วัดแก้วพิจิตร ปราจีนบุรี
วัดแก้วพิจิตร วัดเก่าแก่และสำคัญประจำจังหวัดปราจีนบุรี ตั้งอยู่ในอำเภอเมืองริมแม่น้ำปราจีนบุรี ไม่ไกลจากตึกอภัยภูเบศร์ ความโดดเด่น คือ อุโบสถที่มีการบูรณะใหม่จากเดิมสีขาวให้เป็นสีแดงอิฐและสีชมพู มีลวดลายแกะสลักที่งดงาม ตัวอุโบสถเป็นสถาปัตยกรรมแบบไทย จีน ยุโรป ขอม ที่ผสมผสานได้อย่างลงตัวซึ่งมีเพียงแห่งเดียวในประเทศแลดูแปลกกว่าวัดโดยทั่วไป
อุโบสถล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วสีชมพู ซุ้มประตูแก้ว ซึ่งเป็นศิลปะกรรมเขมร
ศิลปกรรมไทย คือ รูปแบบแผนผังอุโบสถ ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ บานประตูหน้าต่าง ลงรักปิดทองเป็นทวารบาล ส่วนศิลปกรรมจีน คือ รูปปั้นมังกรเขียวหน้าจั่ว หลังคาลายมังกร ราวบันไดขึ้นอุโบสถ
ศิลปกรรมแบบยุโรป คือ เสาแบบโครินเธียล โดมหลังคาโรงเรียนบาลีนักธรรมวินัย การวาดภาพรูปชาวต่างประเทศล้อมรอบใต้ชายหลังคาด้านนอกอุโบสถ
เมื่อเข้าไป ภายในอุโบสถ จะเห็นความโดดเด่นหลายอย่าง คือ มีเสานางเรียงสองแถวขนานไปตามความยาวของอุโบสถ ช่วยนำสายตาไปสู่องค์พระประธานภายในอาคาร เสานางเรียงดังกล่าวเป็นเสาเซาะร่องแบบกรีกเหมือนด้านนอกอาคาร แต่ต่างกันที่เป็นหัวเสาแบบไอโอนิก คือม้วนเป็นก้นหอย ส่วนที่กรอบประตูหน้าต่างทำเป็นกรอบยอดแหลมคล้ายโดมในศิลปะเปอร์เชีย ประดับลายไม้ฉลุที่ช่องแสงเหนือหน้าต่างประตู ส่วนที่บานประตูหน้าต่างของอุโบสถ ยังเขียนภาพลงรักปิดทองเป็นรูปเทวดา
ภายในอุโบสมี พระประธานคือหลวงพ่ออภัยวงศ์ เป็นพระพุทธรูปสีดำออกแบบโดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ส่วนภาพจิตรกรรมฝาผนังวาดโดยช่างหลวงสมัยรัชกาลที่ 6 พุทธลักษณะของพระพุทธรูปปางประทานอภัยองค์นี้ ต่างจากที่พบเห็นทั่วไป คือ ยกพระหัตถ์ทั้งสองข้างขึ้นระดับพระอุระโดยหันฝ่าพระหัตถ์ด้านในออก แต่หลวงพ่ออภัยวางพระหัตถ์ขวาเหนือเข่า หันฝ่าพระหัตถ์ออกเล็กน้อย ส่วนพระหัตถ์ซ้ายวางอยู่ที่พระเพลา พระพุทธรูปมีลักษณะเหมือนมนุษย์สามัญและเลียนแบบพระพุทธรูปคันธารราษฎร์ของอินเดีย พระพักตร์เป็นแบบประติมากรรมกรีกโรมัน พระเกศาหยักศกรวบเป็นมวยกลางพระเศียร ครองจีวรเป็นริ้วแบบธรรมชาติ ด้านหลังฐานชุกชีขององค์พระเป็นที่บรรจุอัฐิของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) และพระยาอภัยภูเบศร (เลื่อม อภัยวงศ์)
ประวัติ
“วัดแก้วพิจิตร” เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2422 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งอยู่ในเขตหมู่ 4 ตำบลบางบริบูรณ์ อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี บนริมฝั่งขวาของแม่น้ำปราจีนบุรี ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศตะวันออกประมาณ 2 กิโลเมตร สร้างขึ้นโดยนางประมูลโภคา (แก้ว ประสังสิต) ซึ่งเป็นภรรยาของขุนประมูลภักดี เพื่อใช้ในการทำบุญตักบาตร ถือศีลฟังธรรมโดยมีผู้ร่วมกันบริจาคที่ดิน แรงงานและทุนทรัพย์ในการก่อสร้าง สิ่งก่อสร้างในระยะแรก ประกอบด้วย ศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์ กุฎิ พระอุโบสถ ศาลาท่าน้ำและเรือนแพ ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2456 “เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์)” ได้บูรณะวัดแห่งนี้ และสร้างศาสนสถานต่าง ๆ ภายในวัด เช่น โบสถ์ อาคาร รร. อภัยพิทยาคาร และ รร. พระไตรปิฎกและวินัย ซึ่งปัจจุบันเป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ของวัด เป็นต้น