• หน้าแรก
  • อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ มรดกโลก ชิมไอศครีมโบราณศรีเทพ

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ มรดกโลก ชิมไอศครีมโบราณศรีเทพ

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ

จากอุทยานประวัติศาตร์ ที่เคยบรรยากาศเงียบเหงา หลังจาก อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกแห่งที่ 7 ของประเทศไทย กลายเป็น ที่เที่ยวเพชรบูรณ์ กระแสงแรงสุดๆ ปัจจุบันนักท่องเที่ยวเยอะ แม้วันธรรมดา มาชมความงามเก่าแก่ของโบราณาสถานที่ว่ากันว่าเก่าแก่กว่าปราสาทนครวัต นครธม ของเขมร มีโบราณสถานสำคัญทั้ง ปราค์ศรีเทพ ปรางค์สองพี่น้อง เขาคลังใน และเขาคลังนอก โบราณสถานที่สวยงามเป็นเอกลักษณ์มีความใหญ่อลังการ แถมตอนนี้ยังมีกิมมิคน่ารัก เพิ่มสีสันของการมาเที่ยวด้วย ไอศครีมโบราณศรีเทพ ที่ทำลวดลายโบราณสถานมาเป็นตัวชูโรงเพิ่มขึ้น ยิ่งทำให้เมืองโบราณศรีเทพฮอตแบบฉุดไม่อยู่ เว็บไปด้วยกัน มาอัพเดทภาพและข้อมูลท่องเที่ยวฉบับศรีเทพอัพเดท มาให้ชม


ประวัติอุทยานประวัติศาตร์ศรีเทพ

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ มรดกโลกลำดับที่ 7 ของประเทศไทย  ตั้งอยู่ในอำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ มีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 8-18 เป็นเมืองที่มีความสำคัญมากแห่งหนึ่งในสมัยทวารวดี มีการติดต่อรับคติความเชื่อทางศาสนาหลายศาสนาและนิกาย ทั้งพุทธศาสนาแบบเถรวาทและมหายาน รวมไปถึงศาสนาพราหมณ์-ฮินดู  มีการติดต่อสัมพันธ์กับวัฒนธรรมใกล้เคีย งตั้งแต่วัฒนธรรมอินเดีย ขอม และทวารวดี

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ

โดยยังหลงเหลือหลักฐานทางโบราณคดีและงานศิลปกรรม สามารถแสดงความเป็นศูนย์กลางของอารยธรรมและการค้า แสดงให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันของชุมชนที่ต่างศาสนาในระยะเวลาเดียวกัน  มีกลุ่มโบราณสถานสำคัญที่มีความโดดเด่น ทั้งด้านศิลปกรรม สถาปัตยกรรม ศาสนาและวัฒนธรรม  ที่แสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองต่อเนื่องกันถึง 3 ยุค ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ยุคทวารวดีจนถึงยุคขอมเรืองอำนาจ

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ

ด้วยเอกลักษณ์และความสำคัญของเมืองศรีเทพ จึงมีนักวิชาการบางท่านสันนิษฐานว่าเมืองศรีเทพเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรม ทวารวดี หรือเมืองศรีเทพนั้นคือ ทวารวดี ไม่ใช่เมืองนครปฐมโบราณ หรือเมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรีตามที่เชื่อกันมา และในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2566 อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโก ภายใต้ชื่อ เมืองโบราณศรีเทพ และโบราณสถานสมัยทวารวดีที่เกี่ยวข้อง

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ

จุดท่องเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ มีโบราณสถานที่น่าสนใจกระจายในพื้นที่กว้าง แต่จุดหลักๆที่นักท่องเที่ยวนิยมแวะ มี 2 จุด

จุดแรก โบราณสถานที่อยู่ในพื้นที่ของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ มีโบราณสถานที่สำคัญตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกัน  3 แห่ง ใกล้กัน คือ ปรางค์ศรีเทพ เขาคลังใน ปรางค์สองพี่น้อง  พื้นที่ในส่วนนี้สามารถจอดรถด้านนอกและนั่งรถรางของอุทยานเข้าไป โดยเสียค่าบริการคนไทย 20 บาท ต่างชาติ 100 บาท ค่าจอดพาหนะ 50 บาท เปิดให้เข้าชมตั้งแต่ 08.30 น. – 16.30 น.

จุดที่สอง เขาคลังนอก สถานที่ท่องเที่ยวที่ตั้งอยู่นอกอุทยานฯ ที่มีการบูรณะใหม่ ตั้งอยู่ห่างจากอุทยานประมาณ 1.7 กม สำหรับการมาที่เขาคลังนอก สามารถขับรถส่วนตัวมาเองได้ ที่นี่ไม่เสียค่าเข้าชมและไม่มีเวลาเปิด ปิด จะเที่ยวก่อนไปอุทยาน หรือหลังจากนั้นก็ได้ เพราะตั้งอยู่ไม่ไกลกัน

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
เขาคลังใน
เขาคลังนอก

ชิมไอศครีมโบราณศรีเทพ

ไอศครีมโบราณศรีเทพ อีกหนึ่งสีสันของการมาเที่ยว มีซุ้มขาย ติดกับจุดขายบัตร มีการออกแบบให้เป็นลวดลาย ให้สอดคล้องกับลวดลายของโบราณสถานของอุทยานฯ โดยภาพในไอศกรีม เป็นภาพประติมากรรมปูนปั้นที่ค้นพบบริเวณฐานของเขาคลังใน เป็นรูปคนแคระที่มีศีรษะเป็นบุคคลหรือสัตว์ต่างๆ สลับกับรูปสัตว์ในท่าแบกประกอบลายพันธ์พฤกษา  ซึ่งพบและหลงเหลือประดับอยู่ที่ฐานโบราณสถานเนื่องในวัฒนธรรมทวารวดีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยปัจจุบัน

ไอศครีมโบราณศรีเทพ
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ

ไอศครีมมีหลายรสชาติ หลายสี ทั้งรสชาไทย สตรอเบอรี่ มินท์ น้ำผึ้งมะนาว มันหวาน ราคาแท่งละ 50 บาท รสชาติอร่อยทุกรส จะซื้อไอศครีมแล้วถ่ายข้างหน้า หรือนำไปถ่ายข้างในกับโบราณสถานได้ แต่ไอศกรีมละลายเร็ว เพราะอากาศค่อนข้างร้อนเพราะฉะนั้นหากใครจริงจังกับการถ่ายรูปอยากถ่ายหลายรส แนะนำให้ถือกระติกน้ำแข็งเล็กๆมาแช่ไอติมตอนเดินถ่ายรูปด้วย

 

ได้บัตรแล้ว เดินไปขึ้นรถรางจอดไม่ไกล จากทางเข้าไปยังอุทยานนั่งรถรางไม่ถึง 2 นาที  จากนั้นเดินถ่ายรูปตามสะดวก จุดนี้มีโบราณสถานที่สำคัญ 3 จุด ได้แก่ ปรางค์สองพี่น้อง ปรางค์ศรีเทพ เขาคลังใน

โบราณสถานภายในอุทยานประวัติศาตร์ศรีเทพ

ปรางค์สองพี่น้อง

ปรางค์สองพี่น้อง  สถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากปราสาทเขมร  มีลักษณะเป็นปราสาทที่ก่อด้วยอิฐสององค์ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ทั้งสององค์ส่วนยอดพังทลายไปจนหมดสิ้นแล้ว  แต่องค์เล็กยังหลงเหลือทับหลังศิลาทรายที่มีสภาพสมบูรณ์ประดับอยู่จำหลักเป็นรูปอุมามเหศวร (พระอิศวรอุ้มนาง ปารพตี ประทับนั่งอยู่เหนือโคอศุภราชหรือนนทิ)  จากลักษณะทางสถาปัตยกรรมและโบราณวัตถุที่พบทำให้อนุมานได้ว่าปรางค์สองพี่สร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวาลัยเนื่องในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกายในราวพุทธศตวรรษที่  17 แล้วต่อมาจึงได้ถูกเปลี่ยนแปลงเป็นศาสนสถานเนื่องในพุทธศาสนาลัทธิมหายานในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่  7  (พ.ศ. 1724 – 1760 ) 

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ

นำไอศครีม มาถือถ่ายรูปกับปรางค์สองพี่น้องแบบเก๋ๆหน่อย บริเวณซุ้มประตูบริเวณปรางค์สองพี่น้อง มีทับหลังตรงหน้าบันประตูที่มีลวดลายแกะสลักสวยงาม คล้ายกับไอศครีม

ไอศครีมโบราณศรีเทพ
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ

ปรางค์ศรีเทพ  

ปรางค์ศรีเทพ  สถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากปราสาทเขมร เป็นปราสาทที่ก่อด้วยอิฐตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงขนาดใหญ่ หันหน้าไปทางด้านตะวันตกในแนวแกนเดียวกับปรางค์สองพี่น้อง จากลักษณะทางสถาปัตยกรรมและโบราณวัตถุที่พบโดยเฉพาะทับหลังทำให้อนุมานได้ว่าคงสร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวาลัยเนื่องในศาสนาฮินดู (พราหมณ์)  ลัทธิไศวนิกายในราวพุทธศตวรรษที่  ๑๖ – ๑๗   ต่อมาคงมีการพยายามซ่อมแซมดัดแปลงแต่ยังไม่แล้วเสร็จ เพื่อใช้เป็นศาสนสถานเนื่องในพุทธศาสนาลัทธิมหายานในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ (พ.ศ. ๑๗๒๔ – ๑๗๖๐) เช่นเดียวกับปรางค์สองพี่น้อง เนื่องจากมีการพบชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมที่เป็นเพียงโกลนอยู่เป็นจำนวนมาก

ตรงพื้นที่ปรางค์ศรีเทพ ยังมีทับหลังจำลอง ที่มีลวดลายแกะสลักสวยงาม

 เขาคลังใน 

เขาคลังใน ตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างปรางค์ศรีเทพ กับปรางค์สองพี่น้อง เป็นศาสนสถานสำคัญที่มีขนาดใหญ่เนื่องในวัฒนธรรมทวารวดี  ที่สร้างขึ้นพร้อมกับสมัยแรกสร้างเมืองในราวพุทธศตวรรษที่  12 พื่อเป็นศาสนสถานเนื่องในพุทธศาสนาลัทธิหินยานหรือเถรวาท แล้วต่อมาจึงได้มีการปรับเปลี่ยนเป็นศาสนสถานเนื่องในพุทธศาสนาลัทธิมหายานในราวพุทธศตวรรษที่ 14 และคงใช้สอยตลอดมา จนกระทั่งเมืองถูกทิ้งร้างไปในราวพุทธศตวรรษที่ 18 มีลักษณะก่อด้วยศิลาแลง หันหน้าไปทางด้านทิศตะวันออก บริเวณฐานด้านทิศใต้และตะวันตกยังหลงเหลือประติมากรรมปูนปั้นรูปคนแคระที่มีศีรษะเป็นบุคคลหรือสัตว์ต่างๆ สลับกับรูปสัตว์ในท่าแบกประกอบลายพันธ์พฤกษา ซึ่งพบและหลงเหลือประดับอยู่ที่ฐานโบราณสถานเนื่องในวัฒนธรรมทวารวดีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยปัจจุบัน

เขาคลังใน
เขาคลังใน
เขาคลังใน

เขาคลังนอก

หลังจากชมโบราณสถานภายในอุทยานแล้ว ขับรถออกมาข้างนอกปักหมุด google มาที่ เขาคลังนอก กันต่อ เขาคลังนอกห่างจากอุทยานฯศรีเทพประมาณ 2 กิโลเมตร สามารถเข้าชมได้ตลอดไม่มีเวลาเปิด ปิด และไม่เสียค่าเช้าชม บริเวณทางเข้าเขาคลังนอก เต็มไปด้วยร้านค้า ขายของของชาวบ้าน ซึ่งค่อนข้างคึกคักมาก สามารถจอดรถไว้รอบๆ เขาคลังนอกแล้วเดินเข้าไป

เขาคลังนอก

เขาคลังนอกโบราณสถานขนาดใหญ่ก่อสร้างในยุคที่เมืองศรีเทพมีความเจริญรุ่งเรืองในยุดทวารวดี ประมาณ พ.ศ.1000-1500 มีลักษณะเป็นมหาสถูปมีฐานขนาดใหญ่ทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส  ก่อด้วยศิลาแลงที่ยังคงสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ประดับตกแต่งฐานด้วยอาคารจำลองขนาดต่างๆอยู่โดยรอบ  ภายในทึบตันมีบันไดทางขึ้นทั้ง 4 ด้าน มีสถูปก่อด้วยอิฐตั้งอยู่ด้านบนสุด เมื่อมองจากด้านบนเขาคลังนอกจะเห็นพื้นที่บริเวณรอบๆ มีวิวสวยงาม สามารถเห็นเขาถมอรัตน์ที่อยู่ด้านตะวันตกของเขาคลังนอก ในแนวตรงกับทางขึ้นบันได ถือว่าเป็นศาสนาสถานขนาดใหญ่มาก และอาจใหญ่ที่สุดในไทย

เขาคลังนอก
เขาคลังนอก
เขาคลังนอก

เห็นภาพเขาคลังนอก ต้องบอกเลยว่ายิ่งใหญ่ และมีความสวยงามมากโบราณสถานมีขนาดใหญ่ เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมคล้ายปีรามิด ที่มีความสูงมากถึง15เมตร  ไม่อนุญาตให้เดินขึ้นไปข้างบน แต่สามารถเดินรอบ เขาคลังนอก และถ่ายรูปได้ทุกจุด  เป็นความอลังการที่ไม่อยากเชื่อว่าเป็นโบราณสถานที่สร้างขึ้นเมื่อ 1700 ปีที่แล้ว เป็นโบราณสถานที่โบราณเก่าที่สุดของประเทศไทย ก่อนสมัยสุโขทัยไป 1000 ปี และเก่าแก่กว่า ปราสาทนครวัดของเขมร  

เขาคลังนอก

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ นับเป็นโบราณสถานสำคัญควรค่าแก่การมาเที่ยวชม โดยเฉพาะเขาคลังนอก ที่มีความสวยแปลกตาอลังการ อำเภอศรีเทพ ตั้งอยู่ระหว่างทางไป ไปเที่ยวเขาค้อ ภูทับเบิก ซึ่งจะแวะก่อนไป หรือขากลับก็ได้ หรือหากใครไปเที่ยวเลย เชียงคาน ก็สามารถแวะที่นี่ได้เช่นกัน เพราะเป็นเส้นทางผ่าน

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ

ที่อยู่ :  ตำบล ศรีเทพ อำเภอศรีเทพ เพชรบูรณ์ 67170

เปิดให้บริการทุกวัน :  ตั้งแต่เวลา 08.30 น. – 15.30 น.  ไม่เว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์

โทรศัพท์ : 056 921 322

ค่าธรรมเนียมเข้าชม : คนไทยคนละ 20  บาท  ชาวต่างประเทศ คนละ  100  บาท ยกเว้นค่าธรรมเนียมเข้าชมให้แก่พระภิกษุ  สามเณรในพระพุทธศาสนาหรือนักบวชในศาสนาอื่น  นักเรียน  นิสิตและนักศึกษาในเครื่องแบบนักเรียน  นิสิตและนักศึกษารวมทั้งครูอาจารย์ผู้ควบคุมในกรณีขอเข้าชมเป็นหมู่คณะโดยประสานงานล่วงหน้า และแขกผู้มีเกียรติที่กรมศิลปากรหรืออุทยานประวัติศาสตร์เชิญหรือต้อนรับ



ผู้เขียน

นักเดินทางที่ชอบถ่ายภาพ อยากส่งต่อเรื่องราวของการท่องเที่ยว จากประสบการณ์ที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน