นั่งรถรางเที่ยว ลำพูน

ลำพูน  จังหวัดที่มีขนาดเล็กที่สุดในภาคเหนือ  แต่ถึงแม้จะเป็นจังหวัดเล็กแต่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีวัดวาอาราม บ้านเรือนแบบโบราณเรียงรายอยู่สองข้างทาง มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานที่สุดในแผ่นดินล้านนา อาณาจักรหริภุญชัยเป็นอาณาจักรพระพุทธศาสนาที่เจริญรุ่งเรืองมากว่า 600 ปี ก่อนที่พญาเม็งรายจะสร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้นเมืองลำพูนจึงเหมาะแก่การเที่ยวชมวัดวาอาราม ศิลปวัฒนธรรม และงานหัตถกรรม โดยเฉพาะความเก่าแก่ในเขตตัวเมือง  โดยการนั่งรถรางชมเมืองลำพูน  สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไหว้พระ 9  วัด

 

covernew

 

รถรางเที่ยวลำพูน  จัดขึ้นมาเพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดลำพูน  โดยรถจะจอดอยู่หน้าวัดพระธาตุหริภุญชัย  เก็บค่าบริการคนละ 50 บาท ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง    มี 2 รอบ คือรอบเช้า 9.30 น. และรอบบ่ายก็ 13.30 น. เส้นทางท่องเที่ยวของรถรางพาไปเที่ยวตามจุดท่องเที่ยวในเมืองรวม  11  จุด ได้แก่ จุดที่ 1 วัดพระธาตุหริภุญชัย   2 พิพิธภัณฑ์ชุมชนเมืองลำพูน  3 คุ้มเจ้ายอดเรือน  4 อนุสาวรีย์จามเทวี  5  วัดจามเทวี  6 วัดมหาวัน  7วัดพระคงฤาษี   8 วัดสันป่ายางหลวง  9  โบราณสถานกู่ช้างกู่มา 10  วัดพระยืน   11 วัดต้นแก้ว  เห็นรายชื่อที่เที่ยวแล้วต้องบอกเลยว่าคุ้มและครบมาก ไม่ต้องขับรถเที่ยวเองให้งงและอาจหลงทาง สำหรับใครที่มาเป็นหมู่คณะและต้องการเหมารอบก็จะคิดรอบละ 1,000 บาท  สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ศูนย์บริการรถรางนำเที่ยวลำพูนโทร 053 530 757  เริ่มจากจุดแรก วัดพระธาตุหริภุชัย ซึ่งเป็นจุดจอดรถนั่นเอง

 

DEW_2982

 

จุดที่สอง พิพิธภัณฑ์ชุมชนเมืองลำพูน  ตั้งอยู่ในเมืองลำพูนด้านหลังพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติหริภุญชัย โดยใช้พื้นที่ของคุ้มเจ้าราชสัมพันธ์วงษ์ ลำพูน ซึ่งเป็นอาคารเก่าแก่อายุกว่า 100 ปี เป็นพิพิธภัณฑ์บอกเล่าประวัติความเป็นมาอันยาวนานของเมืองลำพูน เมืองที่มีความศรัทธา ทางพระพุทธศาสนาที่รุ่งเรืองจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ร่วมเรียนรู้เมืองลำพูนผ่านภาพถ่าย ทั้ง บุคคล เหตุการณ์ และสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งที่นี่ถือเป็นพิพิธภัณฑ์ร่วมสมัยที่มีชีวิตโดยมีการจัดแสดงภาพ เมืองลำพูน สิ่งของเครื่องใช้และวิถีชีวิตของ ชาวเมืองลำพูน ในอดีตได้อย่างงดงามเข้าใจง่าย

 

 

พื้นที่จัดแสดงประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก

1 พื้นที่ชั้นล่างอาคารจัดแสดงประวัติคุ้มเจ้าราชสัมพันธ์วงษ์ ครั้งสมัยเจ้าราชสัมพันธวงษ์ ได้พำนักพร้อมครอบครัว บริวาร การเปลี่ยนแปลงด้านการใช้งานของคุ้มตั้งแต่อดีตจนกระทั่งมากลายเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนเมือง นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงข้าว ของเครื่องใช้เก่า ไม่ว่าจะเป็นตู้เย็นแบบโบราณแบบที่ใช้น้ำมันก๊าด กล้องถ่ายรูป วิทยุแบบเก่า เตารีดแบบใช้ถ่าน ฯลฯ

 

 

ที่น่าสนใจคือตู้เก็บสะสมสลากกินแบ่งรัฐบาลที่มีสลากแบบเก่าตั้งแต่ปี 2511 ตั้งแต่ยังราคาคู่ละ 10 บาท มาจนถึงสลากยุคปัจจุบัน

 

 

นอกจากนี้ยังนำแผนที่เก่ามาขยาย แสดงให้เห็นพัฒนาการของเมืองลำพูน และภาพถ่ายเก่าที่สะท้อนเหตุการณ์ต่างๆ ของเมืองลำพูน เช่น ภาพวัดพระธาตุหริภุญชัย ในสมัยก่อน ภาพวิหารหลวงหลังเก่าของวัดพระธาตุฯ ภาพความเสียหายเมื่อวิหารหลวงหลังเก่าถูกพายุพัดพังเสียหายทั้งหลัง และภาพวิถีชีวิตคนเมืองลำพูนในอดีต ประเพณีและพิธีกรรมต่างๆ และเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับการประกวดนางงามซึ่งเมืองลำพูน มีสาวงามคือ คุณ ชีลา ศรีสมบูรณ์ สาวงามเมืองลำพูนที่ครองตำแหน่งนางสาวไทยเป็นคนแรก

 

 

2 พื้นที่ด้านหลังอาคารเป็นการจำลองโรงภาพยนตร์เก่าของลำพูน “หริภุญชัยรามา” และจำลองห้องเรียน ที่แสดงหนังสือที่ใช้ใน การเรียนการสอนระดับประถมศึกษา โต๊ะ เก้าอี้ไม้ และกระดานดำ ชอล์ก และโรงแรมแห่งแรกของเมืองลำพูน โรงแรมศรีลำพูน

 

 

3 พื้นที่ชั้นสองของอาคารเป็นพื้นที่เปิดโล่งใช้ทำกิจกรรมต่างๆ ของพิพิธภัณฑ์ เช่น การสอนดนตรี พิณเปี๊ยะ แก่เยาวชนและผู้สนใจ ตามผนังอาคารยังประดับภาพของพ่ออุ้ยที่เคยเล่นพิณเปี๊ยะ ภาพที่น่าสนใจภาพหนึ่งคือ ภาพของนักวิจัยชาวอเมริกันที่เข้ามาศึกษา เรื่องพิณเปี๊ยะเมื่อ 40 กว่าปีที่ผ่านมา รวมถึงแสดงภาพประวัติของเจ้าสัมพันธวงศ์ และอาคาร บ้านเรือนเก่าแก่ที่น่าสนใจในเมืองลำพูน

 

 

จุดที่สาม คุ้มเจ้ายอดเรือน เป็นอาคารที่เก่าที่สุดหลังหนึ่งในเขตกำแพงเมืองลำพูน เป็นเรือนพักอาศัย ซึ่งเจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์สุดท้าย สร้างขึ้นเพื่อมอบให้แก่ชายาเจ้ายอดเรือน ชายาองค์สุดท้าย เมื่อปี พ.ศ.2470 ซึ่งมีความเก่าแก่และยังคงรักษาสภาพเดิมไว้ค่อนข้างสมบูรณ์ ประกอบด้วย อาคารเรือนไม้ ข่วง ลานดินกว้างหน้าบ้าน ต้นไม้มงคล ยุ้งข้าว บ่อน้ำและส่วนประกอบอื่น ๆ ปัจจุบันคุ้มเจ้าเรือน เปิดให้บุคคลทั่วไปได้เข้าชมมีวัตถุประสงค์ เพื่อใช้เป็นแหล่ง ศึกษาหาความรู้ด้านสถาปัตยกรรมและประวัติศาสตร์ของเมืองลำพูน เป็นการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมให้มีสภาพ สมบูรณ์ และสามารถใช้เป็นสถานที่จัดแสดงอาคารโครงสร้างบ้านเก่า สิ่งของ เครื่องใช้พื้นบ้าน และข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ เจ้าผู้ครองนครลำพูน อีกทั้งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกด้วย

 

 

ลักษณะเรือนของคุ้มเจ้ายอดเรือนหลังนี้ ตัวเรือนทำด้วยไม้สัก เป็นแบบเรือนสรไน ชั้นดียวใต้ถุนสูง หน้าจั่ว สรไน ที่สร้างด้วย ไม้กลึงท่อนเดียว อันเป็นเทคนิคโบราณหายากยิ่ง ทำให้ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามฯ  มีหลังคาทรงจั่ว ผสมปั้นหยา (มนิลา) มุงกระเบื้องคอนกรีต เรือนใหญ่มี 5 ห้อง เรือนรองมี 3 ห้อง มีชานใหญ่เปิดโล่งเชื่อมเรือนใหญ่และเรือนรองที่วาง ขนานกัน สุดชานมีเรือนเล็กเป็นห้องอาบน้ำและห้องส้วม บันไดขึ้นเรือนอยู่ด้าน

 

 

ไม้สักที่ใช้สร้าง คุ้มเจ้ายอดเรือน แปรรูปด้วยเลื่อยมือและขวานถากไม้ทุกแผ่น ไม่ได้ใช้กบไสไม้แต่อย่างใด ตัวเรือนก็ไม่ได้ใช้เหล็กยึดติดกับเสาปูน ที่รองรับอยู่ใต้ถุน เพียงวางกันไว้ สามารถยกเรือนขึ้นได้ทั้งหลัง ส่วนฝาบ้านจะตีไม้ไขว้ เรียกว่า เบ็งไม้และจะเบ็งไว้ทุกมุมด้านในของ ตัวบ้าน เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับตัวบ้านตะวันตกของเรือน มีเสาแหล่งหมาสูงรับหลังคาคลุมบันได ที่ต่อเป็นหลังคาสตูปคลุมชานบันได และเป็นทางเข้าห้องรับแขกและห้องเล็กต่อเนื่องจนถึงชานใหญ่

 

 

ภายในห้องต่างๆ ของคุ้มเจ้ายอดเรือน ก็ยังมีข้าวของเครื่องใช้ตั้งแต่สมัยอดีตให้ชม รวมทั้งข้อมูลประวัติความเป็นมาของเจ้ายอดเรือนและข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย นอกจากความงามในด้านสถาปัตยกรรมของตัวเรือน ทีเก่าแก่และทรงคุณค่า คุ้มเจ้ายอดเรือน ยังเปรียบเสมือนสถานที่ให้คนรุ่นหลังได้รำลึกถึง และทำความรู้จักกันกับ เจ้ายอดเรือนในฐานะ ชายาเจ้าหลวงจักรคำฯ เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์สุดท้าย

 

 

จุดที่ 4  อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี ตั้งอยู่ตำบลในเมือง บริเวณสวนสาธารณะหนองดอก ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 1 กิโลเมตร สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระนางจามเทวี ซึ่งเป็นองค์ปฐมกษัตริย์แห่งนครหริภุญไชย พระนางเป็นปราชญ์ที่มีคุณธรรม ความสามารถและกล้าหาญ ได้นำพุทธศาสนาศิลปวัฒนธรรมมาเผยแพร่ในดินแดนแถบนี้จนมีความรุ่งเรืองสืบมาจนถึงปัจจุบัน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามกุฏราชกุมารได้เสด็จมาทรงเปิดอนุสาวรีย์เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2525

 

DSC_3872

 

จุดที่ 5  วัดจามเทวี หรือที่ ชาวบ้านเรียกกันว่า วัดกู่กุด ตั้งอยู่บนถนนจามเทวี ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เป็นวัดเก่าแก่ที่สำคัญมา ตั้งแต่สมัยล้านนาไทย มีความสําคัญทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ และโบราณคดีตามหลักฐานที่ได้พบศิลาจารึกเชื่อว่า พระราชโอรส ของพระนางจามเทวีคือ พระเจดีย์มหันตยศ และพระเจ้าอนันตยศโปรดให้สร้างวัดนี้ขึ้ นเพื่อถวายพระเพลิง แล้วโปรดให้สร้าง เจดีย์เหลี่ยมมียอดหุ้มด้วยทองทองเรียกชื่อว่า สุวรรณจังโกฏิ  พระเจดีย์สุวรรณจังโกฏิ หรือพระเจดีย์จามเทวี เป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมแบบ พุทธคยาในประเทศอินเดีย แต่ละด้านมีพระพุทธรูปยืนปางประทานพรอยู่เป็นชั้นๆพรศิลปกรรมของลพบุรีมีพระพุทธรูป ยืนปาง ประทานพรอยู่ในซุ้มพระทั้งสี่ด้านด้านละ 15 องค์ รวม 60 องค์  ภายในพระเจดีย์บรรจุอัฐิของพระนางจามเทวี ปฐมกษัตริย์ แห่งนครหริภุญชัย ต่อมาจะเป็นสมัยใดไม่ทราบแน่ชัดยอดพระเจดีย์ได้หักหายไป ชาวบ้านจึงเรียกว่ากู่กุดพระเจดีย์ องค์นี้มีชื่อเป็น ทางการว่า พระเจดีย์สุวรรณจังโกฎพระเจดีย์องค์นี้ ถือเป็นแบบสถาปัตยกรรมที่มีความสําคัญในศิลปกรรมหริภุญชัย

 

DEW_3028

 

 

นอกจากนี้ยังมีโบราณสถานที่สำคัญ คือ เจดีย์แปดเหลี่ยม ลักษณะทางสถาปัตยกรรมมีแผนผังเป็นรูปแปดเหลี่ยมซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป สามารถแบ่งได้เป็นสามส่วน คือ ส่วนฐานประกอบด้วยฐานแปดเหลี่ยมซ้อนกันสองชั้น ถัดขึ้นไปเป็นชั้นบัวถลารองรับองค์เรือนธาตุ โดยส่วนล่างของเรือนธาตุ ทําเป็นฐานลดท้องไม่ลงเล็กน้อยจากระดับผนังของเรือนธาตุ ส่วนเรือนธาตุมีผังเป็นรูปแปดเหลี่ยมทรงสูง  ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประทับยืน ซุ้มมีลักษณะเป็นวงโค้งสามวง โบราณปูชนียสถานภายในวัดจามเทวีเป็นที่เคารพสักการะ ของพุทธศาสนิกชนทั่วไป อีกทั้งยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์โบราณคดีที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย

 

 

วิหารและรูปปั้นพระนางจามเทวี

 

 

จุดที่ 6  วัดมหาวัน  ตั้งอยู่ใกล้คูเมือง ด้านทิศตะวันตก ถ.จามเทวี ในเขตเมืองลำพูน วันมหาวัน  เป็นต้นกำเนิดพระรอดลำพูน 1 ในพระเครื่องชุดเบญจภาคี ( พระสมเด็จวัดระฆัง พระรอดมหาวัน พระนางพญา พระผงสุพรรณ และพระซุ้มกอ ) เป็นพระพิมพ์ที่ถูกจัดให้อยู่สูงสุดของพระสกุลลำพูน ค้นพบที่กรุวัดมหาวัน  สิ่งที่น่าชมคือ พระพุทธสิกขิ หรือพระศิลาดำ ซึ่งพระนางจามเทวีอัญเชิญมา จากเมืองละโว้ ชาวเมืองเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า พระรอดหลวง หรือพระรอดลำพูน มีความสำคัญและเป็นแบบพิมพ์ใน การจำลองทำพระเครื่อง ที่ลือชื่อคือ พระรอดมหาวัน  พระรอดได้ขุดค้นพบที่วัดมหาวันเพียงแห่งเดียวเท่านั้นเนื้อดินเผาละเอียด หนักนุ่มมาก องค์พระประทับนั่ง ขัดเพ็ชรปางมารวิชัยประกอบด้วยพื้นผนังใบโพธิ์ทั้งสองด้าน มีศิลปะโดยรวมแบบทวาราวดี – ศรีวิชัย เป็นรูปแบบเฉพาะของสกุล ช่วงสมัยหริภุญไชย ความสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือวัดแห่งนี้เคยเป็นพระอารามหลวง ของพระนางจามเทวี ปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรหริภุญชัย

 

 

จุดที่ 8  วัดพระคงฤาษี    เป็นวัดต้นกำเนิดพระพิมพ์รุ่นพระคงอันลือลั่น เป็นแหล่งชุมพระฤาษีทั้ง  5 ตนผู้ร่วมสถาปนานครหริภุญไชย พระคง  เป็นพระเครื่องที่มีความศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่นับถืออีกองค์หนึ่งของเมืองลำพูน เป็น 4  วัด 4 มุมเมือง ที่มีการจุดพบพระเครื่องของเมืองลำพูน  เชื่อว่าพระเครื่องที่ขุดได้นี้เป็นเป็นพระดง ที่ วาสุเทพฤาษี และสุกกทันตฤาษี สร้างวัด จึงเรียกว่า วัดพระคงฤาษี แต่นั้นเป็นต้นมา  ตามตำนานกล่าวว่า วาสุเทพฤาษี ได้ใช้ไม้เท้ากรีดพื้นเพื่อเขียนแผนผังเมืองลำพูนตรงพระเจีดย์นี้ พระนางจามเทวีจึงทรงสร้างพระเจดีย์ขึ้นเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม แล้วให้นายช่างแกะสลักเป็นรูปพระฤาษีทั้ง 4 ตนไว้ แต่ละตนถือไม้เท้าในมือ รูปปั้นแกะสลักฤาษีสร้างด้วยศิลาแดงเมื่อทำเสร็จแล้ว ได้นำไปบรรจุไว้ภายในซุ้มประตูทั้ง 4 ด้านของพระเจดีย์ โดยทางทิศเหนือเป็นรูปวาสุเทพฤาษี   ทิศตะวันออกเป็นรูปพระพรหมฤาษี   ทิศตะวันตกเป็นรูปของพระสมณนารคฤาษี    ทิศใต้เป็นรูปของสุกกทันตฤาษี  ซึ่งชาวลำพูนจะจัดประเพณีนมัสการและสรงน้ำ พระเจดีย์องค์นี้ภายหลังวันสงกรานต์

 

 

จุดที่ 9  วัดสันป่ายางหลวง ตั้งอยู่ในหมู่บ้านสันป่ายางหลวงตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน  เป็นวัดที่ติด 1 ใน 5 วัดที่สวยที่สุด ในประเทศไทย ภายในวัดสันป่ายางหลวงมีการแกะสลักลวดลายปูนปั้นไว้อย่างวิจิตรงดงาม โดยเฉพาะวิหารพระโขงเขียว มีการแกะสลักละลายปูนปั้นที่สร้างไว้ในพระวิหารอย่างละเอียดและวิจิตรสวยงามยิ่งแม้กระทั่งมุมหน้าจั่ว เชิงเพดานหลังคาด้านหน้า ด้านข้าง และ ด้านหลัง รวมทั้งเสาพระวิหารก็จะมีลายแกะสลักลงรักปิดทองไว้ แม้ถึงบ้านประตู-หน้าต่าง ทุกบาน

 

 

เมื่อมองจากด้านหน้าจะมีหลังคา 5 ชั้น มีช่อฟ้า 5 ตัว หมายถึง พระเจ้า 5 พระองค์ ด้านหลังอีก 3 หมายถึง ศีล สมาธิ ปัญญา หมายถึงการปฏิบัติของพระพุทธเจ้าเพื่อเดินเข้าสู่พระนิพพาน หน้า 5 รวมหลัง 3 รวมเป็น 8 หมายถึง ต้องปฏิบัติตาม ทางสายกลาง คือ มรรค 8 ได้ธรรมมัชฌิมา ทางสายกลางคือ 9 เป็นโลกุตตรธรรม ตรงกลางหลังคามี เรือหงษ์ และฉัตร หมายถึง โลกุตตรธรรม หรือ นิพพาน ความสงบดับเย็นจากกิเลศตัณหา ด้านล่างมีรูปปั้นผางประทีป เปรียบเหมือนรังกาและกาเผือกนอนในรัง รูปพรหมสี่หน้านั่งอยู่บนหลังกา หมายถึง กำเนิดตำนานผางประทีป  นอกจากจะมีวิหารที่สวยงามแล้ว ยังมีพระพุทธรูปหินหยกขาว ปางปรินิพพานที่สวยงามอีกด้วย

 

 

วิหารพระโขงเขียว  สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2548 เป็นที่ประดิษฐานพระหยกเขียวซึ่งนำมาจากแม่น้ำโขง พระนามเต็มของ พระเขียว คือ พระพุทธอัญญรัตน มหานทีศรีหริภุญชัย ซึ่งเหมือนพระพุทธศีศากยโคดม องค์ปัจจุบัน และมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ด้านล่างพระโขงเขียว คือ พระพุทธเมตไตรจำลองมาจากพุทธคยาตอนที่พระพุทธเจ้าโคตรมะบรรลุธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

 

 

จุดที่ 10  โบราณสถาน กู่ช้าง กู่ม้า เป็นโบราณสถานที่ตั้งอยู่คู่กัน เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองอีกแห่งหนึ่งที่ชาวลำพูนให้ความเคารพนับถือ เมื่อต้องการ สมหวังในสิ่งใด ก็มักจะมา ขอพรกันที่นี่ เรียกได้ว่าเป็นทั้งโบราณสถานที่มีความสำคัญเชิงประวัติศาสตร์ และโบราณคดี ตลอดจนเป็น ที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ของคนในชุมชน ด้วยความเชื่อว่าเป็นสุสานช้างศึก – ม้าศึก คู่บารมีของพระนางจามเทวี

 

 

กู่ช้าง ตามตำนานเล่าว่าสร้างขึ้นเพื่อบรรจุซากพระยาช้าง ชื่อ ปู่ก่ำงาเขียว หมายถึงช้างสีคล้ำ งาสีเขียว เป็นช้างคู่บารมีของ พระนางจามเทวี ปฐมกษัตริย์แห่งนครหริภุญไชย ปู่ก่ำงาเขียวเป็นช้างที่มีฤทธิ์มาก เมื่อออกศึกสงคราม เพียงแค่ช้างหันหน้าไปทาง ศัตรู ก็ทำให้ศัตรูอ่อนแรงลงได้ หลังจากช้างปู่ก่ำงาเขียวล้มเมื่อวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 พระนางจามเทวีโปรดให้นำซากช้างมาฝังไว้ที่นี่ และเนื่องจากเมื่อยังมีชีวิตอยู่เป็นช้างที่มีอิทธิฤทธิ์วิเศษ หากงาช้างชี้ไปทางใด ก็จะทำให้เกิดภัยพิบัติและผู้คนล้มตาย พระนางจึงโปรด ให้สร้างเจดีย์ทรงสูงครอบไว้โดยให้ปลายงาชี้ขึ้นฟ้า กู่ช้าง เป็นเจดีย์ลักษณะพิเศษ ไม่ใช่เจดีย์ที่พบได้ทั่วไป เป็นเจดีย์ฐานเขียงกลม ซ้อนเหลื่อมกันขึ้นไปห้าชั้น รองรับฐานบัวคว่ำ องค์ระฆังเป็นทรงกลม แต่จะยืดสูงขึ้นไปกว่าปกติ ลักษณะคล้ายทรงกรวยก่อด้วยอิฐสูง ประมาณ 30 เมตร ยอดเจดีย์ไม่แหลมอย่างเจดีย์ทั่วไป แต่เป็นยอดตัดมีปล่องคล้ายบ่อน้ำด้านบน ลักษณะคล้าย เจดีย์บอบอคยีใน อาณาจักรพยู ทางตะวันตกเฉียงใต้ของพม่าและ เจดีย์ง๊ะจเวนะตาว ในเมืองพุกาม และเจดีย์บริวารรอบๆ เจดีย์มหาโพธิ์ที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย สันนิษฐานได้ว่ากู่ช้างได้รับอิทธิพลมาจากเจดีย์แบบพม่า

 

 

กู่ม้า ตั้งอยู่ด้านหลังกู่ช้าง เชื่อกันว่าเป็นที่บรรจุซากม้าทรงของพระเจ้ามหันตยศ พระราชโอรสของพระนางจามเทวี ฐานสี่เหลี่ยม องค์เจดีย์ทรงระฆังคว่ำ ส่วนยอดหักพังทลายลงไปแล้ว ด้านหน้าโบราณสถานกู่ช้างกู่ม้านี้ เทศบาลเมืองลำพูนได้ปรับปรุงให้เป็นสถานที่ พักผ่อนหย่อนใจของคนในชุมชน

 

ชาวลำพูนให้ความเคารพนับถือกู่ช้างมาก มีการสร้างศาลเจ้าพ่อกู่ช้างไว้ในทางทิศตะวันออกใกล้กับองค์เจดีย์ด้านหน้า ศาลเจ้าพ่อกู่ช้าง มีรูปปั้นจำลองของปู่ก่ำงาเขียว เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้มาสักการะ เชื่อกันว่าหากได้ลอดท้องพระยาช้างเชือกนี้ จะเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ประสบความสำเร็จในสิ่งที่ปรารถนา ในวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ของทุกปี จะมีงานรดน้ำดำหัว และบวงสรวงเจ้าพ่อ เพื่อขอขมาลาโทษ และขอพรให้ปกปักษ์รักษาประชาชนจากความทุกข์ทั้งปวง

 

 

จุดที่ 10  วัดพระยืน เดิมชื่อวัดอรัญมิการาม เป็นวัดป่าหนึ่งในวัดสี่มุมเมืองทิศตะวันออก มีพระเจดีย์ประธานเป็นทรงปราสาทมณฑป ที่สร้างเลียนแบบสถาปัตยกรรมพุกาม เช่น อานันทเจดีย์ เป็นการบูรณะใหม่ในสมัยเจ้าหลวงอินทยงยศโชติ เจ้าผู้ครองนครลำพูน นอกจากนี้ยังมีวิหารโถงหรือศาลาเก้าห้อง ศิลาจารึก อักษรไทยหลักแรกในภาคเหนือ ซึ่งกล่าวถึงพญากือนาได้อาราธนาพระสุมนเถระจากสุโขทัยมาเผยแพร่พระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ โดยให้พำนักที่วัดพระยืนก่อนที่จะไปจำพรรษาที่วัดสวนดอกและสร้างพระธาตุดอยสุเทพ

 

 

จุดที่ 11   วัดต้นแก้ว ในอดีตชื่อเชตวนาราม สมัยหริภุญไชยพบศิลาจารึกอักษรมอญโบราณระบุถึงชื่อของกษัตริย์ผู้มีนามว่า พญาสรรพสิทธิ์ ได้ทรงผนวชระหว่างครองราชย์และสร้างสถูป 3 องค์ในส่วนของวัดต้นแก้ว มีสิ่งที่น่าสนใจคือ พระเจดีย์ต้นก๊อ เป็นสถูปทรงกลมล้านนา พระพุทธรูปทรงเครื่องในวิหารโถง พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านชาวยอง โรงทอผ้าฝ้ายแบบโบราณ

 

 

ถึงแม้ลำพูนอาจไม่ใช่จุดหมายการท่องเที่ยวหลัก เมืองนี้อาจเป็นแค่เมืองผ่านไปเที่ยวเชียงใหม่  ขากลับเราอาจแวะเพียงแค่มาไหว้พระธาตุหริภุญชัย แต่แท้จริงแล้วในตัวเมืองลำพูนมีอะไรให้เราเที่ยวอีกมากมาย เป็นความชิคเก๋แบบเก่าแก่ที่น่าจะหาเวลาซักครึ่งวันนั่งรถรางเที่ยวชมบรรยากาศ แวะไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์  เยี่ยมชมสถานที่ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่อยู่คู่กับเมืองลำพูนมาช้านาน  บางทีลำพูนอาจไม่ได้มีแค่วัดพระธาตุหริภุชัย และวัดจามเทวี  ที่เรารู้จักและคุ้นเคยก็เป็นได้

 

DSC_3825

DSC_4007

DSC_4010

 

รวมที่พักเมืองลำพูน คลิ๊ก ที่พักลำพูน 

ผู้เขียน

นักเดินทางที่ชอบถ่ายภาพ อยากส่งต่อเรื่องราวของการท่องเที่ยว จากประสบการณ์ที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน

บทความที่เกี่ยวข้อง