักทำให้มีความรู้สึกผ่อนคลายสบายใจ น้องดูแลดีมากๆ

เช้าวันใหม่ ตีห้าครึ่ง คือเวลานัดที่วุฒิกับหมัดจะพาไปชมวิวดอยหลวงเชียงดาว เพื่อให้ทันพระอาทิตย์ขึ้น เป็นจุดชมวิวของครอบครัวอะกิปุ ที่จะให้เฉพาะลูกค้าที่พักเข้ามาตรงจุดนี้เท่านั้น เพื่อความเป็นส่วนตัว และใช่ค่ะ จุดชมวิวของสองพี่น้อง ถึงแม้จะอยู่ในพื้นที่เดียวกัน แต่ก็แยกกันดูแลอีกเช่นเคย แต่ลูกค้าที่พักทั้งสองแห่งสามารถมาถ่ายรูปได้ทั้งหมด โดยข้างบนเป็นจุดชมวิวและดริปกาแฟของหมัด รับลูกค้าที่มาพักในส่วนของ  อะกิปุ แคมป์ปิ้ง แต่เราพักในส่วนของโฮมสเตย์ น้องหมัดก็ดริปกาแฟ ชงชาให้เราดื่มเหมือนกันค่ะ

เนื่องจากสภาพอากาศค่อนข้างปิด เลยต้องรอแสงกันนานซักหน่อย แต่ละคนก็ต่างมีมุมในการเฝ้ารอและมองโดยหลวงเชียงดาวที่แตกต่างกัน แต่ไม่ว่าจะอยู่ในมุมไหน ดอยหลวงเชียงดาวที่มองอยู่ตรงหน้าสวยสะกดทุกมุม

เดินลงไปข้างล่าง ตรงจุดนี้ คือ จุดชมวิวและมุมดริปกาแฟของ  อะกิปุ โฮมสเตย์ สร้างได้สวยเก๋ ยังคงอิงจากความชอบส่วนตัวที่วุฒิบอกว่า ชอบดีไซน์ทุกย่างให้เป็นแบบหน้าต่าง เลยทำเป็นช่องแบบนี้ให้เห็นวิว ถ้าอากาศและมีสายหมอก มุมนี้จะปังกว่านี้มาก มองเห็นดอยหลวงเชียงดาวอยู่ในกรบหน้าต่างแบบตรงแป๊ะ เหมือนกรอบรูปวาด นั่งจิบกาแฟดริปตรงนี้ ถ่ายรูปดีไปอีก

นอกจากมุมดริปกาแฟ ยังมีมุมที่นั่งแบบเก้าอี้แคมป์ปิ้ง ที่เวลาฟ้าเริ่มเปิดแสงจะส่องลงมาตรงนี้พอดีแป๊ะ หรือแม้กระทั่งมุมเก้าอี้ไม้ธรรมดาที่อยู่ข้างล่าง ก็กลายเป็นมุมที่สวยที่สุด เราจะได้นั่งมองวิวดอยหลวงอันยิ่งใหญ่จากตรงนี้ นั่งมองไปก็คิดไปว่า ดอยหลวงเธอนี่แน่มากถึงแม้เธอสูงอันดับสองของไทยรองจากดอยอินทนนท์  แต่สำหรับฉันให้เธอเป็นที่หนึ่ง เพราะไม่ว่าจะอยู่ในมุมไหน จะเห็นเธอตามมาตลอด อยู่ในตัวอำเภอเชียงดาว สันป่าเกี๋ยะ บ้านนาเลาใหม่ เมืองคอง หรือแม้แต่ดอยค้ำฟ้า  ซึ่งแต่ละที่ไม่ได้ตั้งอยู่ใกล้กัน คนละมุมคนละองศา แต่ก็ยังเห็นภาพของดอยหลวงเชียงดาวได้ในภาพที่คล้ายกันแบบนี้เสมอ แต่ดีใจที่สุด คือ ครั้งหนึ่งเราเองก็เคยได้ไปยืนอยู่ตรงยอดนั้นมาแล้วเหมือนกัน

เต็มอิ่มกับวิวดอยหลวงแล้ว กลับไปทานข้าวที่แม่เตรียมไว้ให้ ใส่ขันโตกยกไปวางข้างบนชั้นสอง กับข้าวแบบลีซูง่ายๆเหมือนเดิม แต่อร่อยด้วยรสชาติและวิวของป่าเขาที่อยู่ตรงหน้า

จากนั้นเราไปนั่งเล่นที่ Akipu Coffee ร้านกาแฟที่ดูแลโดยวุฒิ เป็นร้านเล็กๆแต่ตกแต่งสวยแบบสะกด ด้วยต้นไม้หลากสายพันธุ์ทั่วทุกมุมของร้าน มีมุมซิกเนเจอร์หน้าต่างกระจกขนาดใหญ่ที่ขนาบข้างด้วยต้นไม้ โดดเด่นในเรื่องของกาแฟดริปใช้เมล็ดพันธุ์ที่ปลูกเอง ซึ่งเรียกว่ากาแฟเลาวู บดมือแบบแก้วต่อแก้ว เลือกเมล็ดได้ตามความชอบของคนดื่ม  ในคอนเซ็ปต์ “กาแฟดริป ชา ราคาเเล้วเเต่จะให้ ”  อินดี้ไปอีก

ตัวร้านเป็นบ้านไม้ผสมปูน มองแบบผิวเผินจากข้างนอก อาจไม่สะดุดตามากแต่แอบซ่อนกิมมิคผ้าม่านขาวตรงประตูทรงกลมเหมือนร้านแบบญี่ปุ่น และต้องสะดุดตากับชื่อให้อารมณ์แบบภาษาญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นไปอีกแต่ชื่อ Akipu คือ ภาษาลีซู(ลีซอ)

ความว้าวเกิดขึ้นเมื่อเปิดผ้าม่านขาวเข้าไปในร้าน เหมือนหลุดเข้ามาในดงต้นไม้ ทั้งไม้ฟอกอากาศ ไม้ประดับ ไม้ด่าง กระบองเพชร เขียวขจี สวยงามสบายตา การตกแต่งร้านเป็นไอเดียของน้องวุฒิทั้งหมด

อย่างมุมไฮไลท์ คือ หน้าต่างกระจกที่ประดับด้วยต้นไม้ มองเห็นวิวของป่าเขา ก็มาจากความชอบส่วนตัวที่ชอบอะไรที่เกี่ยวกับดีไซน์บานกระจก บานหน้าต่าง รวมทั้งมีความชอบต้นไม้ และไม้ด่างอยู่เเล้ว เลยนำมาปรับให้เข้ากัน ออกแบบร้านให้สามารถปลูกต้นไม้ภายในร้านได้ ใช้หลังคาแบบใสเพื่อให้แสงลอดผ่าน และเลือกใช้วัสดุเป็นไม้เก่าอิฐ

นอกจากความดงต้นไม้ในร้านแล้ว ที่นั่งข้างนอกแบบห้อยขาชมวิวภูเขา ตกแต่งแบบธรรมชาติดั้งเดิม โดยใช้ไม้ไผ่และหลังคามุงจาก นั่งฟังเสียงลมพัดผ่านป่า  นกร้องขับกล่อมฟินไม่แพ้กัน เป็นมุมที่เหมาะสำหรับการนั่งนิ่งๆ ช่วยผ่อนคลายอารมณ์ไปอีก

เมนูของร้านเน้นเครื่องดื่มทั้งกาแฟดริป กาแฟนมต่างๆ รวมทั้งชา โกโก้ มีทั้งแบบร้อนและเย็น สำหรับเราที่นี่จะโดดเด่นในเรื่องของกาแฟดริป ซึ่งเป็นกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้าที่ปลูกเอง คั่วเอง ทั้งหมด ส่วนกาแฟก็บดด้วยมือแบบแก้วต่อแก้ว และสามารถเลือกเมล็ดและระดับความเข้มของกาแฟได้ ว่าจะเป็นคั่วเข้ม กลาง หรืออ่อน ขนมทานเล่นที่ต้องสั่งเพราะอร่อยเคี้ยวหนึบหนับมาก คือ ข้าวปุกที่ย่างมาแบบสดๆร้อนๆ จิ้มน้ำผึ้งป่า ทานคู่กับเครื่องดื่มอะไรก็เข้ากันหมด สำหรับกาแฟดริป ราคาแล้วแต่จะให้ โดยมีกล่องหย่อนให้ใส่

ส่วนใครไม่ดื่มกาแฟ ชากุหลาบใส่น้ำผึ้ง ราคาชาแล้วแต่จะให้เหมือนกาแฟค่ะ ชาหอมกุหลาบ สนับสนุนของชาวบ้านที่ปลูกแบบอินทรีย์ปลอดสารพิษ หรือจะรับเป็นโกโก้ ชาเขียวก็มี

ถ่ายรูปกับสองพี่น้องแห่งอะกิปุ ซ้าย คือ หมัดน้องชาย ขวาวุฒิพี่ชาย ขอบคุณในการต้อนรับที่อบอุ่นเป็นกันเองของน้องทั้งสองคนมาก ทำให้การมาเที่ยวครั้งนี้ไม่รู้สึกเหงา เหมือนมีเพื่อนคอยพูดคุย เล่าเรื่องนั่นนี้ให้ฟัง มีโอกาสจะกับไปจิบกาแฟนั่งเมาท์กันอีกนะคะ

Akipu home stay & Akipu Coffee (ดูแลโดยวุฒิ) 

ที่อยู่ : 119 หมู่11 เมืองแหง อำเภอ เวียงแหง เชียงใหม่ 50350

ร้านกาแฟเปิดให้บริการ : ทุกวัน จันทร์-พฤหัสบดี 08.30-17.00 น.

ศุกร์-อาทิตย์ 08.00-17.30 น.  (แต่เพื่อความชัวร์ก่อนเดินทางเช็คไปที่เพจ หรือสอบถามก่อน จะได้ไม่มาเสียเที่ยว)

โทร :  063 984 4777

Facebook :  Akipu home stay

Akipu Camping (ดูแลโดยหมัด) 

โทรศัพท์: 061 030 7757

Facebook :  Akipu Camping 


ผู้เขียน

นักเดินทางที่ชอบถ่ายภาพ อยากส่งต่อเรื่องราวของการท่องเที่ยว จากประสบการณ์ที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน