• หน้าแรก
  • วัดข่อย เพชรบุรี ศิลปะชั้นสูงของช่างเมืองเพชร

วัดข่อย เพชรบุรี ศิลปะชั้นสูงของช่างเมืองเพชร

วัดข่อย มีความงดงามของ พระธาตุฉิมพลีพระเศรษฐีนวโกฏิ ที่มีการนำงานศิลปะชั้นสูงของช่างเมืองเพชร หรือเรียกว่า ช่างสิบหมู่ มาเป็นส่วนร่วม สร้างอาคารเพื่อเทิดทูนบูชาพระพุทธศาสนาให้เกิดความสวยงามตามความศรัทธาของพุทธศาสนิกชน จนเรียกได้ว่า เป็น พุทธสถานศิลป์ หนึ่งเดียวในโลก แนวคิดในการก่อสร้างเริ่มจากปี 2548 โดยพระวัชรวิชญ์ สิริปัญโญในสมัยนั้นยังเป็น ฆราวาสได้มีโอกาสเห็นผ้ายันต์ฉิมพลีของ วัดท่าไชยศิริ อ.บ้านลาดจึง จินตนาการต่อว่าภาพบนผืนผ้ายันต์เสมือนวิมานบนสวรรค์หากมี โอกาสสร้างให้เป็นจริง ต่อมาในปี 2554 จึงได้เริ่มแนวคิดที่ว่านี้สร้างถาวรวัตถุแห่งนี้ขึ้น เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ พร้อมกับเป็นสถานที่ปฎิบัติธรรมเจริญจิตภาวนา

สถาปัตยกรรมของพระธาตุฉิมพลีฯมีความแตกต่าง เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร พระธาตุฉิมพลีพระเศรษฐี เป็นทรงอาคารสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีลักษณะคล้ายผ้ายันต์ที่ผนังอาคารเต็มไปด้วย อักขระพิเศษ มีพระพุทธรูปประจำอยู่ 4 ทิศ ขนาดฐานยาวด้านละ 18 เมตร ความสูงจากฐานถึงยอดพระธาตุ 27 เมตร มีจำนวน 3 ชั้น ด้านชั้นบนสุดเป็น ที่ประดิษฐานของพระบรมสารีริกธาตุ

ภายในพระธาตุมีพระประธาน 3 องค์ พระพุทธเศรษฐีนวโกฏิด้านซ้าย พระพุทธมิ่งมงคล ตรงกลาง พระสิวลีมหาลาภร่มเย็น ทางด้านขวา ข้างบนเพดาน เห็นผนังทั้งสี่ด้านแกะสลักเป็นตัวอักขระขอมบท พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ เหนือบริเวณพระประธาน ซึ่งเป็นยันต์ของ หลวงพ่อทองศุข แห่งวัดโตนดหลวง ยันต์พรหมสี่หน้า และยันต์หงส์มหาเสน่ห์ หรือหงส์เรียกทรัพย์ มีความศักดิ์สิทธิ์อย่างมากเชื่อว่า หากผู้ใดมาสักการะบูชาจะได้พบแต่ความเจริญสมหวัง ในหน้าที่การงาน และสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้นั้น ตัวผู้สักการะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐาน แห่งความดี

 

ทุกทิศของฐานพระธาตุฯมีรูปปั้นเป็นหน้ายักษ์ ลิง พราหมณ์ และรูปล้อนักการเมืองและกีฬา แบกฐานขององค์พระธาตุเอาไว้ สื่อถึงพระพุทธศาสนา ที่ต้องการให้ทุกคนมีส่วนร่วมอุปภัมถ์ไปพร้อมกัน ชั้นที่สอง ประดิษฐานพระพุทธเจ้า 4 พระองค์ และยังคงลวดลายยันต์ โภคทรัพย์ที่ผนังทั้ง 4 ด้าน มีบันได ทางขึ้นริมด้านขวาหลังพระธาตุ แต่ชั้นสองนี้อนุญาตเพศชายขึ้นไปได้เท่านั้น ชั้นที่สาม ซุ้มเรือนยอด ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ในบุษบก 5 ยอด ลงรักปิดทอง ชั้นนี้ไม่อนุญาตให้บุคคลทั่วไปและฆราวาส ขึ้นไป

ส่วนบรรยากาศรอบบริเวณพระธาตุฯมีรูปปั้นจำลองของมัก กะลีผลแขวนบนต้นไม้เป็นเพศชายซึ่งแตกต่าง จากมักกลีผลทั่วไป ที่เป็นเพศหญิง ส่วนสาเหตุที่สร้างเป็นเพศชายนั้นก็เพื่อให้ญาติโยมที่มาเที่ยวมาไหว้พระ เห็นแล้วแปลกใจถือว่าคลายเครียดไปด้วย